​“การชำระเงิน” เรื่องไม่เล็กที่ธุรกิจมักมองข้าม: บริการตอบโจทย์ภาคธุรกิจบนระบบพร้อมเพย์ (ตอนที่ 2/2)

นางสาวสมิตา เอื้อฤดีพร
ฝ่ายนโยบายระบบการชาระเงิน

เมื่อฉบับที่แล้ว เราได้อธิบายถึงประโยชน์ของการที่ธุรกิจหันมารับชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถช่วยธุรกิจได้ทั้งในด้านลดต้นทุนและเพิ่มยอดขาย สำหรับฉบับนี้ เราจะมาแนะนาบริการต่อยอดบนระบบพร้อมเพย์ที่ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ภาคธุรกิจโดยเฉพาะ

“พร้อมเพย์” นอกจากจะพัฒนาขึ้นมาเพื่อให้ผู้ใช้งานที่เป็นภาคประชาชนสามารถรับ-จ่ายเงินได้สะดวก เข้าถึงบริการทางการเงินได้มากขึ้นแล้ว ระบบพร้อมเพย์ได้ถูกพัฒนาขึ้นมาโดยคำนึงถึงภาคธุรกิจด้วยเช่นกัน โดยในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวบริการชาระบิลข้ามธนาคาร และตามด้วยบริการเตือนเพื่อจ่าย (PayAlert) ซึ่งพร้อมให้บริการตั้งแต่เดือนมีนาคม 2561

บริการชำระบิลข้ามธนาคาร (Cross-bank Bill Payment): ปัญหาอย่างหนึ่งที่ภาคธุรกิจที่มีการรับชำระบิลมักพบเจอคือความยุ่งยากในการเปิดบัญชีหลายธนาคารเพื่อรองรับการชำระบิลของลูกค้า หากเปิดบัญชีกับธนาคารเพียง 1-2 ธนาคารก็อาจทำให้ลูกค้าไม่สะดวกในการชำระบิล แต่ยิ่งเปิดบัญชีหลายธนาคารมากเท่าไหร่ก็ยากต่อการทำบัญชีและบริหารจัดการเงินมากขึ้น เนื่องจากเงินที่ได้รับมานั้นกระจายอยู่หลายบัญชี บริการชำระบิลข้ามธนาคารจึงเป็นบริการที่เข้ามาขจัดปัญหาตรงจุดนี้ โดยทำให้ภาคธุรกิจสามารถรับชำระบิลได้จากหลากหลายธนาคารมากขึ้น ด้วยการเปิดบัญชีธนาคารเพียงธนาคารเดียว ทำให้เงินที่ได้รับชำระจากลูกค้ารวมอยู่ที่เดียว ช่วยให้มีความคล่องตัวในการบริหารจัดการเงินและกระทบยอดรายการชำระเงิน อีกทั้งยังทำให้โอกาสในการทำบัญชีผิดพลาดน้อยลง ในขณะที่ลูกค้าของธุรกิจก็ได้รับความสะดวก มีทางเลือกในการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้เพิ่มขึ้น โดยสามารถชำระเงินได้กับทุกธนาคารพาณิชย์ที่เข้าร่วมระบบ ตามช่องทางที่แต่ละธนาคารให้บริการ

บริการเตือนเพื่อจ่าย (PayAlert): เป็นบริการที่ช่วยให้ขั้นตอนการชำระเงินมีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยสร้างประสบการณ์ที่ดีในการชำระเงินแก่ลูกค้าจากความสะดวกรวดเร็ว โดยร้านค้าและภาคธุรกิจสามารถส่งข้อความแจ้งไปยังผู้ซื้อด้วยการระบุหมายเลขพร้อมเพย์ของผู้ซื้อ รวมถึงค่าสินค้าและบริการที่ต้องชำระ เมื่อผู้ซื้อได้รับข้อความแจ้งผ่านช่องทางของธนาคารที่ใช้บริการ เช่น แอปพลิเคชันของธนาคาร (Mobile Banking) ก็สามารถเลือกยืนยันการชาระเงินได้ ทำให้ร้านค้าและธุรกิจทราบในทันทีว่าลูกค้ารายใดชำระเงินมา จึงสะดวกในการจัดทำบัญชี อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายในการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ต่ำกว่าการรับชำระด้วยบัตร ยกตัวอย่างเช่น ในกรณีของพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์รายย่อย การเรียกเก็บเงินจากลูกค้ามักใช้วิธีส่งเลขที่บัญชีธนาคารของร้านไปให้ และรอให้ลูกค้าโอนเงินและส่งสลิปยืนยันกลับมา ซึ่งเป็นกระบวนการที่ค่อนข้างเสียเวลาทั้งในฝั่งลูกค้าที่ต้องไปโอนเงินผ่านช่องทางต่าง ๆ โดยกรอกจำนวนเงินและเลขที่บัญชีเอง ทางด้านร้านค้าก็จะตรวจสอบได้ยากเมื่อมีเงินเข้ามาในบัญชีหลายรายการพร้อมกัน นอกจากนี้ อาจมีปัญหาลูกค้าโอนเงินมาจำนวนไม่ตรงกับค่าสินค้าที่ต้องจ่าย ซึ่งจะทำให้เสียเวลาในการตรวจสอบมากขึ้น แต่หากใช้บริการเตือนเพื่อจ่ายก็จะสามารถตรวจสอบรายการชำระเงินได้ง่ายดาย เนื่องจากมีการแจ้งเตือนในทันทีว่ายอดเงินที่เข้ามานั้นมาจากลูกค้ารายใด เป็นค่าสินค้าอะไร หมดปัญหาเรื่องการโอนเงินผิดพลาด เนื่องจากร้านค้าเป็นคนระบุจาeนวนเงินที่เรียกเก็บเอง

ธุรกิจที่สนใจใช้บริการข้างต้นสามารถดูรายชื่อสถาบันการเงินที่ให้บริการชำระเงินตามใบแจ้งหนี้ข้ามธนาคาร และบริการเตือนเพื่อจ่ายได้ที่เว็บไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (https://www.bot.or.th/) ภายใต้หัวข้อ “ระบบ การชำระเงิน”

นอกจากบริการต่อยอดบนระบบพร้อมเพย์ทั้ง 2 บริการข้างต้นแล้ว อีกหนึ่งนวัตกรรมสำคัญอย่าง QR Code Payment หรือการให้บริการชำระเงินด้วย QR Code ที่ใช้มาตรฐานกลางเดียวกันผ่านระบบโครงสร้างพื้นฐานของพร้อมเพย์ก็เป็นอีกบริการที่สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้กับธุรกิจได้ โดยธุรกิจสามารถรับชำระเงินเข้าบัญชีธนาคารได้โดยตรง ไม่ต้องลงทุนติดตั้งเรื่องรับบัตร เหมาะกับร้านค้ารายย่อยทั่วไป เช่น ร้านอาหาร ร้านค้าตามตลาดนัด ฯลฯ ด้วยความสะดวกและต้นทุนต่ำของการรับชำระเงินผ่าน QR Code นี้ ทำให้การกระจายจุดรับชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์เข้าถึงทุกพื้นที่ได้มากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าปัจจุบันมีการติดตั้ง QR Code ที่ร้านค้ามากกว่าหนึ่งล้านแห่งแล้ว

บริการต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการของธุรกิจที่แตกต่างกันไป ทั้งธุรกิจขนาดใหญ่ไปจนถึงขนาดเล็ก ซึ่งธุรกิจสามารถเลือกใช้งานบริการที่เหมาะสมกับลักษณะธุรกิจของตัวเองได้ โดยสามารถขอคำแนะนาเพิ่มเติมได้จากธนาคารพาณิชย์ เพื่อเปรียบเทียบเงื่อนไขของการใช้บริการ และเลือกใช้บริการที่เหมาะสมกับ ธุรกิจตนเอง

แน่นอนว่าในอนาคตจะมีบริการ e-Payment รูปแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีก สำหรับผู้ที่ประกอบธุรกิจจึงควรติดตามความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับเทคโนโลยีการชำระเงินอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะไม่พลาดโอกาสในการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อธุรกิจของท่าน เพราะท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเช่นในปัจจุบัน “การชำระ เงิน” ย่อมจะมีบทบาทมากขึ้นต่อธุรกิจ และไม่ใช่เพียงเรื่องเล็ก ๆ อีกต่อไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย