​ทำความรู้จักกับ “แผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ” (ตอนที่ 2)

นางสาวชิดชนก อันโนนจารย์

ในตอนที่แล้ว ทุกท่านคงได้รู้จักกับภาพรวมของแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ที่เน้นการทยอยปลดล็อกและเปิดประตูให้นักลงทุนไทยสามารถออกไปลงทุนในต่างประเทศได้สะดวกขึ้น ผ่านการผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนต่างๆ ที่ยังคงเป็นอุปสรรคอยู่ ทีนี้...หลายคนอาจสงสัยต่อไปอีกว่า “แล้วประตูบานไหนบ้างที่จะเปิด”และ “การเปิดประตูเหล่านั้นจะให้ประโยชน์อะไรบ้าง” ในตอนที่ 2 นี้ จะขอเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดเกณฑ์การลงทุนที่แบงก์ชาติจะผ่อนคลาย เพื่อให้ทุกท่านเห็นภาพของแผนแม่บทฯ ได้อย่างชัดเจนขึ้นค่ะ

ปี 2555-2556 เป็นระยะแรกที่แผนแม่บทฯ มีการประกาศใช้ โดยหลักๆ จะเป็นการผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนต่างๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการลงทุนของนักลงทุนไทย และเพื่อให้นักลงทุนมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น ซึ่งแบงก์ชาติจะเริ่มเปิดประตูผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนใน 4 ช่องทางหลัก ได้แก่

(1) ผ่อนคลายให้บุคคลธรรมดาลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้โดยไม่จำกัดวงเงิน จากเดิมที่อนุญาตให้เฉพาะนิติบุคคลออกไปลงทุนโดยตรงในต่างประเทศได้อย่างเสรี เพื่อสร้างโอกาสการลงทุนผ่านการขยายตลาดและเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตระหว่างประเทศ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคเอกชน

(2) ผ่อนคลายการลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศ โดยอนุญาตให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย (SET) สามารถลงทุนในหลักทรัพย์ในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องผ่านโบรกเกอร์ อนุญาตให้นักลงทุนไทยระดมทุนโดยการออกตราสารสกุลเงินต่างประเทศได้ทั้งในไทยและต่างประเทศ จากเดิมที่สามารถออกตราสารดังกล่าวได้เฉพาะในต่างประเทศเท่านั้น และยกเลิกการจำกัดวงเงินผู้ลงทุนต่อรายเพื่อเพิ่มช่องทางในการลงทุนและกระจายความเสี่ยง และทำให้หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทยน่าสนใจมากขึ้น นอกจากนี้ เพื่อรองรับกับการรวมตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน (AEC) แบงก์ชาติยังผ่อนผันเกณฑ์การโอนเงินตราต่างประเทศสำหรับการลงทุนในหลักทรัพย์ผ่าน ASEAN Trading Link ซึ่งเป็นกระดานซื้อขายหลักทรัพย์กลางของอาเซียน เพื่อให้ตลาดทุนของภูมิภาคมีขนาดใหญ่และมีศักยภาพในการแข่งขันสูงขึ้น

(3) อนุญาตให้คนไทยที่ต้องใช้จ่ายเป็นเงินสกุลต่างประเทศ เช่น ผู้นำเข้า สามารถฝากเงินสกุลต่างประเทศ (Foreign Currency Deposit) กับสถาบันการเงินในไทยได้โดยไม่จำกัดวงเงินและระยะเวลา และอนุญาตให้คนไทยที่ลงทุนในต่างประเทศสามารถยกเลิกการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน (Unwind Hedging) ที่ตนเองเคยทำเอาไว้ได้อย่างเสรี เพื่อให้มีความคล่องตัวในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนมากขึ้น

(4) ผ่อนคลายมาตรการอื่นๆ เช่น อนุญาตให้ผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ (Non-resident) ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในไทยสามารถกู้เงินบาทจากสถาบันการเงินในไทยได้โดยตรง และขยายวงเงินในการทำธุรกิจMoney Changer/ Money Transfer เพื่อให้มีความคล่องตัวในการให้บริการแลกเปลี่ยนและโอนเงินตราต่างประเทศมากขึ้น เป็นต้น

การผ่อนคลายมาตรการต่างๆทั้งหมดที่กล่าวมานี้ คาดว่าจะทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น สามารถบริหารความเสี่ยงได้อย่างคล่องตัว และเสริมสร้างศักยภาพในการลงทุนจากความรู้และประสบการณ์ที่ได้จากการไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งจะนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพของนักลงทุนทั้งบุคคลธรรมดา นิติบุคคล นักลงทุนสถาบัน และตลาดทุนไทยเอง

ส่วนการผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในระยะต่อไปนั้น จะพิจารณาจากผลการประเมินการผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในระยะแรก (ปี 2555-2556) และความพร้อมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบข้อมูลที่ใช้ติดตามและกำกับดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย ความสอดคล้องกับการเปิดเสรีภาคสถาบันการเงิน ความรู้ทางการเงินของนักลงทุนไทย และเสถียรภาพของตลาดการเงินในประเทศ หากเห็นว่าไทยมีความพร้อมเพียงพอแล้วก็จะพิจารณาผ่อนคลายเกณฑ์อื่นๆ เพิ่มเติมต่อไป เช่น อาจอนุญาตให้คนไทยลงทุนและทำธุรกรรมในต่างประเทศได้สะดวกขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องผ่านสถาบันตัวกลางในประเทศ และมีมาตรการดูแลเงินทุนเท่าที่จำเป็นตามสถานการณ์ที่เหมาะสมในอนาคต

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย