​เหตุใดวิกฤตโลกร้อนจึงไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที?

เมื่อวันที่ 13 พ.ย. 64 เป็นการปิดฉากของการประชุม COP26 หรือชื่อเต็มมาจากคำว่า “Conference of the Parties” เป็นครั้งที่ 26 ของผู้นำโลกทั้งหลาย ซึ่งมาร่วมกันแก้ไขปัญหาที่ยิ่งใหญ่และทวีความรุนแรงกว่าปัญหาใด ๆ ทั้งปวงในโลก นั่นคือ วิกฤตโลกร้อน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งของการประชุมมีการผลักดันให้ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล โดยในนาทีสุดท้าย จีนและอินเดียได้ขอให้แก้ไขถ้อยคำในข้อตกลงว่าด้วยการใช้พลังงานถ่านหิน ซึ่งเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจกมากที่สุด จากเดิมคือคำว่า "ยุติการใช้" มาเป็นคำว่า "ลดการใช้" พลังงานถ่านหิน ทำให้นายอาล็อก ชาร์มา ประธานการประชุม กล่าวแสดงความเสียใจเป็นอย่างยิ่งต่อผลการประชุมดังกล่าว ขณะที่นายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เน้นย้ำว่าข้อตกลงนี้ยังไม่เพียงพอ และชี้ว่า "เรายังคงใกล้จะเปิดประตูแห่งภัยพิบัติทางสภาพอากาศ" คำถามสำคัญจึงเกิดขึ้นว่า รู้ทั้งรู้ว่าโลกกำลังเข้าสู่วิกฤตที่แย่ลงเรื่อย ๆ ซึ่งจะเป็นมหันตภัยที่มีผลกระทบต่อทุกคน ทุกประเทศในที่สุด แต่เหตุใดทุกประเทศจึงยังไม่พร้อมใจกันแก้ไขวิกฤตนี้อย่างจริงจังเสียที?

Earth melting into water

คำถามนี้ส่วนหนึ่งสามารถตอบได้ด้วยคำอธิบายทางเศรษฐศาสตร์ กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาโลกร้อนเป็นสินค้าสาธารณะ (public goods) ซึ่งศาสตราจารย์พอล แซมมวลสัน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลได้กล่าวถึงมานานแล้ว สินค้าสาธารณะ หมายถึง สินค้าที่เมื่อมีการบริโภคแล้ว ไม่กระทบต่อการบริโภคของคนอื่น ๆ (non-rival) และไม่สามารถกีดกันคนอื่น ๆ ไม่ให้เข้าถึงสินค้านั้นได้ (non-excludable) โดยในกรณีการแก้ไขปัญหาโลกร้อนนี้ถือเป็นสินค้าสาธารณะเนื่องจากทุกคนในโลกต่างได้รับประโยชน์จากการแก้ไขปัญหา ไม่ว่าคนผู้นั้นจะจ่ายเงินหรือยอมเสียประโยชน์ของตนเองเพื่อแก้ไขปัญหานี้หรือไม่ก็ตาม ซึ่งสถานการณ์นี้ย่อมทำให้เกิดผู้ที่ยินดีจะได้รับประโยชน์จากการแก้ไข โดยไม่ลงมือลงแรงทำอะไรสักอย่าง (free rider) โดยสามารถอธิบายได้กับทั้งในระดับประเทศหรือปัจเจกบุคคล ยกตัวอย่างเช่น คนที่เห็นว่าเพื่อนบ้านเลิกใช้ถุงพลาสติกก็รู้สึกชื่นชมยินดี แต่ตนเองกลับยังคงซื้อถุงพลาสติกใบใหม่ทุกครั้งเวลาไปซื้อของ โดยไม่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแต่อย่างใด

นอกจากนี้ ยังอาจอธิบายได้โดยใช้ “ทฤษฎีเกม (Game Theory)” (เป็นการใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่แสดงรูปแบบการตัดสินใจแต่ละแบบและผลประโยชน์ที่ได้รับจากแต่ละทางเลือก) กล่าวคือ การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนระดับนานาชาติมีลักษณะเป็นเหมือนกรณี “ความลำบากใจของนักโทษ (Prisoner’s Dilemma)” อธิบายได้ว่า การแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนคือ “เกม” ระหว่าง 2 ฝ่าย สมมติว่าเป็นกลุ่มประเทศ ก และกลุ่มประเทศ ข กำลังตกลงกันที่จะหยุดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหากร่วมมือกันจะเกิดผลประโยชน์ต่อโลกมากที่สุด โดยที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างมีกลยุทธ์ให้เลือกอยู่ 2 ทาง คือ 1) การร่วมมือในข้อตกลง ซึ่งมีต้นทุนส่วนเพิ่มเกิดขึ้น เช่น ต้องลงทุนในเทคโนโลยีกำจัดก๊าซ และ 2) การไม่ร่วมมือในข้อตกลงดังกล่าว ซึ่งไม่มีต้นทุนส่วนเพิ่มเกิดขึ้น ผลปรากฏว่า ทางเลือกที่ทั้ง 2 ฝ่ายต่างเลือกคือ การไม่ร่วมมือในข้อตกลง เนื่องจากฝ่ายที่ไม่ร่วมมือจะได้ประโยชน์มากขึ้น โดยไม่ต้องทำอะไร เพราะผลจากการลดก๊าซเรือนกระจกให้ผลดีต่อทั้ง 2 ฝ่าย ขณะที่ฝ่ายที่ยังคงให้ความร่วมมือในข้อตกลงจะเป็นฝ่ายเสียประโยชน์เพราะต้องลงทุนกำจัดก๊าซ ทำให้แต่ละฝ่ายต่างเลือกที่จะเป็น free rider ดังนั้น ในที่สุดแล้ว ทั้งสองฝ่ายจะพยายามไม่ร่วมมือทั้งคู่ ซึ่งจุดที่ละเมิดข้อตกลงดังกล่าวจะกลับกลายเป็นจุดดุลยภาพ (equilibrium) ทั้ง ๆ ที่การร่วมมือกันภายใต้ข้อตกลงอาจทำให้ผลรวมของผลประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ซึ่งจะเกิดกับโลกทั้งใบมีมากกว่าการไม่ร่วมมือกันก็ตาม

แล้วจะทำอย่างไรเมื่อผลประโยชน์ของทั้งสองไม่สามารถอยู่ในจุดดุลยภาพที่ร่วมมือกันได้? มีนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอีกเช่นกัน คือ ศาสตราจารย์วิลเลียม ดี. นอร์ดโฮส เสนอไว้ว่า จำเป็นต้องปรับโครงสร้างแรงจูงใจ เพื่อให้จุดดุลยภาพมาอยู่ที่การร่วมมือกัน โดยการออกแบบให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเป็นลักษณะสโมสร (คลับ) ซึ่งผู้เป็นสมาชิกสโมสรจะได้สิทธิพิเศษ (ในทฤษฎีเกมเรียกว่า carrot) จากการทำตามข้อตกลง และผู้ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกหรือยังไม่ได้ทำตามข้อตกลงก็จะมีแรงจูงใจอยากได้สิทธิพิเศษดังกล่าว ขณะเดียวกัน ต้องมีบทลงโทษ (stick) สำหรับสมาชิกผู้ไม่ทำตามข้อตกลง อย่างไรก็ตาม ยังเป็นเรื่องยากอย่างยิ่งที่จะทำให้เกิดได้จริงในทางปฏิบัติ ส่วนหนึ่งจากกลุ่มผลประโยชน์ที่ยังได้ประโยชน์จากการไม่ลดวิกฤตโลกร้อน และอีกส่วนหนึ่งตามที่คุณจิตทิพย์ มงคลชัยอรัญญา นักศึกษาปริญญาเอกด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน สหรัฐฯ วิเคราะห์ไว้ว่า เกิดจากอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกในสโมสรกับผู้ที่ต้องการเป็นสมาชิก และข้อเสียเปรียบของประเทศกำลังพัฒนา เช่น การไม่ได้รับเงินชดเชยหรือเงินช่วยเหลือ หากมีการเปลี่ยนผ่านเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว

ดังนั้น ผู้เขียนเห็นว่า การแก้ไขวิกฤตโลกร้อนให้ได้ผล นอกจากจะแก้ไขที่จิตสำนึกให้เกิดความตระหนักรู้ วางแผนและลงมือทำทั้งในระดับบุคคล ธุรกิจ และรัฐ ดังที่น้องเกรต้า ธันเบิร์ก นักเคลื่อนไหวลดโลกร้อนตัวน้อยได้ออกมาเรียกร้องนานแล้ว อีกส่วนสำคัญ ยังต้องเร่งแก้ไขที่โครงสร้างแรงจูงใจในระดับเวทีระหว่างประเทศ รวมถึงชดเชยความได้หรือเสียเปรียบที่ต่างกัน เพื่อให้เกิดความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมได้จริงด้วยครับ


ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 27 พฤศจิกายน 2564


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย