ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
นายกัมพล พรพัฒนไพศาลกุล
ภายใต้การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของทางเศรษฐกิจประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายบริบทใหม่ “New Normal” ที่เราเห็นเศรษฐกิจเติบโตในระดับต่ำในช่วง 2-3 ปีที่ ผ่านมา เป็นผลจากทั้งปัจจัย ภายนอกและภายในประเทศเราเอง ในท่ามกลางภาวะนี้เราสังเกตเห็นพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของภาคเศรษฐกิจหนึ่งที่น่าสนใจซึ่งคาดว่าจะเป็นความหวังของเศรษฐกิจไทยในอนาคต นั่นคือ การเติบโตอย่างต่อเนื่องของภาคบริการท่องเที่ยวที่มีบทบาทสำคัญในการเป็นแรงขับเคลื่อนเสริมช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยได้ในช่วงที่ภาคการส่งออกชะลอตัว บทความนี้จึงน่าเสนอให้ผู้อ่านเห็นถึง ความสำคัญของภาคบริการท่องเที่ยวที่มีต่อระบบเศรษฐกิจรวมถึงนำเสนอผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยวของไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ และนัยทางนโยบายของภาคบริการท่องเที่ยวในระยะต่อไป
ความสำคัญของภาคบริการท่องเที่ยวที่มีต่อระบบเศรษฐกิจไทย ในทางทฤษฎีกระบวนการ ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในด้านการผลิตจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่ประเทศที่พัฒนาที่มีระดับ การพัฒนาที่สูงขึ้นนั้น เราจะเห็นสัดส่วนการผลิต และการจ้างงานของภาคเกษตรปรับลดลง ขณะที่สัดส่วนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมและบริการมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากการศึกษาของ ADB (2013) ในประเด็น Asia’s Economic Transformation พบว่าประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ และ ไต้หวัน เป็น 5 ประเทศในเอเชียที่สามารถก้าวข้ามจากประเทศที่มีรายได้น้อยไปเป็นประเทศที่มีระดับการพัฒนาที่สูงขึ้น โดยพิจารณาจากระดับการผลิตและการจ้างงานของภาคบริการที่มีสัดส่วนสูงกว่าภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม โดยในช่วงปี 1975-1980 ไทยสามารถก้าวข้ามจากภาคบริการ รูปแบบ “First Wave” ที่มีการเติบโตสูงของภาค การค้า การโรงแรม และภัตตาคารซึ่งเกี่ยวเนื่องกับภาคบริการท่องเที่ยวเป็นหลัก ถึงแม้ปัจจุบัน ภาคการท่องเที่ยวของไทยเติบโตขึ้นมากขึ้น แต่ไทยยังไม่สามารถก้าวข้ามไปอยู่ในภาคบริการ รูปแบบ “Second Wave” ที่มีการเติบโตสูงของ ภาคบริการอื่นๆ ที่มีความซ้ำซ้อนและอาศัยเทคโนโลยีที่มากขึ้นเช่นภาคการเงินอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจให้เช่า อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันไทยจัดได้ว่าเป็นประเทศที่มีขนาดการผลิตของภาคบริการใหญ่กว่าภาคอื่นอยู่ที่ร้อยละ 44.3 ของ GDP สูงกว่าภาคอุตสาหกรรมเล็กน้อยซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 43.6 และภาคเกษตรร้อยละ 12.1 (ข้อมูลปี 2556)
หากเราใช้การวิเคราะห์ด้านการค้าระหว่างประเทศเช่นเดียวกับงานศึกษาของ François Vellas (2011) โดยใช้ข้อมูลดุลการชำระเงิน (Balance of Payments) ของไทย 20 ปี ตั้งแต่ปี 1993-2014 พบว่า นับตั้งแต่วิกฤตการเงินปี 1997 มูลค่าการส่งออกด้านบริการท่องเที่ยว (Balance of Trade in Tourism) เติบโตอย่างต่อเนื่องสะท้อนการเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญเสริมกับด้านการส่งออกสินค้า (Balance of Trade in Goods) (รูป 1) โดยไทยมีรายได้สุทธิจากการบริการด้านการท่องเที่ยวเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงถึง ร้อยละ ในช่วงปี 2010-2014 ซึ่งเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับในช่วงปี 1993 - 2005 และ ช่วงปี 2006 - 2009 ที่มีอัตราการเติบโตที่ร้อยละ 13.6 และร้อยละ 15.7 ตามลำดับ ส่วนสำคัญมาจากการที่ไทยมีความได้เปรียบในด้านการท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นด้านทำเลที่ตั้งที่เป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน หรือการมีความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติทั้งทะเล และภูเขา ศิลปวัฒนธรรม อาหารไทย รวมถึง เอกลักษณ์ความเป็นไทย โดยเฉพาะอัธยาศัยไมตรีของคนไทย ซึ่งล้วนเป็นเสน่ห์ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติส่งผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเติบโตมากจากกว่า 7 ล้านคนในปี 1997 เป็น ประมาณ 25 ล้านคนในปี 2014 เพิ่มขึ้นมากกว่า 3 เท่าตัวในช่วงกว่า 20 ปีและคาดว่าในปี 2015 นี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยถึง 29.4 ล้านคน
จากข้อมูลเบื้องตันมีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจ 2 ประการคือ 1) ในปี 2011 เป็นปีแรกที่รายได้ สุทธิจากการส่งออกด้านบริการท่องเที่ยวของไทยสูงกว่ารายได้สุทธิจากการส่งออกสินค้า สะท้อนถึงความเข้มแข็งของภาคบริการท่องเที่ยวช่วยพยุงเศรษฐกิจไทย และรองรับแรงกระแทกจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ดี) เราเห็นปรากฏการณ์ใหม่ “การเหิน (Take off) ของ ท่องเที่ยว” (มิ่งสรรพ์ และคณะ, 2014) ของการ เพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนอย่างก้าวกระโดดตั้งแต่ปลายปี 2012 ซึ่งส่วนหนึ่งมาจาก ความนิยมที่เป็นผลจากภาพยนตร์จีนเรื่อง “Lost in Thailand” ที่จะสามารถปลุกกระแสเพิ่มความต้องการท่องเที่ยวไทยให้สูงขึ้น
ในส่วนของผลการประเมินความสามารถในการแข่งขันของไทยเปรียบเทียบกับต่างประเทศ และนัยทางนโยบายของภาคบริการท่องเที่ยวในระยะข้างหน้าจะได้น่าเสนอในตอนที่ 2 ต่อไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย