เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2564 แบงก์ชาติได้จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปีทางออนไลน์ ในหัวข้อ Building a Resilient Thailand ผมจึงอยากนำไฮไลต์ของงานมาฝากคุณผู้อ่านกันในบทความนี้

หัวใจของงานสัมมนาครั้งนี้คือคำว่า “Resilience” (หรือ Resilient หากเป็นคำคุณศัพท์) หมายถึง “ความสามารถในการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก” คำนี้เหมาะกับเมืองไทยในช่วงนี้มาก เพราะเราได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิดมาปีกว่าแล้ว หากเราร่วมมือกันสร้างประเทศไทยให้ Resilient ในทุกมิติ ทุกภาคส่วนก็จะฟื้นตัวได้ในเวลาไม่นานครับ


หากย้อนดูแนวนโยบายของธนาคารกลางทั่วโลกในช่วง 20 กว่าปีที่ผ่านมา เรามักจะเห็นคำว่า “เสถียรภาพ” หรือ “Stability” อยู่บ่อยครั้ง เพราะหากเราไม่ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจให้ดี ปล่อยให้เศรษฐกิจร้อนแรงเกินไป จะทำให้เกิดฟองสบู่ราคาสินทรัพย์หรือฟองสบู่สินเชื่อที่ขยายตัวสูง และตามมาด้วยวิกฤตเศรษฐกิจหลังฟองสบู่แตกครั้งแล้วครั้งเล่า เช่น วิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 หรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ในปี 2551

ที่ผ่านมาธนาคารกลางจึงตั้งเป้าหมายหลักในการรักษาเสถียรภาพ เพื่อหลีกเลี่ยงวิกฤตเศรษฐกิจ หรือถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็พยายามให้เศรษฐกิจได้รับผลกระทบน้อยที่สุดและฟื้นตัวให้เร็วที่สุด ผ่านการใช้เครื่องมือหลายอย่างผสมผสานกัน เช่น หากเศรษฐกิจร้อนแรงเกินไปจนเงินเฟ้อสูง ก็ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อลดแรงกดดันด้าน

อุปสงค์ หากเกิดฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ก็ใช้มาตรการ LTV (loan to value ratio) เพื่อลดการเก็งกำไรในภาคอสังหาริมทรัพย์ หากต้องการให้สถาบันการเงินแข็งแรงและทนทานวิกฤตได้ดี ก็ใช้มาตรการ CCyB (countercyclical capital buffer) เพื่อให้สถาบันการเงินเก็บเงินกองทุนอย่างเพียงพอในช่วงเศรษฐกิจดี เพื่อนำไปรองรับหนี้เสียในช่วงเศรษฐกิจแย่ เป็นต้น

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ทั้งการระบาดของไวรัสโควิด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลก การเข้าสู่สังคมสูงวัย พัฒนาการของเทคโนโลยีดิจิทัลที่รวดเร็วรุนแรง และความคิดที่แตกต่างกันของคนหลากช่วงวัย การมุ่งรักษาเสถียรภาพเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอเสียแล้ว ขณะที่คุณสมบัติ Resilience หรือการฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากสิ่งที่มากระทบจะทวีความสำคัญมากขึ้น เพราะความเปลี่ยนแปลงที่รออยู่ข้างหน้าจะเกิดขึ้นแน่นอน เพียงแต่จะส่งผลกระทบมากหรือน้อยเท่านั้นเอง จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ธนาคารกลาง ภาครัฐ ภาคธุรกิจ ตลอดจนประชาชนทั่วไป ต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Resilience เพิ่มขึ้น

แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทย Resilient มากขึ้น? ผมชอบชื่อภาษาไทยของงานสัมมนาครั้งนี้ครับ คือ “สร้างภูมิคุ้มกัน ผลักดันเศรษฐกิจไทย” เพราะถ้าเราสร้างภูมิคุ้มกันได้จะมีข้อดี 3 อย่างเกิดขึ้น ได้แก่

1. มีโอกาสที่จะเลี่ยงการติดโรคได้ 2. แม้ติดโรค ก็จะมีอาการน้อย 3. แม้อาการหนัก ก็จะฟื้นตัวและหายได้เร็ว ดังนั้น เราจึงต้องเสริมสร้างภูมิคุ้มกันในทุกมิติ ทั้งด้านสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม

การสร้างภูมิคุ้มกันไม่ใช่เรื่องง่ายและทำได้ในเวลาสั้น ๆ แต่ต้องอาศัยความรู้ที่ถูกต้องและทำอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ยิ่งเป็นเรื่องภูมิคุ้มกันของระบบเศรษฐกิจและสังคมแล้ว ยิ่งซับซ้อนและต้องอาศัยแรงผลักดันจากทุกภาคส่วน นักวิจัยและผู้เสวนาทุกท่านในงานสัมมนาครั้งนี้ได้ระดมความคิดกันอย่างเต็มที่ มีข้อคิดและข้อเสนอเชิงนโยบายที่น่าสนใจจำนวนมาก ทุกท่านสามารถติดตามต่อได้ที่ Website ของแบงก์ชาติครับ

ช่วงที่เป็นไฮไลต์ของทุกปีคือการเสวนาในช่วงสุดท้าย หัวข้อปีนี้คือ “โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย: ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” มีผู้ร่วมเสวนา 3 ท่าน ได้แก่ คุณเทวินทร์ วงศ์วานิช อดีต CEO ของ ปตท. และกรรมการที่กำลังร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ฉบับที่ 13 คุณปฐมา จันทรักษ์ CEO หญิงของ IBM ประเทศไทย และคุณนครินทร์ วนกิจไพบูลย์ CEO ของสำนักข่าว the Standard

คุณเทวินทร์ เน้นว่า Climate change เป็นเรื่องที่สำคัญมาก การดำเนินธุรกิจและการดำเนินชีวิตต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ในระดับสากลได้นำเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้อย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เช่น Carbon credit ภาษีสิ่งแวดล้อม เกณฑ์มาตรฐานต่าง ๆ หากบริษัทไทยไม่ปรับตัวจะไม่สามารถค้าขายกับต่างประเทศเช่นสหภาพยุโรปได้ ด้านผู้บริโภคก็มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน หากทุกคนเลือกใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแม้จะมีราคาสูงกว่า ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญ สำหรับในระดับประเทศ คุณเทวินทร์เห็นว่าควรใช้โมเดล BCG หรือ Bio+Circular+Green Economy ได้แก่ เศรษฐกิจฐานชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งสอดคล้องกับจุดแข็งของไทยและแนวโน้มของโลกในอนาคต

คุณปฐมา แม้จะเป็นผู้บริหารจากบริษัทเทคโนโลยี แต่เน้นย้ำว่าเทคโนโลยีเป็นแค่ Enabler หรือปัจจัยสนับสนุนเท่านั้น ไม่ใช่คำตอบสุดท้าย “ภูมิคุ้มกันในการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลง” ต่างหากคือปัจจัยสำคัญที่สุด ซึ่งต้องเตรียมตัวล่วงหน้าตั้งแต่ก่อนเกิดวิกฤต ทั้งเรื่องคน ข้อมูล หรือการเงิน อย่างไรก็ดี วิกฤตในครั้งนี้จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันสำหรับวิกฤตในอนาคตได้ คุณปฐมาเล่าถึงการฝ่าวิกฤตใน 3 ขั้นตอน คือ 1. Crisis Management 2. Business Continuity และ 3. Recovery & Resilience โดยต้องทำให้ถึงขั้นตอนสุดท้ายเพื่อแก้ไขปัญหาที่มีอยู่เดิมและสามารถรองรับความท้าทายใหม่ ๆ ในอนาคตได้

คุณนครินทร์ อธิบายความแตกต่างทางความคิดของคนต่างช่วงวัยที่ชัดเจนขึ้นในสังคมไทย เรื่องนี้มีเหตุผลที่เข้าใจได้ เพราะคนแต่ละวัยเติบโตมาในโลกแต่ละยุคที่ต่างกันมาก อาทิ 1. วิธีมองโลก คนที่โตมาในยุคสงครามเย็น ยุคเศรษฐกิจฟองสบู่ ยุคอินเทอร์เน็ตและสมาร์ทโฟน ย่อมมองโลกไม่เหมือนกัน 2. รูปแบบการทำงาน เช่น งานประจำที่มีความมั่นคง กับงานอิสระแบบ Gig economy ที่ยืดหยุ่น 3. จังหวะการใช้ชีวิต คนรุ่นก่อนอาจอดทนรอนานได้ ขณะที่คนรุ่นใหม่ต้องการความรวดเร็ว 4. วิธีการสื่อสารและแสดงออก เช่น การเขียนจดหมายกับการสื่อสารผ่านสมาร์ทโฟนและโซเชียลมีเดีย และ 5. ค่านิยมที่แตกต่างกัน เช่น ชาตินิยม สิทธิเสรีภาพ สิ่งแวดล้อม ความหลากหลายทางเพศ เป็นต้น

แล้วเราจะสร้าง “ภูมิคุ้มกันหมู่” เพื่ออยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความขัดแย้งทางความคิดได้อย่างไร คุณเทวินทร์เห็นว่าคนแต่ละวัยมีข้อดีต่างกัน เช่น คนรุ่นเก่ามีประสบการณ์ คนรุ่นใหม่มีเทคโนโลยี เราต้องไม่มองจากมุมของตนเองฝ่ายเดียว ต้องมองจากมุมของส่วนรวมแบบ Outside-in ด้วย จึงจะทำงานเสริมกันไปสู่ความสำเร็จได้ คุณปฐมาบอกว่าบริษัทข้ามชาติทำงานกับคนหลายเชื้อชาติหลากความคิดในองค์กรเดียวกันได้ โดยยึดหลัก Respect คือ สื่อสารกันด้วยความเคารพ รับฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ด่วนตัดสินคนก่อน และพยายามเข้าใจเหตุผลที่คู่สนทนาคิดต่างออกไป คุณนครินทร์เห็นว่าเราต้องสร้าง Safe space หรือพื้นที่ปลอดภัยเพื่อสื่อสารกัน และต้องปลูกฝังทักษะในการสื่อสารและอยู่ร่วมกันระหว่างคนที่คิดต่างกันโดยไม่เกิดความแตกแยก

ความท้าทายในการสร้างไทยให้ Resilient นั้นมีไม่น้อย ทว่ามีความหวังที่จะบรรลุได้ เพราะไม่ว่าจะในครอบครัว ในองค์กร และในประเทศ ย่อมมีคนหลายช่วงวัย 3 - 4 Generation อาศัยอยู่ร่วมกันและทำงานร่วมกัน หากเราสามารถผสานพลังของทุกวัยผ่านการสื่อสารอย่างเข้าใจกัน ผมเชื่อแน่ว่าเราจะก้าวข้ามได้ทุกอุปสรรคครับ


ผู้เขียน :
นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์
ฝ่ายนโยบายการเงิน

คอลัมน์ "ร่วมด้วยช่วยคิด" นสพ. ประชาชาติธุรกิจ
วันที่ 27 ต.ค. 2564



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย