​รายได้และรายจ่ายที่เหลื่อมล้ำนำไปสู่กับดักทางการเงิน

ปัญหาความเหลื่อมล้ำของภาคครัวเรือนไทยนั้นมีมาโดยตลอดและทวีความรุนแรงขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนไม่เท่ากัน โดยเฉพาะครัวเรือนกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ดังนั้น บทความนี้จะนำเสนอการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ผ่านแบบสำรวจภาพย่อยรายครัวเรือน Socio-Economic Survey (SES) ตั้งแต่ปี 2560 – 2564 เพื่อชี้ให้เห็นว่ากับดักทางการเงินเริ่มต้นมาจากความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และรายจ่ายที่บั่นทอนฐานะการเงินของครัวเรือนให้เปราะบาง นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำด้านฐานะและเป็นกับดักทางการเงินในที่สุด



“ความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และรายจ่าย” นับเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ครัวเรือนเผชิญความเปราะบางทางการเงินอย่างไม่สิ้นสุด

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ครัวเรือนรายได้สูง (รายได้ >55,000 บาท/ครัวเรือน/เดือน) มีรายได้มากกว่าครัวเรือนรายได้น้อย (รายได้ <7,700 บาท/ครัวเรือน/เดือน) โดยเฉลี่ยเกือบ 20 เท่า นอกจากนี้ครัวเรือนรายได้น้อยยังมีความไม่สมดุลระหว่างรายจ่ายและรายได้ สะท้อนจากสัดส่วนรายจ่ายต่อรายได้ของครัวเรือนรายได้น้อยที่สูงถึง 2.5 เท่า ขณะที่กลุ่มรายได้สูงมีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่เพียง 0.7 เท่า (ภาพที่ 1) ยิ่งไปกว่านั้น จากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ทำให้ครัวเรือนรายได้น้อยมีความเปราะบางทางการเงินเพิ่มขึ้นจากรายได้ที่ลดลงอย่างฉับพลัน (income shock) และทำให้ความเหลื่อมล้ำระหว่างกลุ่มรายได้ยิ่งมากขึ้น เพราะ 80% ของครัวเรือนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ไม่ได้ทำงาน เป็นลูกจ้างอยู่ในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว และเป็นผู้ประกอบการธุรกิจส่วนตัว ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤติเศรษฐกิจ COVID-19


“ความเหลื่อมล้ำด้านฐานะการเงิน” จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจากความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายของกลุ่มรายได้น้อยที่ทำให้ต้องกู้มาใช้จ่าย ซึ่งบั่นทอนฐานะการเงินให้เหลื่อมล้ำยิ่งขึ้น



จากผลสำรวจฯ พบว่าครัวเรือนรายได้น้อยมีหนี้สิน 1.2 แสนบาท/ครัวเรือน ซึ่งกว่า 1 ใน 3 เป็นการกู้มาเพื่อบริโภค ซึ่งหนี้ประเภทนี้เป็นเงินที่ใช้แล้วหมดไปและมีภาระผ่อนต่อเดือนสูง (หนี้สั้น ดอกเบี้ยสูง) นอกจากนี้ ครัวเรือนรายได้น้อยยังมีหนี้เพื่อการเกษตรในสัดส่วนที่สูง ทำให้สัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (debt service ratio: DSR) สูงถึง 73% ซึ่งต่างจากกลุ่มรายได้สูงที่แม้จะมีหนี้สินสูงกว่าถึง 10 เท่า แต่เกือบครึ่งหนึ่งเป็นการกู้เพื่อสะสมความมั่งคั่ง อาทิ หนี้เพื่อที่อยู่อาศัย และมีภาระผ่อนต่อเดือนต่ำกว่า (หนี้ยาว ดอกเบี้ยต่ำ) ทำให้มี DSR อยู่ที่เพียง 24% เท่านั้น (ภาพที่ 2) ข้อเท็จจริงนี้ยิ่งสะท้อนปัญหาของครัวเรือนรายได้น้อยว่า นอกจากรายได้ไม่พอใช้จ่ายแล้วยังต้องแบ่งมาชำระหนี้รายเดือนในสัดส่วนที่สูง ในทางตรงกันข้าม ครัวเรือนรายได้สูงมีเงินเหลือจากการใช้จ่ายและยังผ่อนชำระหนี้ต่อเดือนต่ำกว่ามาก

ดังนั้น โอกาสในการสะสมความมั่งคั่งจึงตกอยู่เฉพาะในกลุ่มครัวเรือนรายได้สูง สะท้อนจากผลการสำรวจฯ ที่พบว่ากลุ่มรายได้สูงสุด 10% มีสินทรัพย์ทางการเงินคิดเป็นครึ่งหนึ่งของสินทรัพย์ทางการเงินทั้งหมดของครัวเรือนไทย โดยกระจายอยู่ในรูปของเงินสด เงินฝากและเงินลงทุนต่าง ๆ อาทิ ตราสารหนี้ ตราสารทุนและกองทุน ในขณะที่กลุ่มรายได้น้อยสุด 10% มีสินทรัพย์ทางการเงินคิดเป็นเพียง 2% เท่านั้น ซึ่งอยู่ในรูปเงินสดและเงินฝากเกือบทั้งหมด



“กลยุทธ์ 3 ปรับ” แนวทางเพื่อออกจากกับดักทางการเงิน

ความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายของกลุ่มรายได้น้อยซ้ำเติมให้ฐานะการเงินเปราะบางขึ้นและทำให้ไม่มีช่องทางในการสะสมความมั่งคั่ง อีกทั้งเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่รายได้ลดลงโดยไม่คาดคิด กลุ่มนี้จึงเปราะบางขึ้นและทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้นอีก เราจึงมักได้ยินเสมอว่ากลุ่มเปราะบางมักจะเป็นกลุ่มเดิม ๆ ที่ไม่สามารถออกจากกับดักนี้ได้ ผู้เขียนจึงได้รวบรวมแนวทางแก้ไขปัญหากับดักทางการเงินที่ได้มีการศึกษาในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

1. “ปรับปรุง” แนวทางการสร้างความมั่นคงให้รายได้และลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น ผ่านการสร้างรายได้เสริมและเพิ่มทักษะของตนเอง (Upskill/Reskill) ให้สอดคล้องกับความต้องการแรงงานภายใต้บริบทเศรษฐกิจใหม่ ควบคู่กับการตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกเพื่อช่วยปรับสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย หากอ้างอิงผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2563 ของ ธปท. พบว่าปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายของครัวเรือนยังเป็นหัวข้อที่ได้คะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ OECD ค่อนข้างมาก

2. “ปรับเปลี่ยน” ทัศนคติให้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีวินัยและความรู้ทางการเงิน โดยผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทยปี 2563 พบว่ามีครัวเรือนเกือบ 1 ใน 3 มีเงินออมเพื่อใช้จ่ายได้น้อยกว่า 3 เดือนหากต้องหยุดงานกะทันหัน และครัวเรือนอีก 1 ใน 3 ไม่ทราบสถานะเงินออมของตนเอง จึงจะเห็นได้ว่าครัวเรือนไทยเกือบ 2 ใน 3 อาจประสบปัญหาทางการเงินหากเกิด income shock เนื่องจากเงินออมไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่าย ดังนั้น การบริหารจัดการและเสริมวินัยทางการเงินที่ดีจึงมีส่วนสำคัญต่อการสร้างฐานะการเงินที่เข้มแข็ง รวมถึงการมีความรู้ความเข้าใจทางการเงิน อาทิ การเปรียบเทียบต้นทุนการกู้ยืมจากผู้ให้กู้ประเภทต่าง ๆ และการประเมินความจำเป็นในการกู้

3. “ปรับกระบวนทัพ” ในการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานภาครัฐและสถาบันการเงิน ที่ช่วยเหลือรายได้และซ่อมแซมฐานะการเงินอย่างยั่งยืน เช่น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เหมาะสม อาทิ มาตรการแก้หนี้ระยะยาวเพื่อแก้ไขหนี้เดิมและเติมเงินใหม่ และมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ ควบคู่กับแนวทางการปล่อยสินเชื่อที่เป็นธรรม นอกจากนี้ นโยบายเชิงโครงสร้างเป็นสิ่งที่ต้องผลักดันเพื่อสร้างโอกาส อาทิ นโยบายที่เพิ่มโอกาสทางการศึกษา การมีงานทำ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่าง ๆ

การออกจากกับดักทางการเงินต้องเริ่มจาก “กลยุทธ์ 3 ปรับ” เพื่อสร้างสมดุลระหว่างรายได้และรายจ่ายควบคู่กับการสร้างฐานะการเงิน เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อเหตุการณ์ไม่คาดฝัน โดยทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันตั้งแต่ระดับครัวเรือนเองไปจนถึงนโยบายระดับประเทศ


อ้างอิง:
ธนาคารแห่งประเทศไทย (2564), ผลการสำรวจทักษะทางการเงินของไทย (Financial Literacy) ปี 2563 และการดำเนินงานด้านการส่งเสริมความรู้ทางการเงินของ ธปท., สืบค้นเมื่อ 9 ก.ย. 2565, จากเว็บไซต์ https://www.bot.or.th/Thai/PressandSpeeches/Press/2021/Pages/n7764.aspx


ผู้เขียน :
นพล กองพาลี
ฝ่ายนโยบายการเงิน

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับที่ 20/2565 วันที่ 27 ต.ค. 2565




บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย