เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดแล้วจริงหรือ ถ้าฟื้นแล้ว ฟื้นแค่ไหน
หากไม่นับข้อมูลจีดีพีของ “สภาพัฒน์” แล้ว ข้อมูลหนึ่งที่ตอบคำถามข้างต้นได้ คือ ข้อมูลตลาดแรงงาน
ที่มา : สำนักงานสถิติแห่งชาติ
ย้อนกลับไปดูก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 อัตราการว่างงานที่ปรับฤดูกาลแล้วของไทยอยูที่ประมาณร้อยละ 1.0
หลังการระบาดของโควิด-19 อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ร้อยละ 2.2 ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 ก่อนที่จะปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ร้อยละ 1.4 ในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ชี้ถึงการฟื้นตัวที่ชัดเจนของตลาดแรงงาน แม้จะยังไม่กลับไปเท่าระดับก่อนโควิด-19
ถ้านับเป็นจำนวนคน จำนวนผู้ว่างงานที่ปรับฤดูกาลแล้วก่อนโควิด-19 อยู่ที่ประมาณสี่แสนคน ณ จุดสูงสุดในไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 อยู่ที่ประมาณเก้าแสนคน ก่อนที่จะกลับลงมาที่ห้าแสนกว่าคนในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดี ทั้งตัวเลขอัตราว่างงานและตัวเลขจำนวนผู้ว่างงาน สะท้อนผลของโควิด-19 ต่อตลาดแรงงานไทยที่น้อยกว่าความเป็นจริงมาก ในการวิเคราะห์ภาวะตลาดแรงงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เราจึงบวกตัวเลข “ผู้เสมือนว่างงาน” นิยามจากผู้มีงานทำ แต่ทำงานไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน เข้าไปด้วย โดยพบว่าในไตรมาส 2 ของปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงักจากการปิดเมือง จำนวนผู้เสมือนว่างงานที่ปรับฤดูกาลแล้วทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 5.7 ล้านคน
หลังจากการเปิดเมืองในไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 จำนวนผู้เสมือนว่างงานปรับลดลงชัดเจน แต่ยังก็ยังสูงกว่าระดับ 3 ล้านคนตลอดทั้งปี 2564
ข้อมูลที่น่ายินดี คือ ณ ไตรมาส 2 ของปีนี้ ตัวเลขผู้เสมือนว่างงานลงมาอยู่ที่ 2.4 ล้านคน ซึ่งแทบไม่แตกต่างกับตัวเลขก่อนการระบาดของโควิด-19 แล้ว
ที่ต้องติดตามต่อไป คือ หลังจากเศรษฐกิจไทยกลับไปเท่ากับระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 ซึ่งคาดว่าจะเป็นภายในสิ้นปีนี้ อัตราการว่างงานซึ่งคำนวณจากเฉพาะจำนวนผู้ว่างงานจะกลับไประดับก่อนโควิด-19 ที่ประมาณร้อยละ 1.0 ด้วยไหม โดยเฉพาะในภาวะปัจจุบัน ที่ธุรกิจหลายสาขา ทั้งส่งออก ก่อสร้าง และร้านอาหาร ออกข่าวว่ามีความต้องการแรงงานเป็นจำนวนมาก
ในข้อหลังนี้ ส่วนตัวผมเองยังไม่แน่ใจ ข้อมูลผู้ว่างงานสามารถจำแนกย่อยไปได้อีกเป็นผู้ว่างงานระยะสั้นและผู้ว่างงานระยะยาว (ว่างงานเกินกว่า 1 ปีขึ้นไป) ก่อนการระบาดของโควิด-19 จำนวนผู้ว่างงานระยะยาวที่ปรับฤดูกาลแล้วอยู่ระหว่าง 5-7 หมื่นคน ในปี 2563 ตัวเลขนี้ยังไม่ขยับมากนัก แต่ตั้งแต่ปี 2564 ตัวเลขนี้พุ่งขึ้นไปเป็นหลักแสน และยังไม่มีทีท่าจะลดลงอย่างมีนัย โดยล่าสุดในไตรมาส 2 ของปีนี้ อยู่ที่ 1.6 แสนคน ชี้ว่าคนกลุ่มหนึ่งซึ่งตกงานจากการระบาดของโควิด-19 ไม่สามารถหางานทำใหม่ได้ สวนทางกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ซึ่งอาจเป็นเพราะทักษะของพวกเขาไม่ตรงกับความต้องการของตลาดในปัจจุบันแล้ว
แต่หากจำนวนผู้ว่างงานระยะยาวเป็นแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่วิกฤตโควิด-19 ทิ้งไว้ถาวร ตลาดแรงงานไทยอาจจะมีความตึงตัวมากกว่าที่สะท้อนจากตัวเลขอัตราการว่างงาน ซึ่งอธิบายว่าทำไมเราจึงเห็นข่าวเชนร้านอาหารประกาศจ้างพนักงานถึง 600 บาทต่อวัน รวมถึงไม่เห็นแรงต้านของนายจ้างในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากนัก
ตัวเลขสำคัญตัวเลขหนึ่งที่ต่างประเทศเกาะติด แต่ในไทยไม่ค่อยดูกัน คือ ตัวเลขอัตราการขยายตัวของรายได้ต่อชั่วโมงของแรงงาน ซึ่งสามารถบ่งชี้แรงกดดันเงินเฟ้อที่มาจากค่าจ้างแรงงานได้ ข้อมูลล่าสุดพบว่า เริ่มเห็นการปรับขึ้นของรายได้ต่อชั่วโมงของแรงงานตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว อย่างไรก็ดี เทียบกับในอดีตแล้ว อัตราการเพิ่มที่เห็นถือว่ายังไม่ผิดปรกติ เพราะสอดรับกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จึงพอสรุปได้ว่า ค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มสูงมากในข่าวยังเป็นเฉพาะบางสาขาธุรกิจเท่านั้น
ที่มา สำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวณโดยธนาคารแห่งประเทศไทย
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำล่าสุดคงทำให้อัตราการขยายตัวของค่าจ้างแรงงานโดยรวมเพิ่มขึ้นไปอีก อย่างไรก็ดี การปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจหลังการระบาดของโควิด-19 เช่น การเติบโตของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี่ ทำให้ค่าจ้างแรงงานโดยรวมอ่อนไหวกับการปรับขึ้นของค่าจ้างขั้นต่ำน้อยลง ประกอบกับอัตราที่ปรับขึ้นล่าสุดของค่าจ้างขั้นต่ำที่เฉลี่ยร้อยละ 5 ถือว่าไม่สูงมากนัก
อย่างไรก็ตาม ในภาวะที่อัตราเงินเฟ้อโดยรวมยังอยู่ในระดับสูง สิ่งที่ต้องระวังคือเงินเฟ้อฝังรากในการเรียกร้องการปรับขึ้นค่าจ้างแรงงาน ควบคู่ไปกับการปรับขึ้นราคาสินค้าและบริการโดยผู้ประกอบการ ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อปีหน้าไม่ลงมามากตามที่ ธปท. คาด และเศรษฐกิจอาจจะประสบกับปัญหาเงินเฟ้อเรื้อรังได้ จึงยังไม่อาจวางใจได้ทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยามที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและตลาดแรงงานจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆครับ
ผู้เขียน :
ดร.ดอน นาครทรรพ