ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
แม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 เริ่มดีขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ แต่ยังคงวางใจต่อการกลับมาของการแพร่ระบาดซ้ำรอบสองไม่ได้ ดังเช่น ในกรุงปักกิ่งของจีนที่กลับมาพบผู้ติดเชื้อใหม่หลังจากที่ไม่ได้พบมานานเกือบสองเดือน หรือในประเทศนิวซีแลนด์ที่เพิ่งพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ หลังจากประกาศว่าประเทศปลอดจากโควิด 19 ไปได้ไม่นาน ทั้งสองประเทศที่มีการจัดการกับการระบาดของโรคได้เป็นอย่างดียังพบการกลับมาของโควิด 19 จึงมีทีท่าว่าวิฤตโควิด 19 ที่ทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่นี้คงไม่น่าจะจบลงได้ง่าย ๆ
"IEA ประเมินว่าในปีนี้ความต้องการใช้พลังงานของทั้งโลกจะหดตัวถึง 6% กลับทิศทางแนวโน้มการขยายตัวของการใช้พลังงานที่ดำเนินต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี และถือเป็นการหดตัวที่สูงสุดในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา "
อย่างที่ทุกคนทราบดี โควิด 19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในทั่วทุกมุมโลก การล็อกดาวน์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศสำคัญ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก จำนวนผู้ว่างงานเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ไม่เว้นแม้แต่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจจากผลกระทบของโควิด 19 ทุกท่านคงนึกไม่ถึงว่า นี่อาจเป็นช่วงเวลาที่ธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู เนื่องจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ถูกจำกัดอยู่แต่ในบ้านมากขึ้น ทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA (International Energy Agency) ประเมินว่าในปีนี้ความต้องการใช้พลังงานของทั้งโลกจะหดตัวถึง 6% กลับทิศทางแนวโน้มการขยายตัวของการใช้พลังงานที่ดำเนินต่อเนื่องมาตลอด 5 ปี และถือเป็นการหดตัวที่สูงสุดในรอบ 70 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนจะลดลงต่ำสุดทุบสถิติกว่าที่เคยเกิดขึ้นในทุกวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา บทความในวันนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านเปลี่ยนโหมดความคิดจากผลกระทบของโควิด 19 ที่มีต่อเศรษฐกิจ ไปสู่การแลกเปลี่ยนมุมมองทางด้านการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศโลก ก่อนที่จะชวนคิดถึงแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่จะสามารถรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการเติบโตของเศรษฐกิจไปพร้อม ๆ กัน
"ส่วนประเทศไทยนั้น ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์กลางเดือน มี.ค. ถึงปลาย เม.ย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่าค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่ามาตราฐานและลดลงไปกว่า 17%"
ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษที่คาดว่าจะลดลงอย่างมากเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ สืบเนื่องจากผลการล็อกดาวน์ในหลายประเทศสำคัญทางเศรษฐกิจทั่วโลก อาทิ เมืองอู่ฮั่นในจีน เมืองมิลานของประเทศอิตาลี กรุงโซลในประเทศเกาหลีใต้ หรืออินเดียที่ครองอับดับหนึ่งในฐานะประเทศที่มีจำนวนเมืองมีมลพิษมากที่สุดของโลก มลพิษที่ลดลงมากในช่วงล็อกดาวน์ส่งผลชัดเจนจนสามารถมองเห็นยอดเขาหิมาลัยจากระยะทาง 200 กิโลเมตรได้เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ส่วนประเทศไทยนั้น ในช่วงมาตรการล็อกดาวน์กลางเดือน มี.ค. ถึงปลาย เม.ย กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชี้ว่าค่าเฉลี่ยฝุ่นละออง PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ในเกณฑ์ต่ำกว่าค่ามาตราฐานและลดลงไปกว่า 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งปกติแล้วในช่วงเดือน ธ.ค.-มี.ค. ของทุกปีย้อนหลังตั้งแต่ ปี 2554 ค่าเฉลี่ยฝุ่นพิษ PM2.5 ในกรุงเทพฯ เกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นด้วย
หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรค ส่วนสำคัญที่ทำให้สภาพอากาศดีขึ้นนั้นเกิดจากการเดินทางที่ลดลงอย่างมีนัย ทั้งทางบกและอากาศ IEA ระบุว่าการขนส่งทางถนนลดลงถึง 50-75 % ในเมืองที่มีการล็อกดาวน์ โดยช่วงสิ้นเดือน มี.ค. กิจกรรมขนส่งทางถนนทั่วโลกลดลงไปถึง 50% เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน เช่นเดียวกับการจราจรทางอากาศ ที่สายการบินทั่วโลกพร้อมใจลดเที่ยวบินลง จากรายงานของ EUROCONTROL ซึ่งเป็นหน่วยงานผู้ให้บริการการเดินอากาศให้กลุ่มประเทศยุโรป ยุโรปได้ลดเที่ยวบินลงราว 80% ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน มี.ค. และยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน ถนนในเมืองใหญ่ที่แทบจะไม่มีรถสัญจรไปมา หรือเครื่องบินที่จอดนิ่งเรียงรายบนรันเวย์ คงเป็นภาพที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่งหากไม่มีสถานการณ์โรคระบาดที่รุนแรงเฉกเช่นครั้งนี้
"การเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง ควรเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบในระยะยาวเท่านั้น"
เมื่อลองเปิดใจมองในหลายมุม คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการล็อกดาวน์นั้นถือเป็นต้นทุนที่สูงยิ่งในการแลกมาด้วยสภาพอากาศและภาวะโลกร้อนที่ปรับดีขึ้น หลายท่านได้ออกมาเตือนว่าการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมที่แท้จริง ควรเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตและการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบในระยะยาวเท่านั้น หาใช่การเกิดขึ้นเพียงชั่วคราวในระยะเวลาการล็อกดาวน์ก่อนจะกลับสู่การใช้ชีวิตด้วยพฤติกรรมในรูปแบบเดิม นอกจากนี้เมื่อเราอยู่บ้านมากขึ้น พฤติกรรมการสั่งซื้ออาหารและสิ่งอุปโภคบริโภคผ่านทางออนไลน์ ส่งผลให้ปริมาณขยะโดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ลดลงไปจากการรณรงค์และการห้ามใช้ในช่วงก่อนหน้ากลับมามีปริมาณเพิ่มมากขึ้น
อย่างไรก็ดี มุมที่เป็นด้านบวกคงกล่าวได้ว่าปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ลดลงในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาดเป็นสิ่งดีที่เกิดขึ้นแล้วที่มีต่อธรรมชาติและสภาพอากาศ แม้จะเป็นเพียงแค่ชั่วระยะเวลาหนึ่งซึ่งอาจจะไม่ได้ยั่งยืน และต้นเหตุมาจากไวรัสที่ส่งผลร้ายต่อชีวิตของประชาชนและเศรษฐกิจอย่างประเมินไม่ได้ หากแต่ในมุมมองด้านบวกยังทำให้เราเห็นทางออกของการลดภาวะโลกร้อน จากการควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สามารถเกิดขึ้นได้ภายใต้การกำหนดนโยบายของภาครัฐ และที่ขาดไม่ได้คือความร่วมมือของประชาชนและภาครัฐจากนานาประเทศทั่วโลก เช่นเดียวกับที่ทุกประเทศพร้อมใจกันปรับพฤติกรรมไปในรูปแบบเดียวกันเพื่อป้องกันการระบาดของโควิด 19
อาจจะเริ่มง่าย ๆ ด้วยการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานมาทำงานที่บ้านมากขึ้นหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 สิ้นสุดลง เพื่อช่วยลดการเดินทางที่ไม่จำเป็น ซึ่งแม้พนักงานจะทำงานที่บ้านแต่งานที่ได้อาจไม่ด้อยลง ซ้ำยังมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยในบางกรณี หรือ ปรับเปลี่ยนการใช้วัสดุจากธรรมชาติมากขึ้นในการบรรจุภัณฑ์หีบห่อต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกลงได้ แม้จะยังคงสั่งอาหารหรือของใช้ทางออนไลน์มากขึ้นก็ตาม ส่วนภาครัฐเองก็มีหน้าที่ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งแม้จะเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มทุนสำหรับเอกชนแต่ละราย แต่ในภาพรวมแล้วมีความจำเป็นกับสังคมอย่างยิ่งยวด ทั้งนี้ การลงทุนดังกล่าวอาจช่วยสร้างงานสร้างอาชีพได้อีกเป็นจำนวนมากรองรับผู้ว่างงานในปัจจุบัน และยังสร้างรากฐานในการรักษาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้อีกด้วย จึงเป็นความท้าทายของประชาชนและภาครัฐทั่วโลกที่จะต้องร่วมมือกันปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เรายังมีโลกที่จะใช้ชีวิตต่อไปได้ พร้อม ๆ กับการเติบโตอย่างเต็มศักยภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>>