วันนี้ ผมจะขอเขียนเรื่องสาธารณสุขเยอะหน่อย เนื่องจากวิกฤตโควิด-19 นี้ เป็นทั้งวิกฤตเศรษฐกิจ และวิกฤตสาธารณสุข ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไปพร้อมๆกัน

ผมต้องขอออกตัวก่อนว่า ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุข อาศัยว่าจบปริญญาตรีสาขาชีวเคมีทำให้พอมีพื้นเรื่องไวรัสวิทยาอยู่บ้าง กอปรกับเคยเรียนแพทย์ที่จุฬาฯอยู่สามเดือน เลยพอมีเพื่อนฝูง และรุ่นพี่รุ่นน้องในวงการสาธารณสุขให้ถามไถ่ได้

ถามว่า รู้สึกอย่างไรกับเป้าหมายการเปิดประเทศใน 120 วันของรัฐบาล โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่าในการบริหารอะไรก็ตาม การวางเป้าหมายเป็นสิ่งที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป้าหมายที่ตั้งไว้ มีความชัดเจนและท้าทาย

Asian couple happy tourists to travel wearing mask to protect from Covid-19 on they holidays and holding travel map and pointing in Wat Phra Kaew Temple in Bangkok, Thailand

จากพัฒนาการของการระบาดล่าสุด ต้องบอกว่าเป้าหมาย 120 วัน เป็นเป้าหมายที่ไม่ท้าทายธรรมดา แต่เป็นเป้าหมายที่ท้าทายมาก เชื้อไวรัสโควิด-19 มีความสามารถในการกลายพันธุ์เพื่อการอยู่รอดสูง ตอนนี้สายพันธุ์ที่มีภูมิต่อวัคซีนสูงสุด คือ สายพันธุ์เดลต้า ซึ่งล่าสุดเริ่มมีข่าวสายพันธุ์เดลต้าพลัส ถ้าอีก 100 กว่าวันข้างหน้า จะมี เดลต้าพลัส พลัส พลัส ก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้

ถ้าครบเวลา 120 วันแล้ว มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใดก็ตาม ที่เรายังไม่สามารถจัดการด้วยวัคซีนที่มีอยู่ในโลกตอนนี้ การเลื่อนการเปิดประเทศออกไปเป็นมาตรการที่เหมาะสม และผมเชื่อว่าคงไม่มีใครตำหนิรัฐบาลได้ เพราะวิวัฒนาการของไวรัสเป็นเรื่องที่เราควบคุมไม่ได้ และการฝืนเปิดประเทศในสภาพที่เราไม่พร้อม จะเป็นหายนะอย่างแน่นอน ทั้งด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจ แต่ก็จะเป็นเรื่องที่น่าผิดหวังอย่างมาก หากเราเปิดประเทศตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ไม่ได้ จากการบริหารจัดการของเราเอง

ก่อนอื่น ต้องทำความเข้าใจว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 ไม่เหมือนกับเชื้อไวรัส SARS ที่ระบาดไม่นานแล้วอยู่ๆก็หายไป เพราะไวรัส SARS ติดแล้วตายเร็วมาก ไม่มีเวลาแพร่ต่อ ทำให้เราสามารถฆ่าตัดตอนมันได้เร็ว แต่ไวรัสโควิด-19 จะคล้ายกับไวรัสไข้หวัดใหญ่ที่มีวิวัฒนาการไปเรื่อยๆ ปราบได้ไม่หมด แพร่กระจายได้ง่าย และยังมีคนตายจากไข้หวัดใหญ่ทุกปี แต่เราสามารถควบคุมการระบาดของไข้หวัดใหญ่ในแต่ละปีได้ ด้วยการกระจายวัคซีนที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชากรส่วนใหญ่ ซึ่งถึงแม้หลังฉีดวัคซีนแล้วจะยังติดเชื้อได้ แต่อาการส่วนใหญ่จะไม่รุนแรง ดังนั้น การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่จึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการเปิดประเทศ และการกลับมาเป็นปรกติของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ

การที่ประเทศจะมีภูมิคุ้มกันหมู่ ขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลัก ได้แก่ วัคซีนที่เรามีจะต้องมีประสิทธิผลในการลดการติดเชื้อจากสายพันธุ์ที่ระบาดในขณะนั้นได้สูงในระดับหนึ่ง และจำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีนจะต้องมีมากพอ สองสิ่งนี้ต้องไปด้วยกัน ฉีดวัคซีนมากแต่เป็นวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อได้น้อย หรือวัคซีนดีแต่มีคนได้รับน้อย ล้วนไม่มีประโยชน์

ในปัจจัยแรก เรื่องวัคซีน ประสบการณ์ล่าสุดในหลายๆประเทศชี้ว่าสายพันธุ์เดลต้าจะกลายเป็นสายพันธุ์หลักที่ระบาดทั่วโลกในไม่ช้า การจัดหาวัคซีนในระยะต่อไปจึงควรเน้นวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้งเทคโนโลยี mRNA เช่น วัคซีนของ Pfizer และ Moderna และเทคโนโลยีไวรัสเวกเตอร์ เช่น วัคซีนของ AstraZeneca ที่เราสามารถผลิตได้เอง ซึ่งมีข้อมูลบ่งชี้ว่ามีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์เดลต้าสูงกว่าวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีเชื้อตาย เช่น Sinovac และ Sinopharm ซึ่งจริงๆวัคซีนสองชนิดหลังไม่ถึงกับป้องกันการติดเชื้อไม่ได้ทีเดียว และมีข้อดีที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่า เพียงแต่ในหลักการของการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ วัคซีนส่วนใหญ่ต้องเป็นวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงในการลดการติดเชื้อ

ในปัจจัยที่สอง คือ จำนวนคนที่ต้องได้รับวัคซีนก่อนการเปิดประเทศ ซึ่งตัวเลขเป้าหมายที่ใช้กันตอนนี้ คือ 50 ล้านคน (คิดจากเป้าหมายการกระจายวัคซีน 100 ล้านโดส และฉีด 2 โดสต่อ 1 คน) ภายในสิ้นปี ทุกเช้า ผมฟังผู้ประกาศข่าวรายงานจำนวนวัคซีนที่ต้องฉีดต่อวัน ว่า ถ้าจะให้ได้ตามเป้าข้างต้น ล่าสุดต้องฉีดประมาณ 4.5 แสนโดสต่อวัน และตัวเลขนี้เพิ่มขึ้นทุกวัน เพราะหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาฉีดต่อวันได้น้อยกว่านี้

ถ้าพิจารณาจากสถิติการฉีดในช่วงต้นเดือนมิถุนายน ผมคิดว่าเราสามารถฉีดวัคซีนได้มากกว่าวันละ 5 แสนโดสได้สบาย ปัญหาในช่วงนี้ คือ ปริมาณวัคซีนมีไม่เพียงพอ การเร่งทั้งการนำเข้าและการผลิตในประเทศโดยเร็วจึงต้องเป็นมาตรการเร่งด่วนอันดับหนึ่ง

เมื่อมีวัคซีนเพียงพอแล้ว ในระยะต่อไป อุปสรรคของการจะฉีดให้ได้ตามเป้าจะเปลี่ยนไปเป็นการที่คนกลุ่มหนึ่งจะเลือกที่จะไม่รับฉีดวัคซีน ประสบการณ์ในหลายๆ ประเทศชี้ว่า หลังจากมีประชากรรับวัคซีนไปแล้วจำนวนหนึ่ง จำนวนท้ายๆ จะเพิ่มขึ้นยากมาก จึงจำเป็นต้องมีมาตรการจูงใจให้คนมาฉีดวัคซีนเพิ่ม มิฉะนั้น ก็จะไม่มีทางสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ได้

ตัวอย่างเช่น ในประเทศสหรัฐอเมริกา มีการแจกเบียร์ฟรีให้ผู้ที่มาฉีดวัคซีน ที่บ้านเรา หลายสถานประกอบการก็มีโปรโมชั่นสำหรับคนที่ได้รับวัคซีนแล้ว แต่ผมคิดว่าในระยะต่อไป ต้องมีการเพิ่มแรงจูงใจจากภาครัฐด้วย เช่น หลายรัฐในสหรัฐฯ มีสลากกินแบ่งล๊อตโต้พิเศษเฉพาะผู้ที่ฉีดวัคซีน ซึ่งอาจจะนำมาปรับใช้กับไทยได้ดี เพราะน่าจะถูกกับจริตประชาชน โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยและผู้มีถิ่นฐานในต่างจังหวัด ซึ่งอาจมีความลังเลที่จะฉีดวัคซีนมากกว่านักธุรกิจ และคนกรุงเทพฯ

ที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น เป็นเรื่องของวัคซีน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญเป็นลำดับหนึ่ง แต่การจะควบคุมการระบาดให้ได้ผล จำเป็นต้องมีระบบการตรวจ การติดตามผู้สัมผัส และการกักตัวผู้ป่วยที่มีประสิทธิภาพควบคู่ไปด้วย ในเรื่องหลังนี้ ผู้เชี่ยวชาญหลายท่านเห็นว่ารัฐบาลสามารถเพิ่มความเข้มข้นของการตรวจได้มากขึ้นกว่านี้มาก รวมถึงการทดสอบแบบรวดเร็ว (Rapid test) เพื่อให้มีข้อมูลที่ถูกต้องและรวดเร็วในการทำนโยบาย

ประเทศสิงคโปร์เป็นตัวอย่างที่ดี เมื่อต้นเดือนมิถุนายน นายกรัฐมนตรี ลี เซียนลุง ออกมาบอกชาวสิงคโปร์ว่า ในระยะต่อไป การตรวจโควิด-19 อย่างสม่ำเสมอในสถานศึกษา สถานประกอบการ และชุมชน รวมถึงการเข้าถึงการทดสอบด้วยตนเอง จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวสิงคโปร์ โดยเขาให้ความสำคัญกับชุดทดสอบแบบรวดเร็วเป็นอย่างมาก เนื่องจากเขามองว่าเชื้อโควิด-19 จะไม่มีวันหายไป จึงจำเป็นต้องมีการทดสอบเบื้องต้นที่ไม่แพงสำหรับคนหมู่มาก

โดยสรุป ผมยังเชื่อว่า ถ้าเราไม่โชคร้ายจนเกินไป เช่น เจอเดลต้าพลัส พลัส พลัส เป้าหมาย 120 วันยังอยู่ในวิสัยที่ไปถึงได้ หากเรามีการบริหารจัดการที่ดี จึงขอเป็นหนึ่งในกำลังใจให้รัฐบาลประสบความสำเร็จในการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้กับประชากรในประเทศ เพื่อที่จะสามารถเปิดประเทศได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ครับ


ผู้เขียน :
ดร.ดอน นาครทรรพ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย