​การเดินทางครั้งใหม่บนเส้นทางเศรษฐกิจชุมชนของแรงงานคืนถิ่น

การแพร่ระบาดโควิด 19 ที่ยืดเยื้อ ทำให้แรงงานตกงานจำนวนมากจนนำไปสู่กระแสการย้ายกลับภูมิลำเนาเดิมของประชากรวัยทำงานของไทยจำนวนมาก และเกิดการเปลี่ยนแปลงบริบทในสังคมและโครงสร้างเศรษฐกิจไทย แต่ในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาส บทความนี้นำเสนอตัวอย่างการปรับตัวและโอกาสที่มาพร้อมกับการย้ายถิ่น


ส่องโครงสร้างประชากรคืนถิ่นปี 2564

ข้อมูลการเคลื่อนย้ายแรงงานสุทธิจากระบบโทรศัพท์มือถือ และการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 มีประชากรคืนถิ่นจำนวน 1.7 ล้านคน สูงกว่าช่วงก่อนโควิด19 ถึง 3.7 เท่า โดยส่วนใหญ่ย้ายออกจากกรุงเทพฯ ชลบุรี และภูเก็ต ไปสู่หลายจังหวัดทั่วทุกภูมิภาค โดยเฉพาะนครราชสีมา บุรีรัมย์ และตาก ในจำนวนนี้มีประมาณ 6 แสนคนที่มีอายุระหว่าง 15-29 ปี ซึ่งเป็นวัยที่สามารถปรับตัวและเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ได้ ขณะที่แรงงานคืนถิ่นส่วนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะอยู่นานกว่าปกติหรืออย่างถาวร เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ไม่แน่นอน และค่าครองชีพในเขตเมืองที่ปรับสูงขึ้น ปัจจัยเหล่านี้ทำให้แรงงานเลือกที่จะหางานและสร้างอาชีพในบ้านเกิดต่อไปอีกระยะหนึ่ง สะท้อนจากภาคธุรกิจหาแรงงานยากขึ้น และยอดขายอสังหาฯ ในพื้นที่ต่างจังหวัดที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่การประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ในปี 2563


พลิกวิกฤตเป็นโอกาส จากแนวคิดที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลง

จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่เป็นแรงงานคืนถิ่น พบว่า แรงงานคืนถิ่นส่วนใหญ่เปลี่ยนมาประกอบอาชีพ 3 กลุ่มที่สำคัญ

(1) กลุ่มแรงงานที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี หันมาค้าขายบนช่องทางออนไลน์

ตัวอย่างที่คุ้นเคยกันดี คือ “การสร้างตัวตนในรูปแบบ Youtuber” ที่เป็นที่นิยมของกลุ่มคนอายุน้อยและมีทักษะด้าน Digital Marketing ซึ่งนอกจากจะเป็นช่องทางสร้างรายได้แล้ว ยังเป็นช่องทางในการนำเสนอสินค้า วัตถุดิบท้องถิ่นและสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของชุมชนอีกด้วย อีกหนึ่งอาชีพยอดฮิตในยุคโควิด19 คือ “เจ้าของร้านค้าออนไลน์” ที่นำสินค้าชุมชนและคิดค้นผลิตภัณฑ์โดยใช้วัตถุดิบท้องถิ่นออกมาจำหน่าย ด้วยการ Live สด ซึ่งสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น สอดคล้องกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการขนส่งแบบ Express ที่มีการลงทุนคลังสินค้าขนาดเล็กตามพื้นที่เมืองรอง เพื่อรองรับธุรกรรมขนส่งที่เร่งตัวขึ้นต่อเนื่อง


(2) กลุ่มแรงงานวัยกลางคนที่พอมีทุนทรัพย์ ส่วนใหญ่เลือกผันตัวมาเป็นผู้ประกอบการ

โดยอาศัยความรู้และทักษะจากประสบการณ์ทำงานในพื้นที่เศรษฐกิจและแหล่งท่องเที่ยว จึงนิยมเปิดร้านอาหาร หรือ Café ขนาดเล็กเช่นร้านกาแฟ เน้นสร้างจุดขายที่โดดเด่นในเมืองรอง เพื่อสร้างแลนด์มาร์คกลางชุมชนและดึงดูดกลุ่มลูกค้าต่างถิ่นในช่วงที่การท่องเที่ยวเมืองรองได้รับความนิยมสูง

(3) กลุ่มแรงงานที่ตัดสินใจกลับไปประกอบอาชีพเกษตรกรรม

เนื่องจากมีที่ดินหรือเคยทำการเกษตรมาก่อน ซึ่งมีบางส่วนนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต


นโยบายส่งเสริม “เศรษฐกิจชุมชน” นำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน

ตัวแปรสำคัญที่จะช่วยให้แรงงานคืนถิ่นประสบความสำเร็จในการเดินทางครั้งใหม่ และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน คงหนีไม่พ้นความร่วมมือจากภาคเอกชน และนโยบายจากภาครัฐ ผู้เขียนขอเสนอแนวทางปรับโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับกระแสการกลับคืนถิ่นและส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน ดังต่อไปนี้

(1) การส่งเสริมศักยภาพแรงงานคืนถิ่น ผ่านความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน การประกอบอาชีพใหม่ต้องมีการพัฒนาทักษะ และเสริมประสิทธิภาพในการประกอบอาชีพ โดยต้องมีทั้งภาครัฐและเอกชนเป็น “พี่เลี้ยง” คอยช่วยประคับประคอง สำหรับตัวอย่างที่เห็นได้ คือ ธุรกิจค้าปลีกรายใหญ่เข้ามาช่วยสร้างศักยภาพและพัฒนาระบบการจัดการสินค้าของร้านค้ารายย่อย แนะนำการบริหารต้นทุนและเรียนรู้รายรับ-รายจ่ายผ่านระบบการจัดทำบัญชีพื้นฐาน รวมถึงช่วยขยายฐานลูกค้าผ่านการขายออนไลน์ ทำให้ร้านค้าปลีกชุมชนเข้มแข็งขึ้น สำหรับด้านการเกษตรการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ก็จะมีส่วนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตได้มากขึ้น


นอกจากนี้ ภายใต้นโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทย (Financial Landscape) ของ ธปท. ที่ส่งเสริมให้ภาคการเงินสามารถนำข้อมูลอื่นๆ เช่น ข้อมูลพฤติกรรมการทำธุรกรรมด้วยช่องทางดิจิทัลเพื่อประกอบการวิเคราะห์การให้สินเชื่อ และกำหนดอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสมกับความเสี่ยง ซึ่งจะมีส่วนช่วยแรงงานคืนถิ่นที่ต้องการทุนทรัพย์เข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยกระดับธุรกิจของชุมชนได้ด้วย

(2) การส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรม และปรับปรุงกฎหมายหรือข้อบังคับให้เอื้อต่อธุรกิจขนาดเล็ก โดยผลการศึกษาของ OECD พบว่า ธุรกิจ Startups มากกว่า 74% ในประเทศสวีเดนประสบความสำเร็จได้ จากการผ่อนคลายนโยบายรัฐและเอื้อประโยชน์ให้เกิดการแข่งขันได้อย่างเป็นธรรม สำหรับไทย ภาครัฐอาจเริ่มจากการส่งเสริมให้ธุรกิจขนาดเล็กผลิตสินค้าตามมาตรฐานสากลและส่งเสริมแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนหรือ ESG (Environment Social & Governance) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสู่ตลาดโลก โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าส่งออก และอาหารนวัตกรรมอย่าง Plant-Based Food และโปรตีนทางเลือกจากแมลงที่ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเป็นส่วนผสมหลัก รวมถึงแก้ไขกฎหมายให้เอื้อกับธุรกิจขนาดเล็ก เช่น พระราชบัญญัติสุรา ที่ปัจจุบันแทบไม่เปิดช่องว่างให้รายย่อยเข้ามามีบทบาทในตลาด ซึ่งส่งผลให้หลายชุมชนเสียโอกาสในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและนำจุดเด่นของท้องถิ่นมาเผยแพร่

วิกฤตครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้แรงงานคืนถิ่นที่พร้อมก้าวออกจากเส้นทางอาชีพแบบเดิม ๆ ที่ทำตามกระแสนิยมและความเคยชิน โดยไม่ทราบศักยภาพของตนเอง ให้ลุกขึ้นสู้อีกครั้งบนเส้นทางสายเศรษฐกิจชุมชนที่ได้รับการส่งเสริมด้านโครงสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง และเมื่อผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนก็จะนำไปสู่ความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจของประเทศไทยให้ต่อไป


ผู้เขียน :
ณัคนางค์ กุลนาถศิริ
วรรักษ์ รสมนตรี
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับที่ 7/2565 วันที่ 29 มี.ค. 2565




บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย