นางสาวรุจา อดิศรกาญจน์
นางสาวชนาภรณ์ เสรีวรวิทย์กุล
ตอนนี้ประชาชนส่วนใหญ่คงรู้สึกว่าของแพงขึ้น และอาจรู้สึกว่าทำไมตัวเลขเงินเฟ้อในเดือนเมษายนถึงลดลงสวนทางกับความรู้สึกของตัวเอง ก่อนจะดูว่าสินค้าแพงขึ้นจริงหรือไม่ เราควรทำความเข้าใจก่อนว่า เงินเฟ้อเกิดจากอะไรได้บ้าง การที่ข้าวของแพงขึ้นเราเรียกอีกอย่างว่า “เงินเฟ้อ” เงินเฟ้อนี้เกิดได้จาก 3 สาเหตุ ได้แก่ 1) มีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นค่าจ้างแรงงาน ค่าพลังงาน หรือค่าวัตถุดิบ แต่เมื่อผู้ผลิตยังอยากได้กำไรเท่าเดิม จึงต้องปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้น 2) มีความต้องการซื้อสินค้าและบริการที่มากกว่าสินค้าที่ผลิตได้ คนขายก็จะขายแพงขึ้น และ 3) มีการคาดการณ์ ว่าสินค้าจะแพงขึ้น ก็ยิ่งทำให้คนต้องการซื้อของเพื่อกักตุนกันมาก จนทำให้ราคาแพงขึ้นจริง ผู้ใช้แรงงานก็จะเรียกร้องค่าแรงเพิ่มวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตก็จะมีราคาสูงขึ้น ในที่สุดราคาสินค้าก็เพิ่มขึ้นเป็นวงจรไม่รู้จบ ซึ่งเงินเฟ้ออาจเกิดจากสาเหตุใดสาเหตุหนึ่งหรือหลายสาเหตุร่วมกันก็ได้
เมื่อรู้ที่มาที่ไปของเงินเฟ้อแล้ว คราวนี้มาดูกันว่าทาไมตัวเลขเงินเฟ้อที่ทางการประกาศจึงสวนทางกับความรู้สึก ก่อนอื่นต้องยึดหลักการง่าย ๆ ปกติตัวเลขเงินเฟ้อมักจะเทียบกับราคาเมื่อปีที่แล้ว คือ หากตัวเลขเงินเฟ้อเป็นบวกแสดงว่าสินค้าแพงขึ้นกว่าปีที่แล้ว หากตัวเลขเป็นลบแสดงว่าสินค้าถูกลงกว่าปีที่แล้ว และถ้าเงินเฟ้ออยู่ที่ 0% แสดงว่าสินค้ามีราคาเท่ากับปีที่แล้ว ดังนั้น แค่ตัวเลขเงินเฟ้อเป็นบวกก็แสดงว่าสินค้าแพงขึ้นแล้ว ซึ่งตรงกับที่หลายคนรู้สึก แต่ตัวเลขที่เป็นบวกน้อยลงแปลว่าของแพงขึ้นไม่มาก อาจเป็นเพราะตอนนี้รัฐยังมีมาตรการชดเชยราคาพลังงานหลายตัว และราคาสินค้าปีก่อนปรับขึ้นไปมากแล้ว เทียบกันแล้วตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดจึงเพิ่มขึ้นจากปีก่อนไม่มาก แต่ที่สวนทางกับความรู้สึกอาจเป็นเพราะสินค้าที่ราคาแพงขึ้นหลาย ๆ ตัวเป็นสินค้าที่ต้องกินต้องใช้ในชีวิตประจำวัน
เวลาที่มีข่าวว่าของแพง หน่วยงานที่สังคมจับตามองนอกจากกระทรวงพาณิชย์แล้ว ก็ยังมีแบงก์ชาติอีกด้วย เพราะกระทรวงพาณิชย์จะมีหน้าที่ดูแลการขึ้นราคาสินค้าแต่ละชนิดให้มีความเป็นธรรมสอดคล้องกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนแบงก์ชาติจะมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพของราคาสินค้าในภาพรวมหรือเงินเฟ้อไม่ให้สูงและผันผวนมากจนกระทบกับความกินดีอยู่ดีของประชาชน ซึ่งในส่วนของแบงก์ชาติก็ได้มีการติดตามอัตราเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง เพราะอัตราเงินเฟ้อจะเป็นตัวบั่นทอนกาลังซื้อของประชาชนและทาให้การทาธุรกิจลาบากขึ้น
ทุกวันนี้ แบงก์ชาติดูแลเสถียรภาพของเงินเฟ้อผ่านการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งใช้กรอบนโยบายแบบมีเงินเฟ้อเป็นเป้าหมาย (Inflation Targeting: IT) กรอบนี้มีหัวใจสำคัญ 4 ประการที่จะช่วยให้แบงก์ชาติรักษาพันธะสัญญาว่าจะดูแลความกินดีอยู่ดีของประชาชนไว้ 1) บอกกันตรง ๆ ไปเลยว่า แบงก์ชาติจะใช้อัตราเงินเฟ้อเท่าไรเป็นเป้าหมาย เป็นการให้คำมั่นไว้ว่าจะไม่พิมพ์เงินเพิ่มเกินกว่าที่ได้สัญญาไว้ จนส่งผลต่อเงินเฟ้อ โดยตอนนี้แบงก์ชาติมีเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ในช่วงร้อยละ 0.5-3.0 ต่อปี 2) แบงก์ชาติต้องมีเครื่องมือที่ใช้ดำเนินนโยบาย เพื่อให้เงินเฟ้ออยู่ในเป้าหมาย โดยปัจจุบันคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งจะส่งผลต่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้และเงินฝาก จูงใจให้ประชาชนปรับเปลี่ยน พฤติกรรมการใช้จ่ายและส่งผลต่อราคาสินค้าในที่สุด 3) แบงก์ชาติต้องสื่อสารเหตุผลของการทำนโยบายทั้งในปัจจุบัน และ ทิศทางของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ รวมถึงการทำนโยบายการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคตให้ประชาชนเข้าใจ เพื่อจูงใจประชาชนในการวางแผนและตัดสินใจจับจ่ายใช้สอย และทำให้เงินเฟ้อที่ออกมาจริงอยู่ในเป้าที่คิดกันมาอย่างรอบด้านแล้ว 4) แบงก์ชาติต้องมีความรับผิดชอบต่อการทำนโยบาย เช่น หากเงินเฟ้อหลุดออกจากช่วงที่กำหนด แบงก์ชาติต้องออกมาชี้แจงว่าทำไมมันถึงหลุดออกไปและจะทำให้กลับเข้าช่วงที่เป็นเป้าหมายได้เมื่อไร ทั้งหมดที่กล่าวมานี้จะช่วยให้การดำเนินนโยบายมีความโปร่งใส เป็นการสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างความเชื่อมั่นในการดำเนินนโยบายของธนาคารกลาง เพื่อให้ทุกคนคาดเดาเงินเฟ้อและวางแผนการใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้
ทั้งนี้ กรอบของนโยบายการเงินไม่ใช่ความศรัทธาแรงกล้าที่ต้องยึดมั่นถือมั่นจนวันตาย แต่เป็น เพียงกรอบและขั้นตอนที่จะทำให้บรรลุพันธะสัญญาเท่านั้น หากวันใดกรอบที่ใช้ไม่เหมาะสมกับสภาพ เศรษฐกิจก็สามารถปรับเปลี่ยนได้ ขอเพียงเป็นกรอบที่มีความน่าเชื่อถือ โปร่งใส และสามารถอธิบายให้ทุกคนเข้าใจได้
ที่ผ่านมา กรอบนโยบายการเงินในปัจจุบันยังใช้ได้ดีกับสภาพเศรษฐกิจไทย สามารถดูแล เศรษฐกิจให้เติบโตได้โดยเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบที่กำหนด แต่การที่แบงก์ชาติดูแลเงินเฟ้ออย่างเดียวไม่ได้ยืนยันว่าเศรษฐกิจจะมีความสมดุลตลอดไป สิ่งสำคัญคือ ทุกหน่วยงานของภาครัฐที่เป็นผู้กำหนด นโยบายทั้งด้านการเงินและการคลังก็จำเป็นต้องมีวินัยในการดำเนินนโยบายเช่นกัน เนื่องจากวิกฤตที่เกิดทุกประเทศทั่วโลกล้วนมีลักษณะเหมือนกันคือ การขาดวินัยในการดาเนินนโยบายของภาครัฐเพราะ โดยธรรมชาติของภาคเอกชนก็พยายามแสวงหากาไรอย่างเต็มที่ วิกฤตในภาพรวมจึงเกิดจากความหละหลวมของนโยบายภาครัฐ เช่น ปี 2540 เป็นความหละหลวมของนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่ตรึงอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่คงที่ไม่เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจ วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์เป็นความหละหลวมของนโยบายการเงินที่ดึงให้อัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป ส่วนวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรปเป็นความหละหลวมในการใช้จ่ายและก่อหนี้ของภาครัฐที่เกินตัว ดังนั้น วินัยของภาครัฐในการดำเนินนโยบายจึงมีความสำคัญมากในฐานะธนาคารกลาง วินัยของแบงก์ชาติจะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยกรอบการดำเนินนโยบายที่ชัดเจน โปร่งใส ให้สาธารณชนตรวจสอบได้
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย