​เศรษฐกิจคิดอีกที จริงหรือที่ น้ำร้อนกบเป็น น้ำเย็นกบตาย

ในช่วงที่หลายหน่วยงานยังดำเนินการในลักษณะ Work Form Home หลายท่านอาจจะประหยัดเวลาเดินทางได้ จึงเป็นโอกาสที่จะหันกลับมาหยิบจับหนังสือบนหิ้งมาพลิกเติมความรู้ ประจวบกับนักเขียนระดับโลกหลายท่านก็ได้เปิดตัวหนังสือที่มียอดจองสูงลิบตั้งแต่ยังไม่ออกสู่ตลาด หนึ่งในนั้น คือ Noise หนังสือที่เพิ่งวางแผงในวันที่ 18 พ.ค. และกำลังติดหนึ่งในอันดับขายดีที่สุดของ Amazon.com ร้านหนังสือออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ในวันนี้ขอหยิบยกบางมุมมองของหนังสือเล่มนี้มาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกท่าน


สาเหตุหลักที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ติดอันดับขายดี คือ อาจารย์ Daniel Kahneman ผู้เขียนนำ เคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ในปี 2002 และเคยตีพิมพ์หนังสือขายดีมากชื่อ Thinking, Fast and Slow ในปี 2011 ซึ่งในคราวนั้น อาจารย์ Kahneman ได้แนะนำให้โลกได้คุ้นเคยกับการแบ่งสมองคิดเร็วโดยอาศัยสัญชาติญาณและอารมณ์ ออกจากสมองคิดช้าที่อาศัยเหตุผล ดังนั้น ความคิดชั่วแล่นไม่ได้อยู่เหนือการไตร่ตรองรอบด้าน

"ความผิดพลาดในการตัดสินใจมีสาเหตุ 2 ประการ
คือ อคติ (Bias) และ สิ่งรบกวน (Noise)
เรามีวิธีบริหารจัดการอคติกันอย่างแพร่หลาย
แต่ความผิดพลาดจากสิ่งรบกวนขจัดให้หมดได้ยาก"

ในครั้งนี้ หนังสือ Noise ได้เปิดตัวอย่างน่าสนใจ โดยแยกความผิดพลาดในการตัดสินใจจากสาเหตุสองประการ คือ อคติ (Bias) และ สิ่งรบกวน (Noise) น่าสังเกตว่า เรามีวิธีคิดและวิธีบริหารจัดการอคติกันอย่างแพร่หลาย เพราะเรายอมรับร่วมกันถึงความไม่ดีไม่งามของอคติ หรือความลำเอียง ซึ่งมักจะทิ้งร่องรอยให้ตรวจสอบย้อนหลังได้ไม่ยาก เช่น อาจารย์หลายท่านเลือกกำหนดกลไกในการพิจารณาให้คุณให้โทษโดยจะไม่เปิดดูชื่อนักเรียนในกระดาษคำตอบเพื่อทำใจให้เป็นกลางขณะตรวจข้อสอบ ต่างจากการจัดการกับสิ่งรบกวน หรือ คลื่นแทรก ที่หลายครั้งอาจแฝงมาโดยที่ตัวผู้พิจารณาตัดสินใจไม่รู้ตัว จึงก่อให้เกิดความผิดพลาดในระดับจิตใต้สำนึก เช่น หากกรรมการสัมภาษณ์งานพบผู้สมัครงานที่หน้าตาคล้ายลูกของตน ก็อาจจะมีความเอ็นดูเป็นพิเศษโดยไม่ตั้งใจ ความผิดพลาดจาก Noise จึงดักได้ยาก และแม้จะใช้เครื่องมือทางสถิติจนค้นพบร่องรอยแล้ว ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะขจัดให้หมดไป

หากเราเทียบเคียงมุมมองเรื่องอคติและสิ่งรบกวนจากหนังสือเล่มนี้เข้ากับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแล้ว จะพบว่าเราให้น้ำหนักอย่างมากในการกำหนดกลไกกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันอคติในช่วงออกแบบมาตรการก่อนดำเนินนโยบาย การจะกำหนดกลุ่มเป้าหมายในการได้รับความช่วยเหลือต้องดำเนินการอย่างพิถีพิถัน ไม่ให้เกิดความลำเอียงเข้าข้างบางกลุ่ม แม้ว่าจะเป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนอย่างเด่นชัดก็ตาม ทำให้อาจปูพรมให้ความช่วยเหลือถ้วนทั่วจนก่อให้เกิดภาระต่องบประมาณเป็นอย่างมาก แต่ก็ยังมั่นใจว่าได้หลีกเลี่ยงอคติเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น เมื่อเกิดเหตุแทรกซ้อน หรือ Noise มาแทรกแซงให้การดำเนินการไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาทิ ผลกระทบของโควิด-19 ที่เคยควบคุมการแพร่ระบาดไว้ในวงจำกัด กระจายตัวสู่วงกว้างจึงก่อให้เกิดอาการรับมือไม่ทัน ส่วนหนึ่งเพราะได้ทุ่มเทงบประมาณไปกับการดำเนินนโยบายอย่างไม่อคติแต่ไม่ได้เผื่อเหลือเผื่อขาดไว้กับการจัดการสถานการณ์แทรกซ้อน

"หากจะลองหาวิธีป้องกัน Noise เราอาจพิจารณาการ คิดอีกที
กลไกคิดอีกทีจะกระตุกให้ทบทวนความไม่สัมฤทธิผล "

หากจะลองหาวิธีป้องกัน Noise นอกเหนือไปจากแนวทางการใช้เครื่องมือทางสถิติและการแยกส่วนกระบวนการตัดสินใจตามที่อาจารย์ Kanehman แนะนำแล้ว เราอาจพิจารณาการ คิดอีกที หรือ Think again จากหนังสือชื่อเดียวกันของ อาจารย์ Adam Grant ซึ่งได้หยิบยกตัวอย่างน่าสนใจตามชื่อบทความนี้ว่า มนุษย์เรามักจะหยิบกรณีกบต้ม มาเสียดสีการไม่รู้จักปรับตัว โดยเราเชื่อกันว่า หากเราต้มกบในน้ำร้อนกบจะรอด เพราะกระโดดหลบทัน แต่ถ้าเราต้มกบในน้ำเย็น แล้วค่อย ๆ เพิ่มความร้อนกบจะตายใจและตายไปก่อนจะไหวตัว อาจารย์ Grant ได้ทำการวิจัยและพบว่าข้อความนี้ไม่เป็นความจริง กบในน้ำเย็นไหวตัวกระโดดหลบออกมาได้เมื่อน้ำเริ่มอุ่นเกินไป แต่หากเราหย่อนกบลงในน้ำเดือด กบลวกก็จะจบชีวิตโดยทันควัน ตัวอย่างนี้สะท้อนว่ามนุษย์เป็นฝ่ายด่วนสรุปว่ากบจะโดนต้มตายได้ในน้ำเย็น และการคิดไตร่ตรองอีกทีผ่านการทดลองทดสอบให้แน่ใจ จึงจะทำให้พบว่ากบที่ตายมีเพียงกบลวกไม่ใช่กบต้ม

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า หากดำเนินนโยบายเศรษฐกิจบนฐานคิดที่ว่าเราป้องกันอคติบนแนวคิดสามแล้ว คือ มีแล้ว ทำแล้ว และดีแล้ว เรากำลังขาดการคิดอีกทีว่า นโยบายที่มีแล้ว มีอะไร หากเจาะลึกดูรายละเอียดใช้ได้หรือไม่ ที่ว่าทำแล้ว ทำอย่างไรทำอย่างเต็มที่เหมาะสมหรือไม่ และที่ว่าดีแล้วนั้นไซร้ ดีจริงหรือ หากดีจริงเหตุใดเป้าหมายจึงยังไม่บรรลุ กลไกคิดอีกทีจะกระตุกให้ทบทวนความไม่สัมฤทธิผล ซึ่งไม่เพียงจะช่วยให้แยกแยะต้นตอว่าปัญหามาจากอคติ หรือ Noise แต่จะช่วยให้สามารถออกแบบกลไกติดตามประเมินผลอย่างมีหลักฐานรองรับจึงรัดกุมครบครันป้องกันได้ทั้ง Bias และ Noise ไม่ใช่เพียงแต่เชื่อในเรื่องเล่าที่ลื่นไหลว่าได้ดำเนินการโดยปราศจากอคติแล้ว โดยไม่ได้คิดเผื่อแผ่ครอบคลุมใคร่ครวญถึงสิ่งแทรกซ้อนแอบแฝง


ผู้เขียน:
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด”
นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 29 พฤษภาคม 2564



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>