​น้ำท่วมใหญ่ และ การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ (Business Continuity Management)

นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล

คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าในปัจจุบันระบบการเงินและการบริการทางการเงินเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีความจำเป็นต่อระบบเศรษฐกิจและการใช้ชีวิตของประชาชนไม่ต่างไปจาก ไฟฟ้า น้ำประปา พลังงาน การสื่อสาร และการเดินทาง
ในช่วงที่น้ำท่วมที่ผ่านมา ธปท.ไม่ได้ประกาศให้เป็นวันหยุดทำการของสถาบันการเงิน เนื่องจากธปท. ตระหนักดีว่า หาก ธปท. ประกาศหยุดในช่วงน้ำท่วมหรือหากระบบการเงินหยุดชะงักแม้เพียงไม่กี่วันภาคธุรกิจและประชาชนทั้งที่อยู่ในพื้นที่น้ำท่วมและพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบจะเดือดร้อนกันเป็นอย่างมากประชาชนอาจขาดเงินสดซื้ออาหารและสิ่งจำเป็นไม่ได้ ธุรกิจบริษัทจะไม่สามารถจ่ายเงินและรับเงินได้ ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของประเทศต้องหยุดชะงัก
ในช่วงวิกฤติการณ์น้ำท่วม ธปท. และสถาบันการเงิน ได้พยายามอย่างยิ่งยวดให้สถาบันการเงินตลาดการเงิน และระบบชำระเงินของประเทศ สามารถดำเนินธุรกิจและช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง ผ่าน “การบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจ” (Business Continuity Management) ซึ่งต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที เพื่อให้วงจรเศรษฐกิจทั้งภาคประชาชนและธุรกิจสามารถหมุนไปได้อย่างไม่หยุดชะงัก โดยได้ดำเนินการดังนี้

1. ประชุมกับสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่องเพื่อประเมิน เกาะติดสถานการณ์ รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลต่างๆ ระหว่างกัน ทำให้การสื่อสารและการออกมาตราการต่างๆ สามารถดำเนินการได้อย่างเป็นระบบ รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ

2. ดูแลจัดเตรียมเงินสดสำรองให้เพียงพอเพื่อรองรับการใช้จ่ายของประชาชน และความต้องการถือครองเงินสดของประชาชนที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์ ซึ่งจากข้อมูลในช่วงตุลาคมในวันที่น้ำท่วมมากๆ ธนาคารพาณิชย์มีการเบิกถอนเงินสดจาก ธปท. เพิ่มมากขึ้นกว่า 6เท่า จากช่วงปกติที่มียอดการเบิกถอนประมาณ 2,000-3,000ล้านบาทต่อวัน สะท้อนถึงความต้องการเงินสดที่เพิ่มมากขึ้นของประชาชนในช่วงดังกล่าว โดย ธปท. สำรองเงินสดไว้ล่วงหน้าให้เพียงพอต่อการเบิกใช้ประมาณ 3 เดือน

3. ดูแลระบบการโอนเงิน ทั้งระบบการหักบัญชีเช็ค การโอนเงินขนาดใหญ่ผ่านระบบบาทเน็ต และการโอนเงินรายย่อยของประชาชนให้ทำงานได้เต็มที่อย่างต่อเนื่อง โดยจัดให้มีศูนย์เคลียริ่งเช็คทั้งที่สำนักงาน ธปท. เขตสุรวงศ์ และโรงพิมพ์ธนบัตร ธปท. ที่ ถ.พุทธมณฑลสาย 7อ.นครชัยศรี จ.นครปฐมและ ขยายเวลาการทำการ เพื่อรองรับการเดินทางเข้ามาแลกเช็คที่ยากกลำบากขึ้น

ในช่วงน้ำท่วม ระบบบาทเน็ตและการโอนเงินรายย่อยของประชาชน สามารถให้บริการได้ตามปกติถึงแม้ว่ามีปริมาณธุรกรรมเพิ่มขึ้นอย่างมาก อันเนื่องมากจากการถอนเงินเพิ่มขึ้นของประชาชน การฝากเงินและโอนเงินบริจาคช่วยน้ำท่วม การชำระค่าบริการ/ ค่าบัตรเครดิต ต่างๆ ล่วงหน้า เป็นต้น เนื่องจาก ธปท. ได้มีการซักซ้อมและทบทวนแผนรองรับการดำเนินธุรกิจ (Business Continuity Plan หรือ BCP) ของระบบงานดังกล่าวอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ เพื่อรองรับปริมาณธุรกรรมที่เพิ่มขึ้นและสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจจะเกิดขึ้นในเช่นกรณีนี้

เหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ได้ช่วยกระตุ้นให้ทุกหน่วยงานตระหนักถึงความสำคัญของ BCP และความเชื่อมโยงของ BCP ระหว่างหน่วยงานมากขึ้น โดยควรครอบคลุมถึง ระบบงาน บุคคลากร และโครงสร้างพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟ พลังงานสำรอง ทั้งนี้ ธปท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะได้นำ lessons learned จากวิกฤติครั้งนี้มาใช้ประโยชน์ในการกำหนดแนวทางการรับมือวิกฤติในครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น ธปท. ตระหนักถึงพันธกิจที่ต้องดูแลระบบการเงิน สถาบันการเงิน และการให้บริการทางการเงินรวมถึงการช่วยเหลือลูกค้าและประชาชนอย่างเต็มความสามารถ และต้องชื่นชมในความเสียสละและความทุ่มเทของผู้ให้บริการทุกคนทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนร่วมและเป็นกำลังสำคัญในการปฏิบัติงานในสภาวการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้ ซึ่งได้ร่วมกันพิสูจน์ให้เห็นว่า การร่วมมือร่วมใจกันฝ่าฟันอุปสรรคให้ระบบการเงินของประเทศสามารถเดินไปได้อย่างราบรื่น ไม่เกิดภาวะตื่นตระหนก

อีกทั้งยังได้ร่วมกันหาแนวทางเยียวยาเพื่อให้ภาคส่วนต่างๆ สามารถผ่านพ้นวิกฤติในครั้งนี้ไปได้อย่างไรก็ดี บทเรียนครั้งนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการสื่อสารระหว่างผู้รับผิดชอบในภาคส่วนต่างๆ และการเตรียมการล่วงหน้าในการมีแผนรองรับวิกฤติที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งรวมถึงมาตรการดูแลพนักงานและครอบครัวให้มีความปลอดภัยและได้รับการดูแลเป็นอย่างดี เพื่อให้ทุกคนที่ต้องรับหน้าที่สำคัญภายใต้ภาวะวิกฤติสามารถเดินหน้าทำงานให้กับระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศได้อย่างเต็มกำลัง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย