​ก้าวแรก แรงงานเข้าระบบ ก้าวต่อไป Labour Database

การผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดที่เริ่มในเดือน ก.ย.64 รวมไปถึงความกังวลเรื่องสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ลดลง ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของประชาชนต่อเศรษฐกิจปรับดีขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็มีแนวโน้มปรับดีขึ้นด้วย จึงคาดว่าจะเห็นตลาดแรงงานค่อย ๆ เริ่มฟื้นตัวจากจุดต่ำสุดในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ ที่มีผู้ว่างงานและผู้เสมือนว่างงาน (ผู้เสมือนว่างงาน คือ ผู้มีงานทำแต่ไม่ถึง 4 ชั่วโมงต่อวัน) รวมกันถึง 4 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากช่วงก่อนโควิด ปี 62 ณ ไตรมาสเดียวกันถึงกว่า 2 ล้านคน อีกทั้ง ยังเป็นไตรมาสที่มีจำนวนผู้ว่างงานเกือบ 9 แสนคน เป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 16 ปี ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ทำงานในหลากหลายอาชีพ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีมาตรการล็อกดาวน์สูงสุดและเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็น หาบเร่แผงลอย เจ้าของร้านอาหารขนาดเล็ก ช่างเสริมสวย นักร้องนักดนตรีตามผับบาร์ ผู้ขับรถแท็กซี่ ผู้รับจ้างก่อสร้าง บางคนจึงต้องลดเวลาทำงาน/ประกอบกิจการ มากไปกว่านั้น หลายกิจการถูกรัฐสั่งปิดชั่วคราว จึงต้องหยุดงาน และไม่มีรายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ คนส่วนใหญ่ที่ทำอาชีพอิสระก็มักไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมด้านการทำงานอยู่แล้ว เมื่อต้องหยุดงาน จึงไม่ได้รับเงินทดแทนและการชดเชยใด ๆ จึงถือได้ว่าเป็นกลุ่มที่มีความเปราะบางอย่างมาก


ผลกระทบรุนแรงของโควิด 19 ที่มีต่อแรงงานทั้งในและนอกระบบ ส่งผลให้รัฐออกโครงการเยียวยานายจ้างและผู้ประกันตนในกิจการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการของรัฐในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 29 จังหวัด ใน 9 ประเภทกิจการ/อาชีพ ดังนี้ 1) ก่อสร้าง 2) ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร 3) ศิลปะ บันเทิงและนันทนาการ 4) กิจกรรมบริการด้านอื่น ๆ 5) ขายส่ง ขายปลีกและซ่อมยานยนต์ 6) ขนส่งและสถานที่เก็บสินค้า 7) กิจกรรมการบริหารและบริการสนับสนุน 8) กิจกรรมวิชาชีพ วิทยาศาสตร์และกิจกรรมทางวิชาการ และ 9) ข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร ผู้ประกอบอาชีพอิสระซึ่งเข้าเกณฑ์ที่กำหนดจะได้รับเงินเยียวยา 5,000 บาท/เดือน เป็นระยะเวลาสองเดือน เพียงสมัครเข้าระบบประกันตน โดยการลงทะเบียนเป็น “ผู้ประกันตนมาตรา 40 ” (ผู้ที่ไม่เคยประกันตน ซึ่งสมัครใจประกันตนเอง และไม่มีนายจ้างประจำ) และชำระเงินสมทบ ภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้วยแรงจูงใจจากภาครัฐดังกล่าว นับเป็นก้าวแรกของการนำแรงงานนอกระบบจำนวนมากเข้าสู่ระบบ ทำให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระเกือบ 7 ล้านคน ไหลเข้าสู่ระบบประกันตน ล่าสุด ณ เดือน ต.ค. 64 ผู้ประกันตนมาตรา 40 มีจำนวนรวมกว่า 10.5 ล้านคนเพิ่มขึ้นจากเดิมก่อนเริ่มโครงการเยียวยาฯ เกือบ 3 เท่าตัว

การนำแรงงานนอกระบบกว่า 7 ล้านคน เข้าสู่ระบบเป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นง่าย ๆ หากย้อนดูข้อมูลในอดีตพบว่า ตั้งแต่ปี 2556 มีจำนวนผู้ประกันตนมาตรา 40 เพิ่มขึ้นเฉลี่ยในแต่ละปีไม่เคยถึง 6 แสนคน แม้ตั้งแต่ปี 2562 ภาครัฐจะจูงใจโดยเพิ่มความสะดวกสบายในการลงทะเบียนให้ง่ายขึ้น ด้วยการเพิ่มช่องทางการสมัครผ่านทางเคาน์เตอร์เซอร์วิสแล้วก็ตาม การจูงใจของภาครัฐในปีนี้จึงถือว่าเป็นความสำเร็จขั้นต้นในการดึงคนเข้าสู่ระบบ อย่างไรก็ดี หากก้าวแรกไม่มั่นคง ก็จะทำให้ไม่สามารถเดินหรือวิ่งต่อไปข้างหน้าได้ เมื่อลองดูข้อมูลที่ภาครัฐให้กรอกตอนลงทะเบียน พบว่าเป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นจากการถามคำถามเพียงไม่กี่ข้อเท่านั้น จึงยังขาดข้อมูลในอีกหลายด้าน หากต้องการรวบรวมเพื่อให้เกิดฐานข้อมูลของแรงงานทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นในหรือนอกระบบ เพื่อมุ่งไปสู่การวางนโยบายที่เหมาะสมเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อแรงงานทุกกลุ่ม อย่างไรก็ดี ข้อมูลจากการสำรวจแรงงานนอกระบบ ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ดำเนินการเป็นประจำทุกไตรมาส 3 ของปีพบว่า ในปีนี้มีแรงงานที่เป็นผู้ประกันตนมาตรา 40 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเกือบสามเท่าตัวเช่นกัน จึงเป็นโอกาสในการใช้ข้อมูลเพื่อปิดช่องว่างสำคัญที่ข้อมูลทะเบียนผู้ประกันตนยังขาดอยู่ ตลอดจน นำมาวิเคราะห์ลักษณะคนที่เคยอยู่นอกระบบและตัดสินใจเข้ามาในระบบตามแรงจูงใจของภาครัฐ


เมื่อวิเคราะห์ผู้ประกันตนมาตรา 40 เทียบกับช่วงก่อนโควิด ปี 2562 ในมิติต่าง ๆ พบว่าสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกันตนมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้ 1) ผู้สำเร็จการศึกษาต่ำกว่าอุดมศึกษาเพิ่ม 6% 2) คนที่ทำอาชีพที่ใช้ทักษะขั้นพื้นฐาน (unskilled) เพิ่ม 5% 3) ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ไม่มีนายจ้างเพิ่มขึ้นถึง 18% 4) ผู้ที่ทำงานในภาคบริการเพิ่ม 6% 5) ผู้ที่ทำงานที่แผงลอยข้างถนน/ในตลาดเพิ่ม 7% และ 6) ผู้ที่ทำงานไม่เป็นหลักแหล่งเพิ่ม 6% หรืออาจจะมองในภาพรวมได้ว่า ผู้ประกันตนมาตรา 40 ที่เข้ามาเพิ่มจากการจูงใจของภาครัฐ ส่วนใหญ่มีการศึกษาในระดับต่ำ ทำงานที่ใช้เพียงทักษะขั้นพื้นฐานในการประกอบอาชีพค้าขายและบริการแบบไม่มีนายจ้าง โดยเฉพาะคนที่ทำงานตามแผงลอยข้างถนน/ในตลาด และคนที่ทำงานไม่เป็นหลักแหล่ง ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและไม่แน่นอนจึงไม่แปลกใจที่จะต้องการความช่วยเหลือและเข้าร่วมโครงการฯ ในช่วงวิกฤตโควิด หากลองนึกภาพว่าถ้าเราสามารถเก็บข้อมูลแรงงานเหล่านี้ได้อย่างต่อเนื่อง และมีแบบสำรวจเพื่อเติมเต็มข้อมูลลงทะเบียนที่ตอนนี้มีเพียงข้อมูลเบื้องต้น ข้อมูลที่ได้จะมีประโยชน์มากเพียงใดต่อการดำเนินนโยบายที่เหมาะสม ทันกาล และตอบโจทย์กับทุกกลุ่มเป้าหมาย

การออกแบบสำรวจเพิ่มเติมที่ดีนั้นจะมีประโยชน์อย่างมาก โดยช่วยให้ภาครัฐทราบถึงความต้องการที่แท้จริงของผู้ประกันตน และนำข้อมูลเหล่านี้มาปรับเปลี่ยน/เพิ่มเติมการให้สิทธิประโยชน์ที่ตรงตามความต้องการของผู้ประกันตน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญยิ่งในการจูงใจให้ผู้ประกันตนอยู่ในระบบต่อไป หรือจูงใจให้ผู้อยู่นอกระบบเข้าสู่ระบบได้มากขึ้น เพื่อให้เขาได้รับความคุ้มครองหรือมีหลักประกันทางสังคม ซึ่งเป็นก้าวเริ่มต้นสำคัญของกระบวนการ Labour Formalization ให้คนไทยได้รับความคุ้มครองทางสังคมอย่างทั่วถึงและเพียงพอ สามารถรองรับความเสี่ยงต่าง ๆ ได้มากขึ้น เปรียบเหมือนการสอบถามความชอบของลูกค้า ก่อนลงมือทำอาหาร ทำให้สามารถปรุงเมนูอาหารได้ตรงใจกลุ่มลูกค้า กลุ่มลูกค้าเดิมก็จะทานร้านเดิมต่อไป และลูกค้ารายใหม่ก็อาจแวะเวียนเข้ามาด้วยเช่นกัน


ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
พัชยา เลาสุทแสน
สำนักงานสถิติแห่งชาติ
สุภาพร ยั่งยืน
สำนักงานประกันสังคม

คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 29 พฤศจิกายน – 1 ธันวาคม 2564


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>