​ภาคบริการ....แรงขับเคลื่อนใหม่ของระบบเศรษฐกิจไทย?

นางสาววินัสยา สุริยาธานินทร์

ในปัจจุบัน เครื่องยนต์หลักทางเศรษฐกิจไทยกาลังเผชิญความท้าทายหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นการบริโภคภาคเอกชนที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ การส่งออกสินค้าซึ่งเคยเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยหดตัว 2ปีต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งที่เป็นปัจจัยภายในได้แก่ ข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีการผลิตในสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทยเนื่องจากขาดการลงทุนเพื่อขยายกำลังการผลิตมาเป็นเวลานานและบางส่วนเป็นการผลิตในเทคโนโลยีที่ความต้องการของโลกมีแนวโน้มลดลง และปัจจัยภายนอก ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างการค้าของโลกกล่าวคือ แม้เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวในอัตราเดิมแต่กลับไม่ทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวสูงเช่นในอดีต ประกอบกับปัจจุบันอุปสงค์ของเศรษฐกิจโลกยังฟื้นตัวแบบเปราะบาง ขณะที่ภาคเอกชนชะลอการลงทุนเพื่อรอความชัดเจนของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนการใช้จ่ายภาครัฐมีข้อจากัดอยู่บ้างเนื่องจากอยู่ในช่วงของการปฏิรูปเศรษฐกิจและการลดนโยบายประชานิยมลง โดยปัจจุบันมีเพียงการส่งออกบริการ ได้แก่ ภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งแม้จะมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 17 ของ GDP แต่กลับทำหน้าที่เป็นเครื่องยนต์สำรองที่ช่วยพยุงเศรษฐกิจไทยให้ประคองตัวต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามอยู่ว่าหากมองภาพในระยะยาวแล้ว ภาคบริการของไทยมีศักยภาพเพียงพอที่จะกลายมาเป็นเครื่องยนต์หลักให้กับเศรษฐกิจไทยได้หรือไม่

หากมองทางด้านอุปทาน ภาคบริการโดยรวมของไทย ได้เพิ่มบทบาทต่อเศรษฐกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 ภาคบริการมีสัดส่วนอยู่ที่ร้อยละ 52 ของ GDP และมีการจ้าง งานในภาคดังกล่าวสูงถึงร้อยละ 49 ของการจ้างงานรวม อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่สามารถเพิ่มสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP ให้อยู่ในระดับสูงเทียบเคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่ใช้ ภาคบริการเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของระบบเศรษฐกิจ ตัวอย่างเช่นสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ที่มีสัดส่วนของภาค บริการสูงถึงร้อยละ 70-80 ของ GDP และมีสัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการเพิ่มขึ้นในระดับที่สูงสอดคล้องกัน (ประเทศ พัฒนาแล้วส่วนใหญ่มีสัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการเกินกว่าร้อยละ 70 ของการจ้างงานรวม) รวมทั้งผลิตภาพแรงงาน ในภาคบริการของประเทศเหล่านั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง


นอกจากนี้ บางประเทศที่อยู่รอบๆ ไทย เช่น จีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ สามารถเพิ่มสัดส่วนภาคบริการต่อ GDP ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะที่สัดส่วนภาคบริการต่อ GDP ของไทยทรงตัวอยู่ที่ประมาณร้อยละ 50 มาเป็นเวลานาน ในทางกลับกันสัดส่วนการจ้างงานในภาคบริการของไทยกลับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แสดงให้เห็นว่าแรงงานในภาคบริการที่ เพิ่มขึ้นไม่สามารถสร้างผลผลิตให้แก่ภาคบริการได้มากเท่าที่ควร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ ผลิตภาพแรงงานในภาคบริการของไทยยังอยู่ในระดับต่ำนั่นเอง ส่วนหนึ่งมาจากการปกป้องภาคบริการของไทย กล่าวคือ ประเทศในเอเชีย รวมถึงไทยมีกฎระเบียบและนโยบายที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในภาคบริการค่อนข้างมาก สะท้อนจากข้อมูลดัชนีข้อจากัดการประกอบกิจการภาคบริการ (Services Trade Restriction Index : STRI) ของ World Bank ที่มาจากการสำรวจบริษัทเอกชนและหน่วยงานราชการที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายการลงทุนและการดำเนินธุรกิจภาคบริการจาก 103 ประเทศทั่วโลก ข้อมูลล่าสุดในปี 2555 พบว่าไทยมีค่าดัชนีอยู่ในอันดับที่ 74 ซึ่งเกือบเป็นอันดับสุดท้าย บ่งชี้ว่าไทยมีข้อจำกัดในการเข้ามาดำเนินธุรกิจภาคบริการของผู้ประกอบการรายใหม่ค่อนข้างสูง ทำให้สัดส่วนการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในภาคบริการ และการไหลเข้าของทุนและเทคโนโลยีมีจำกัด จึงไม่สามารถยกระดับประสิทธิภาพภาคบริการและผลิตภาพแรงงานได้ นอกจากนี้ คุณภาพของแรงงานไทยในภาคบริการยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากแรงงานในภาคบริการส่วนใหญ่จบการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา และมีจุดอ่อนที่สำคัญ คือ ทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ความรู้ด้าน IT และความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นทักษะสำคัญที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพแรงงานไทย

ด้วยเหตุนี้ ภาคบริการของไทยส่วนใหญ่จึงมีลักษณะเป็นบริการแบบดั้งเดิม (Traditional Services) โดยไม่เน้นการใช้เทคโนโลยีแต่ใช้แรงงานทักษะต่ำในการให้บริการ เช่น ภาคบริการในสาขาการค้าส่ง-ค้าปลีก โรงแรมและร้านอาหาร และสาขาการท่องเที่ยว เป็นต้น ซึ่งบริการประเภทนี้ไม่ค่อยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจมากนัก สังเกตได้จากสาขาการค้าส่ง-ค้าปลีกที่มีสัดส่วนสูงสุดใน GDP ภาคบริการ แต่มีอัตราการขยายตัวอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วสาขาบริการส่วนใหญ่มีลักษณะเป็น Modern Services คือการให้บริการที่เน้นการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและทักษะแรงงานขั้นสูง เช่น บริการด้านการเงินการธนาคาร ลิขสิทธิ์ทางปัญญา และบริการด้าน IT จึงสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคบริการได้เป็นอย่างมาก นอกจากนี้ การส่งออกบริการของประเทศที่พัฒนาแล้วยังมีความหลากหลายมากกว่าประเทศกาลังพัฒนาซึ่งค่อนข้างกระจุกตัวอยู่ในภาคการท่องเที่ยว และความหลากหลายนี้เองได้ช่วยลดทอนความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวม สาหรับประเทศไทยนั้นการส่งออกบริการยังคงกระจุกตัวอยู่ในภาคการท่องเที่ยวเช่นเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม การจะหวังพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียวในระยะยาวอาจไม่สามารถทำได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะข้อจากัดด้านอุปทานได้แก่ความเพียงพอของสาธารณูปโภคต่างๆ

ดังนั้น การจะทำให้ภาคบริการของไทยสามารถเติบโตได้อย่างมีศักยภาพ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและช่วยรองรับแรงกระแทกจากปัญหาวิกฤตต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืนนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องยกระดับภาคบริการของไทยให้ก้าวไปสู่ความเป็น Modern Services มากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันเริ่มเห็นสัญญาณในการยกระดับภาคบริการที่ดีขึ้น จากแผนยุทธศาสตร์ฉบับใหม่ของ BOI ที่มีการให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจประเภทบริการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ และกิจการ Cloud Service เป็นต้น นอกจากนี้ ไทยควรใช้ประโยชน์จากภาคการท่องเที่ยวที่ไทยมีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบอยู่แล้วเพื่อเชื่อมโยงไปสู่การพัฒนาภาคบริการในสาขาอื่นๆ ด้วย เช่น การรักษาพยาบาล การขนส่งและโทรคมนาคม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคบริการมากยิ่งขึ้น และควรมีการปรับปรุงกฎระเบียบการลงทุนบางประการใน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เช่น การลดการคุ้มครองธุรกิจบริการบางสาขาที่ในปัจจุบันมีการคุ้มครองแบบครอบจักรวาล เพื่อช่วยลดอุปสรรคในการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างชาติซึ่งเอื้อต่อการแข่งขันและการพัฒนาเทคโนโลยี รวมไปถึงการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้แก่ภาคบริการ ยิ่งไปกว่านั้น การปฏิรูประบบการศึกษาและการพัฒนาทักษะแรงงานให้มีความรู้สูง และตรงตามความต้องการของตลาดยังคงเป็นหัวใจสาคัญที่สุดในการยกระดับภาคบริการของไทยให้มีศักยภาพอย่างยั่งยืน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย