สถานการณ์การระบาดโควิดที่เริ่มบรรเทาลงภายหลังจากอัตราการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิดทยอยปรับเพิ่มขึ้น และวัคซีนมีการแพร่กระจายไปในหลายประเทศมากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายคาดว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีแนวโน้มปรับดีขึ้นในปีนี้ โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้น อาจจะส่งผลให้ราคาสินค้าและบริการ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อปรับสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นนี้คงผ่านตาท่านผู้อ่านมาบ้าง บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอใช้โอกาสนี้พูดถึงประเด็นนี้ค่ะ
เหตุผลสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายคาดว่าเงินเฟ้อจะเร่งขึ้นหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย มาจากนโยบายทางการเงินและการคลังที่ธนาคารกลางและรัฐบาลในหลายประเทศใช้ในการบรรเทาผลกระทบของโควิด อาทิ การใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายเป็นประวัติการณ์ผ่านการลดอัตราดอกเบี้ยจนอยู่ในระดับต่ำและการอัดฉีดเงินจำนวนมหาศาลเข้าสู่ระบบ หรือมาตรการช่วยเหลือทางการคลังขนาดใหญ่ หรือที่เรียกว่า “บาซูก้าการคลัง” ผ่านการใช้จ่าย เครื่องมือทางภาษี และเงินโอนต่าง ๆ เพื่อช่วยบรรเทาการขาดสภาพคล่องและช่วยหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้เดินหน้าต่อได้ อย่างไรก็ดี เมื่อวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลายหลังจากที่รัฐบาลควบคุมการระบาดได้ มีการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ และประชาชนส่วนใหญ่ได้วัคซีน เงินที่ล้นอยู่ในระบบเหล่านี้ก็มีโอกาสจะผลักให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วได้ จากความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่ถูกอั้นไว้ในช่วงล็อกดาวน์ รวมถึงอีกส่วนหนึ่งจากต้นทุนการผลิตสินค้าและบริการที่อาจเพิ่มขึ้นจากการระบาดของโควิดที่ส่งผลให้โครงสร้างอุปทานเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่เน้นผลิตสินค้าในประเทศที่มีค่าแรงถูกสู่การผลิตสินค้าที่พึ่งพาแรงงานในประเทศมากขึ้น ความกังวลด้านเงินเฟ้อนี้เห็นได้ในแวดวงการลงทุนโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศอย่างสหรัฐฯ ในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีความผันผวนเป็นอย่างมากจากการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวที่มีการปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากตัวชี้วัดเงินเฟ้อ 10 year break-even inflation ที่ปรับตัวสูงขึ้นจนสูงกว่าช่วงก่อนมีการระบาดโควิดแล้ว
อย่างไรก็ดี แม้นักลงทุนจะกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อหลังจากโควิดคลี่คลาย แต่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ไม่ได้กังวลในประเด็นนี้ นายเจโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ส่งสัญญาณว่าจะไม่รีบร้อนปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือลดปริมาณการทำคิวอีลงแต่ประการใด โดยจะคงอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยไปจนถึงปี 2567เพราะต้องการมั่นใจว่าเศรษฐกิจและการจ้างงานมีการฟื้นตัวจริง ๆ นอกจากนี้ ในระยะสั้นหากเงินเฟ้อพุ่งไปเกินกว่าเป้าหมายที่ 2% ก็ไม่ได้เป็นปัญหา เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความยืดหยุ่นในการใช้นโยบายการเงินเพื่อป้องกันเงินเฟ้อ โดยในปีที่ผ่านมาก็มีการปรับแนวคิดของเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นแบบค่าเฉลี่ยแทน กล่าวคือ ในช่วงที่ผ่านมาเศรษฐกิจย่ำแย่จนอัตราเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมายมาก หากปีนี้เงินเฟ้อจะสูงกว่าเป้าหมายเพื่อถัวเฉลี่ยก็ไม่เป็นไร
ทั้งนี้ ในเชิงทฤษฎีแล้ว เงินเฟ้อแบบอ่อน ๆ หรือการมีเงินเฟ้อเล็กน้อยในระบบเศรษฐกิจเป็นสิ่งที่ดี เพราะเมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น จะช่วยให้ธุรกิจมีแนวโน้มเติบโต ทำให้เกิดการลงทุน การจ้างงาน และมีเงินหมุนในระบบมากขึ้น แต่หากเงินเฟ้อพุ่งสูงเร็วเกินไป มูลค่าของเงินที่มีอยู่ในทุกวันนี้ก็จะมีมูลค่าลดลงไปมาก หรือกล่าวได้ว่า เงินในจำนวนเท่าเดิม จะสามารถจับจ่ายใช้สอยได้น้อยลง ซึ่งนอกจากกระทบกำลังซื้อแล้ว เงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นเร็วมากเกินไปยังกระทบต่อการวางแผนลงทุนของภาคธุรกิจเช่นกัน
ท้ายที่สุดนี้คงต้องจับตาการดำเนินนโยบายของภาครัฐและธนาคารกลางว่าหากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นในอัตราที่น่ากังวลจนธนาคารกลางต้องหันปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาด หรือมีการถอนมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องก็อาจส่งผลให้ตลาดการเงินผันผวนอย่างมากและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาจสะดุดลงได้ค่ะ
ผู้เขียน
นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์ธนาคารแห่งประเทศไทย
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
>>