นางสาวพนิดา มูลพฤกษ์
ช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา สถาบันการเงินมีการออกกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อระดมเงินจากประชาชนอย่างร้อนแรงมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของเงินฝาก ตั๋วแลกเงิน ผลิตภัณฑ์ประกันชีวิต และผลิตภัณฑ์การลงทุนอื่นๆ อันเนื่องมาจากหลายปัจจัย โดยมีปัจจัยที่สำคัญคือ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) การเร่งระดมเงินเพื่อรองรับการปล่อยสินเชื่อที่มีอัตราการเติบโตสูงขึ้นตามการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลให้สถาบันการเงินบางแห่งพิจารณาปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยทั้งด้านเงินให้กู้ และเงินฝาก ในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝากนั้นก็เป็นการเพิ่มผลตอบแทนให้กับผู้ฝากเงินหรือผู้ลงทุน เพื่อเป็นแรงจูงใจ ในขณะที่สถาบันการเงินบางแห่งอาจใช้วิธีทางการตลาดอื่นเพื่อลดต้นทุนทางการเงินแทนการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ย เช่น การจับฉลากชิงโชค และการแจกของรางวัล เป็นต้น
ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า เพราะเหตุใดการแจกของรางวัลให้กับลูกค้าผู้ฝากเงินจึงถือเป็นวิธีหนึ่งในการลดต้นทุนของสถาบันการเงิน ขอยกตัวอย่างดังนี้ หากของรางวัลคือ การแจกบ้านเดี่ยวที่มีราคา 5 ล้านบาท จำนวน 7 รางวัล ต้นทุนโครงการนี้จะอยู่ที่ 35 ล้านบาท โดยรางวัลจะตกอยู่แก่ผู้โชคดีเพียง 7 คนเท่านั้นแต่ในทางกลับกันหากสถาบันการเงินจ่ายอัตราดอกเบี้ยเงินฝากเพิ่ม 1% ต่อปี สำหรับลูกค้าทุกคน ในที่นี้สมมติว่ามีประชาชนสนใจฝากเงินกับโครงการนี้รวม 1 แสนล้านบาท สถาบันการเงินจะมีต้นทุนอยู่ที่ 1,000 ล้านบาทต่อปี จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่ในปัจจุบันจะมีกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อระดมเงินฝากที่น่าตื่นตาตื่นใจออกมามากมายในรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่ใช่การจ่ายดอกเบี้ย เพื่อจะดึงดูดให้ผู้ฝากเงินสนใจ ไม่ว่าจะเป็นการแจก โทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์ โน๊ตบุ๊ค รถยนต์ เป็นต้น
นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ให้ผลตอบแทนที่มีความซับซ้อน เช่น อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันได สำหรับเงินฝากหรือตั๋วแลกเงิน ที่มีรูปแบบของการจ่ายอัตราดอกเบี้ยในแต่ละช่วงเวลาที่แตกต่างกัน โดยจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นเป็นแบบขั้นบันได โดยเฉพาะในช่วงท้ายของระยะเวลาการฝากเงิน ผู้ฝากเงินจะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่สูงมากเพื่อให้ผู้ฝากเงินเข้าใจว่ามีการจ่ายดอกเบี้ยที่สูง หากไม่พิจารณาให้ละเอียด ซึ่งกลยุทธ์ทางการตลาดทั้งการแจกของแถม และการให้อัตราดอกเบี้ยแบบขั้นบันไดดังกล่าว อาจทำให้ผู้ฝากเงินเกิดความยุ่งยากในการหาอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย หรือเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยกับสถาบันการเงินอื่น เพื่อนำมาพิจารณาเลือกผลิตภัณฑ์ที่ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดและเหมาะสมกับความต้องการของตนเองได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งมีหน้าที่ประการหนึ่งในการส่งเสริมให้สถาบันการเงินสร้างความเป็นธรรม (Fairness) ต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องด้วย จึงได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าวมาโดยตลอด และเห็นว่ามีแนวโน้มการออกผลิตภัณฑ์ในลักษณะดังกล่าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ธปท. จึงได้ออกหนังสือเวียนซักซ้อมความเข้าใจกับสถาบันการเงินทุกแห่ง โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคที่จะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเท่าเทียมกัน และสิทธิที่จะเลือกใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงินได้อย่างอิสระ โดยมุ่งเน้นให้สถาบันการเงินเปิดเผยอัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่ผู้ฝากเงินจะได้รับหากฝากเงินครบตามเวลาที่กำหนด และได้รับการชี้แจงข้อมูลความเสี่ยงว่าผลิตภัณฑ์ประเภทใดบ้างที่ไม่ใช่เงินฝากจึงไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เช่น ตั๋วแลกเงิน ประกันชีวิต และกองทุนรวม ทั้งยังส่งเสริมให้มีความเป็นธรรมในการให้ผลตอบแทนต่อผู้บริโภคทุกคนอย่างเท่าเทียมกันอีกด้วย
การพิจารณาทางเลือกของการออมหรือการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน หากเปรียบเทียบกับการเลือกซื้อยารักษาโรค ซึ่งผู้ซื้อต้องพิจารณาเลือกจากความน่าเชื่อถือของบริษัทผู้ผลิต และคุณสมบัติข้างเคียงของยาตัวนั้น เพื่อให้ปลอดภัย และได้ผลต่อร่างกายที่ดีที่สุด มากกว่าการเลือกซื้อยารักษาโรคจากของแถมเป็นแน่เช่นเดียวกันกับการเลือกใช้บริการผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ผู้ฝากเงินก็ควรพิจารณาจากความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงินผู้เสนอผลิตภัณฑ์นั้น อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงที่ผู้ฝากเงินจะได้รับเมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการฝาก ซึ่งสามารถนำไปเปรียบเทียบกับผลตอบแทนของสถาบันการเงินอื่นได้
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย