​กระเป๋าเงินไร้พรมแดน : เร็ว ถูก ปลอดภัย กับมิติใหม่แห่งการชำระเงินของอาเซียน


นางสาวกมลพร โรจนรัตนางกูร
ฝ่ายความร่วมมือระหว่างประเทศ

จากบทความครั้งก่อนได้เล่าถึงสิ่งที่ภาคการเงินของไทยจะผลักดันในช่วงที่ไทยเป็นประธานอาเซียน ปี 2562 ฉบับนี้จะขอเจาะลึกสิ่งที่ไทยจะผลักดัน โดยขอเริ่มที่พัฒนาการและความร่วมมือด้านการชำระเงินของอาเซียนเรื่องการชำระเงินนี้ถือได้ว่าเป็นหนึ่งในงานสำคัญของภาคการเงินและมีความใกล้ชิดกับชีวิตประจำวันของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นการโอนหรือการจ่ายเงินค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ซึ่งเมื่อก่อนนี้ เวลาจะโอนเงินข้ามธนาคารหรือต่างจังหวัด หลาย ๆ คนจะคิดถึงการไปทำธุรกรรมที่สาขาของธนาคารหรือตู้ ATM และเสียค่าธรรมเนียมที่ธนาคารเรียกเก็บตามจำนวนเงินที่จะโอนตั้งแต่ 25-35 บาท รวมทั้ง การโอนเงินระหว่างประเทศ แค่ประเทศใกล้ ๆ ไทยในอาเซียน ก็ยังมีอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งค่าธรรมเนียมที่แพงและระยะเวลาที่เงินจะเดินทางไปถึงผู้รับในอีกประเทศ

ความไม่สะดวกและต้นทุนการโอนเงินเหล่านี้ ทำให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารกลางอื่น ๆ ในอาเซียนให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการชำระเงินในประเทศให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถทำธุรกรรมได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง เช่น การพัฒนาระบบโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือแบบ Real-Time อาทิ ระบบพร้อมเพย์ของไทย ระบบ PayNow ของประเทศสิงคโปร์ หรือ ระบบ Real-time Retail Payments Platform (RPP) ของประเทศมาเลเซีย นอกจากนี้ หลายประเทศยังได้มีการพัฒนามาตรฐาน QR Code สำหรับชำระค่าสินค้าและบริการ โดยไทยได้พัฒนา Thai QR Code Standard และสิงคโปร์พัฒนา SGQR ออกมาใช้แล้ว ในขณะที่กัมพูชาก็อยู่ระหว่างการพัฒนามาตรฐาน QR Code เช่นกัน

นอกจากการพัฒนาระบบการชำระเงินภายในประเทศแล้ว ธนาคารกลางในอาเซียนยังมีความร่วมมือในการพัฒนาแนวทางเชื่อมโยงการชำระเงินระหว่างกัน เพื่อแก้ปัญหาและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในด้านการโอนเงินข้ามพรมแดนมาอย่างต่อเนื่องด้วย เช่น ความร่วมมือในการพัฒนา Asian Payment Network (APN) ระหว่างประเทศในอาเซียนและประเทศในภูมิภาค เพื่อเชื่อมโยงระบบ ATM ของประเทศที่เป็นสมาชิก ให้ประชาชนสามารถถอนเงินและโอนเงินผ่านบัตรในต่างประเทศที่เป็นสมาชิก APN ได้ ต่อมาเมื่อยุคสมัยเปลี่ยนแปลงไปการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือได้รับความนิยมจากประชาชนมากขึ้น ธนาคารกลางในอาเซียนจึงสนใจที่จะร่วมมือกันเพื่อผลักดันการเชื่อมโยงบริการชำระเงิน ให้ประชาชนสามารถโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือและชำระเงินด้วย QR Code ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และมีค่าใช้จ่ายที่ถูกลง ซึ่งช่วยอำนวยความสะดวกและรองรับการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มมากขึ้นจากการค้าการลงทุน และการเดินทางไปมาหาสู่กันของประชาชนในภูมิภาค

จากการพัฒนาระบบการชำระเงินและความร่วมมือในอาเซียนที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ทำให้ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศในอาเซียนจะสามารถร่วมมือกันในการเชื่อมโยงการชำระเงิน เพื่อให้ประชาชนสามารถโอนเงินได้ง่ายเพียงแค่ใช้ปลายนิ้ว ไม่ว่าจะเป็นการเชื่อมโยงบริการโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ เวลาคนไทยไปทำงานในประเทศสิงคโปร์หรือคนเมียนมามาทำงานในประเทศไทย ก็สามารถส่งเงินกลับบ้านได้อย่างสะดวกและรวดเร็วทันทีแบบ Real-time หรือการเชื่อมโยงบริการชำระเงินด้วย QR Code เวลาที่คนไทยไปท่องเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ในอาเซียน เช่น เวียงจันทน์ ก็ไม่ต้องพกเงินสด เพียงแค่สแกน QR Code ที่ร้านค้าในเวียงจันทน์ก็สามารถจ่ายเงินซื้อผ้าซิ่นสวย ๆ ได้แล้ว ซึ่งปัจจุบันธนาคารพาณิชย์บางแห่งได้เริ่มมีความร่วมมือกับธนาคารในภูมิภาคเพื่อพัฒนาตามแนวทางดังกล่าว ทำให้การโอนเงินและชำระเงินระหว่างประเทศในอาเซียนกำลังจะไม่มีพรมแดนอีกต่อไป พรมแดนที่ว่านี้ ไม่ได้หมายถึงแค่เขตแดนของประเทศเท่านั้น แต่รวมถึงระยะเวลา ค่าธรรมเนียม และความไม่สะดวกต่าง ๆ ในการโอนเงินและชำระเงิน ซึ่งความร่วมมือด้านการชำระเงินนี้เป็นหนึ่งในงานของอาเซียนที่จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงด้านการเงินของอาเซียนให้แนบแน่น และนำไปสู่ความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของภูมิภาคต่อไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย