​อัตราดอกเบี้ยกับการกระตุ้นเศรษฐกิจ

ดร.อัมพร แสงมณี

นับตั้งแต่วิกฤตการเงิน ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เราเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตการณ์การเงิน และต่อมาเมื่อเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศเอเชียกลับมาขยายตัวอย่างเข้มแข็งได้ก่อน อัตราดอกเบี้ยในกลุ่มประเทศนี้ก็เริ่มปรับสูงขึ้นสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจ คำถามคือว่า อัตราดอกเบี้ยควรจะอยู่ในระดับใด ถึงจะเหมาะสมกับเศรษฐกิจไทย

ในชีวิตประจำวัน อัตราดอกเบี้ยเกี่ยวข้องกับประชาชนทุกภาคส่วน ตั้งแต่การจับจ่ายใช้สอย การออม และการลงทุน โดยดอกเบี้ยสามารถเป็นได้ทั้งผลตอบแทนสำหรับเจ้าของเงิน และเป็นต้นทุนทางการเงินสำหรับผู้ที่กู้ยืมเงิน ทำให้การเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยส่งผลกระทบในเชิงตรงกันข้ามต่อบุคคล 2 กลุ่มนี้เสมอ

อัตราดอกเบี้ยและการขยายตัวทางเศรษฐกิจต่างกำหนดซึ่งกันและกัน กล่าวคือระดับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำในปัจจุบันสามารถส่งผลต่อระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ในทางกลับกัน แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจดังกล่าวจะส่งผลต่อแรงกดดันเงินเฟ้อในเวลาต่อมา และทำให้อัตราดอกเบี้ยในอนาคตปรับสูงขึ้น (เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยมีเงินเฟ้อเป็นองค์ประกอบหลัก) จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมธนาคารกลางจึงไม่สามารถกำหนดอัตราดอกเบี้ยให้คงที่ได้ต่อเนื่อง แต่ควรดูแลอัตราดอกเบี้ยทั้งปัจจุบันและในอนาคตให้อยู่ในระดับที่สนับสนุนการขยายตัวเศรษฐกิจในระยะยาว

เงื่อนไขดังกล่าวทำให้ระดับอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับระดับการกระตุ้นทางเศรษฐกิจที่จำเป็นในเวลานั้นๆ เช่น หากเศรษฐกิจต้องได้รับการกระตุ้นเพิ่มเติมเพื่อลดผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยก็ควรอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติ อย่างไรก็ดี เมื่อเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติและขยายตัวได้ต่อเนื่องตามศักยภาพ การกระตุ้นเพิ่มเติมผ่านอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำกว่าที่ควร จะก่อให้เกิดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ ทำให้ในที่สุด อัตราดอกเบี้ยซึ่งถือเป็นต้นทุนทางการเงินก็จะต้องปรับสูงขึ้นอยู่ดี

สิ่งสำคัญก็คือ อัตราดอกเบี้ยในที่ระดับที่ต่ำเกินควรจะกระทบต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจโดยรวมเนื่องจากเมื่อประชาชนเห็นว่าดอกเบี้ยถูก กู้ยืมมาใช้จ่ายเกินความจำเป็น ก่อให้เกิดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อขณะเดียวกัน จะจูงใจให้ประชาชนเริ่มคิดอยากจะกู้ยืมเพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์ที่เสี่ยงมากขึ้น เช่น ทองคำ และหุ้น ซึ่งนอกจากจะเป็นบ่อเกิดของฟองสบู่ในราคาสินทรัพย์ (Asset price bubble) แล้ว ในเวลาต่อมา หากอัตราดอกเบี้ยต้องปรับสูงขึ้น และราคาสินทรัพย์ปรับลดลง จะทำให้ผู้กู้มีความสามารถในการชำระคืนหนี้ลดลง สร้างความเดือดร้อนทั้งต่อตนเอง ผู้ให้กู้และระบบเศรษฐกิจโดยรวม

ตัวอย่างของการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มากและนานเกินไปจนส่งผลลบต่อเศรษฐกิจสามารถเห็นได้จากประเทศญี่ปุ่น หลังจากปี 1985 ที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นประสบปัญหาค่าเงินเยนแข็งขึ้นมาก จึงปรับลดอัตราดอกเบี้ย และคงไว้ในระดับต่ำเป็นเวลาหลายปีเพื่อลดแรงกดดันต่อค่าเงินเยน ซึ่งผลที่ตามมาคือราคาสินทรัพย์ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งต่อมาเมื่อฟองสบู่แตก ญี่ปุ่นต้องประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยยาวนานกว่า 20 ปี เช่นเดียวกันกับกรณีของสหรัฐอเมริกาในช่วงทศวรรษที่ 2000 ที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจมากเกินความจำเป็นผ่านอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำต่อเนื่อง ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจสามารถขยายตัวได้ดีตามศักยภาพอยู่แล้ว ทำให้เกิดการสะสมความเปราะบางจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินโลกที่เราเผชิญในเวลาต่อมา

สำหรับประเทศไทย หากถามว่าอัตราดอกเบี้ยควรจะอยู่ในระดับใด จึงจะเหมาะสมและช่วยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ก็คงไม่น่าแปลกใจที่เราจะได้ยินคำตอบที่หลากหลาย ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคนในการให้ความสำคัญกับปัญหาเศรษฐกิจที่ต่างกัน ทั้งความต้องการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ปัญหาเงินเฟ้อ หรือความเสี่ยงของเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะมุ่งเน้นประเด็นใดก็ตาม สิ่งที่สำคัญคือควรมองผลกระทบระยะยาวเป็นหลัก เนื่องจากการมองปัญหาที่สั้นเกินไปเท่ากับเป็นการผลักปัญหาให้ไปเกิดในอนาคตแทนนั่นเอง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย