​Hotline: สายตรงธุรกิจ “ม้าเร็ว” ตามติดเศรษฐกิจไทย

นางสาวจิตา จีรเธียรนาถ นางสาวณัคนางค์ กุลนาถศิริฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
Young Asian businesswoman work at home and virtual video conference meeting with colleagues business people, online working, video call due to social distancing, top view


วิกฤตการแพร่ระบาดโควิด 19 ได้สร้างความปั่นป่วนต่อระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจทั่วโลก เป็นความท้าทายอย่างยิ่งแก่ทุกภาคส่วนในการประเมินผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ในสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงเร็วเช่นนี้ การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติที่ผ่านมา (Lagging indicator) เพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสะท้อนภาวะที่แท้จริงได้ดีเท่าที่ควร ดังนั้นเครื่องมือที่ช่วยให้เห็นภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและระยะข้างหน้าจึงมีความสำคัญ ภายใต้แนวคิด Business Liaison Program (BLP) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ทำมากว่า 10 ปี เราได้ต่อสายตรงไปยังกูรูในหลายสาขาธุรกิจ สมาคม และองค์กรเอกชนอย่างน้อย 800 รายต่อปี เป็นเหมือนม้าเร็วที่คอยส่งสัญญาณเตือนจากผู้ประกอบการให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องได้ตระหนักถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ และเป็นประโยชน์แก่ ธปท. ในการดำเนินนโยบายในรูปแบบ รู้ก่อน รอดไว ปรับใช้ได้ทันการณ์
ในครั้งนี้ก็เช่นกัน หลังต่อสายตรงไปยังภาคธุรกิจ พบว่าการแพร่ระบาดของโควิด 19 ระลอกใหม่ ทำให้การฟื้นตัวของหลายธุรกิจสะดุดลงและซ้ำเติมผลประกอบการที่กำลังจะฟื้นตัว หากเจาะลึกถึงกลุ่มธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว จะเห็นว่าได้รับผลกระทบมากกว่าธุรกิจสาขาอื่น และรวดเร็วกว่าการระบาดครั้งก่อน
ยอดจองที่พักและการจัดสัมมนาในทุกแหล่งท่องเที่ยวถูกเลื่อนหรือยกเลิกเกือบทั้งหมดในทันที ขณะที่อัตราการจองล่วงหน้าในไตรมาส 1 ปีนี้ เหลือต่ำกว่า 10% เนื่องจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของแต่ละจังหวัดที่เข้มงวด มีโรงแรมปิดกิจการชั่วคราวเพิ่มขึ้นทั้งในเขตพื้นที่สีแดงและเมืองรอง สำหรับโรงแรมในพื้นที่ท่องเที่ยวหลักในภาคใต้ ส่วนใหญ่ยังปิดกิจการชั่วคราวแบบไม่มีกำหนดตั้งแต่ระลอกแรก เช่นเดียวกับรายได้ของธุรกิจนวดสปาที่หายไปหลังถูกสั่งปิดในหลายพื้นที่ แม้จะกลับมาเปิดได้บ้างแล้วแต่รายได้ก็ยังหายไปเกินกว่าครึ่ง ด้านธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ทั้งสายการบินและผู้ประกอบการเดินรถอิสระอย่างผู้ขับแท็กซี่และจักรยานยนต์รับจ้าง พบว่ารายได้ลดลงถึง 60-90% เมื่อผู้โดยสารเลี่ยงการเดินทางด้วยขนส่งสาธารณะ สำหรับธุรกิจร้านอาหารมียอดขายลดลง 30-50% จากความกังวลเรื่องความสะอาดของวัตถุดิบ การจำกัดเวลานั่งในร้าน รวมถึงการยกเลิกงานสังสรรค์ของหลายบริษัท รายได้ที่ลดลงมาก ทำให้หลายธุรกิจคาดว่าจะมีสภาพคล่องเหลือเพื่อประคองธุรกิจอีกเพียง 2-3 เดือนเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมขนาดเล็ก-กลาง และประเมินว่ากว่าการท่องเที่ยวจะฟื้นตัวได้ ก็ต่อเมื่อนักท่องเที่ยวได้รับวัคซีนเป็นวงกว้าง จึงเลือกปิดกิจการชั่วคราวไปก่อนเพื่อลดภาระต้นทุน
กลุ่มธุรกิจการค้าได้รับผลกระทบรองลงมา โดยเห็นผลกระทบต่อยอดขายทันทีตั้งแต่ต้นปี จากการที่ประชาชนมีความกังวลมากกว่าการแพร่ระบาดครั้งก่อน ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคยังไม่ฟื้นตัวสู่ระดับเดิมและไม่มีการเร่งกักตุนสินค้า โดยสินค้าอุปโภคบริโภคมียอดขายลดลงราว 10-30% ซึ่งเห็นได้ชัดในกลุ่ม Supplier ร้านอาหาร ร้านค้าในพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อสูง รวมถึงแหล่งท่องเที่ยว ขณะที่กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยมียอดขายลดลงมากกว่าจากพฤติกรรมของลูกค้าที่ระมัดระวังการใช้จ่าย แม้จะเพิ่มช่องทางการขายออนไลน์แล้ว แต่ก็ยังเป็นเพียงส่วนน้อยของยอดขายโดยรวม เช่นเดียวกับร้านค้าหาบเร่แผงลอยที่รายได้ลดลงกว่า 50% จากการลดกิจกรรมนอกบ้าน ผู้ประกอบการประเมินว่ายอดขายจะกลับมาสู่ระดับปกติได้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2565 ขณะที่ร้านค้า SMEs ส่วนใหญ่มีสภาพคล่องเพียงพอหมุนเวียนในธุรกิจได้อีกเพียง 2 เดือนเท่านั้น
ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แม้ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่อาจซ้ำเติมกำลังซื้อที่เปราะบางอยู่แล้วให้ยิ่งอ่อนแอลงไปอีก ซึ่งสร้างความกังวลแก่ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ จนกระทั่งหลายแห่งชะลอการเปิดโครงการใหม่ ส่งผลต่อเนื่องถึงผู้รับเหมาก่อสร้างงานเอกชนหลายรายที่งานเริ่มขาดมือและต้องแข่งกันประมูลงานสูงขึ้น โดยเฉพาะรายเล็ก-กลางบางรายที่มีงานเหลือเพียง 25% จากช่วงปกติ
ธุรกิจการผลิตเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าธุรกิจอื่น ยอดคำสั่งซื้อในกลุ่มผู้ผลิตยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดระลอกใหม่ และไม่ติดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบเหมือนคราวก่อน อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ประสบปัญหาค่าระวางเรือที่เพิ่มขึ้นสูงจากการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์สำหรับส่งออก ขณะที่ผู้ผลิตอาหารทะเลแปรรูปที่หลายคนสงสัยว่าอาจขายของได้ยากในช่วงเวลาที่ผู้บริโภคกังวลการติดเชื้อในอาหาร กลับพบว่าโรงงานขนาดใหญ่ยังมีคำสั่งซื้อ ทั้งในและต่างประเทศในระดับปกติ แต่กลุ่มผู้ผลิตอาหารแปรรูปขนาดเล็ก-กลางในพื้นที่สมุทรสาครอาจได้รับผลกระทบบ้าง เนื่องจากผู้บริโภคในประเทศหลีกเลี่ยงการซื้อสินค้าที่ผลิตจากโรงงานในพื้นที่ อย่างไรก็ดี ยังมีธุรกิจบางประเภทที่ได้รับผลบวกด้วย เช่น ธุรกิจการค้าออนไลน์ (e-Commerce) และธุรกิจประกันภัย เป็นต้น


นอกจากสถานการณ์ของผู้ประกอบการที่น่าเป็นห่วงแล้ว อีกหนึ่งองค์ประกอบสำคัญของเศรษฐกิจที่อาจโดนเฉือนทิ้งในวันที่กิจการดำเนินต่อไปได้อย่างยากลำบาก คือ ลูกจ้าง แม้ปัจจุบันยังไม่เห็นการเลิกจ้างเพิ่มขึ้นมากนัก เนื่องจากมีการปลดไปแล้วบางส่วนตั้งแต่การแพร่ระบาดครั้งก่อน แต่ในระยะต่อไปหลายธุรกิจอาจจำเป็นต้องเลิกจ้างเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว นอกจากนี้ หลายธุรกิจยังมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนรูปแบบการจ้างงานจากการจ้างพนักงานประจำเป็นพนักงานรายวันมากขึ้น รวมถึงรักษาไว้เฉพาะพนักงานที่มีทักษะสูงหรือทำงานได้หลายหน้าที่ (Multi-tasking) เท่านั้น
ด้วยผลกระทบที่เกิดกับแต่ละภาคธุรกิจแตกต่างกัน มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐทั้งที่จะช่วยภาคธุรกิจ และพยุงการจ้างงานเพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ (Economic scar) จึงควรต้องลงไปอย่างตรงจุดและทันเวลา เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจและครัวเรือนผ่านเวลาที่ยากลำบากไปได้
นอกจากการจับชีพจรเศรษฐกิจผ่านการต่อสายตรงตามแบบฉบับของ BLP แล้ว ธปท. ยังได้พัฒนาดัชนีชี้วัด Sentiment อีกหลายตัวเพื่อใช้ประเมินภาพความเป็นอยู่ของทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งมีเครื่องชี้อะไรบ้างท่านผู้อ่านสามารถติดตามได้ในตอนต่อไป

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

>>