ในยุคหลังโควิด 19 รูปแบบการท่องเที่ยวได้เปลี่ยนไปจากเดิม มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เกิดกระแสการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน คำถามที่น่าสนใจคือ ในช่วงที่รอการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ไทยควรเตรียมพร้อมในเรื่องนี้อย่างไร เพื่อสร้างโอกาสและทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่การท่องเที่ยวยุคใหม่เป็นไปอย่างราบรื่น
“การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน” เทรนด์การท่องเที่ยวยุคใหม่
การแพร่ระบาดของโควิด 19 ตลอดระยะ 2 ปี ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยสูงเกือบปีละ 2 ล้านล้านบาทหายไปเกือบทั้งหมด ในอีกด้านหนึ่ง เราเริ่มได้ยินสื่อนำเสนอข่าวเกี่ยวกับการฟื้นตัวของธรรมชาติและพบเห็นสัตว์หายากในพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก จนเกิดเป็นกระแสความตื่นตัวด้านสิ่งแวดล้อมและพูดถึงเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) หนาหูขึ้น
รูปที่ 1: อันดับประเทศยอดนิยมที่ต่างชาติจะมาเที่ยวหลังโควิด-19 และพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคใหม่
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่ใช่เรื่องใหม่ และถูกบรรจุในแผนพัฒนาการท่องเที่ยวของไทยที่ผ่านมาทุกฉบับ เพียงแต่ยังมีข้อจำกัดในการขยายผล โดยเฉพาะช่วงก่อนโควิด 19 ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด ทำให้เรามุ่งเน้นไปที่รายได้ที่เข้ามา จนอาจมองข้ามการวางรากฐานการท่องเที่ยวยั่งยืน ที่ต้องคำนึงถึงขีดความสามารถของธรรมชาติในการรองรับนักท่องเที่ยว เนื่องจากธรรมชาติที่สวยงามและอุดมสมบูรณ์ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกสถานที่ท่องเที่ยว สอดคล้องกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น โดยจากผลสำรวจของ Booking.com เมื่อเดือนเมษายน 2564[1] (รูปที่ 1) พบว่า 83% ของผู้ตอบแบบสำรวจเห็นว่าการท่องเที่ยวยั่งยืนมีความสำคัญ โดยนักท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยยินดีจ่ายเงินมากขึ้นเพื่อการท่องเที่ยวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
เปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาส: ดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพ สร้างปลายทางแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน
จากข้อมูลของ Visual Capitalist พบว่า ไทยติด 1 ใน 10 อันดับแรกของประเทศยอดนิยมที่นักท่องเที่ยวให้ความสนใจมาเที่ยวในช่วงหลังโควิด 19[2] ทั้งนี้ จากการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติของหลายหน่วยงานสำคัญทางเศรษฐกิจเห็นตรงกันว่า ในระยะสั้น-กลาง จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอาจไม่กลับไปสู่ระดับเดิมที่ 40 ล้านคน โดยคาดว่าในปี 2565 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเฉลี่ย 5.7 ล้านคน (รูปที่ 2) และคาดว่าเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ ทั้งในแง่ของระยะเวลาพักที่ยาวนานและค่าใช้จ่ายที่สูง ไทยจึงควรใช้โอกาสนี้ในการสร้างภาพลักษณ์การท่องเที่ยวใหม่ ให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการท่องเที่ยวยั่งยืนของโลก เพื่อเป็นการสร้างรายได้จากกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ มากกว่าหวังพึ่งปริมาณนักท่องเที่ยวจำนวนมากดังเช่นในอดีต
รูปที่ 2: จำนวนและรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทย
ไขกุญแจสำคัญ สู่โมเดลการท่องเที่ยวยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จ
การสร้างโมเดลการท่องเที่ยวยั่งยืนไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ใช่ว่าจะทำให้สำเร็จไม่ได้ โดยจะขอยกตัวอย่าง สองโมเดลการท่องเที่ยวยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จมาเล่าสู่กันฟัง (รูปที่ 3) เริ่มต้นด้วย
1) “โมเดลการท่องเที่ยวยั่งยืนของสาธารณรัฐปาเลา (Palau)” ประเทศหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิกที่ได้มีเป้าหมายในการพลิกฟื้นและเปลี่ยนภาพลักษณ์การท่องเที่ยวใหม่สู่ความยั่งยืน หลังเกิดปัญหานักท่องเที่ยวล้นเกินจนทำให้ทรัพยากรธรรมชาติเริ่มเสื่อมโทรมลงในปี 2557 ผ่านแคมเปญ “สัญญาปาเลา หรือ Palau Pledge” โดยนักท่องเที่ยวทุกคนที่เข้ามาต้องประทับตราในพาสปอร์ตเพื่อสัญญากับเด็กๆ ของปาเลาว่าจะทำตามกฎรักษ์ธรรมชาติและไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้รับความสนใจจากสื่อและคนดังระดับโลก เช่น Leonardo DiCarprio และ Dame Ellen Macarthur ซึ่งช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพสูงและสร้างรายได้ให้กับประเทศมากขึ้น
2) โมเดลท่องเที่ยวที่อาศัยจุดแข็งด้านทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลที่ยังอุดมสมบูรณ์มาสร้างภาพลักษณ์แหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ คือ “โมเดลการท่องเที่ยวยั่งยืนของเกาะหมาก จ.ตราด” ของไทย ผ่านการลดกิจกรรมท่องเที่ยวที่สร้างมลพิษ ลดใช้พลังงานและน้ำสำหรับที่พักแรม และรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิมของชุมชน ทำให้เป็นที่สนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวคุณภาพได้มากขึ้น โดยในปี 2562 มีจำนวนนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเพิ่มขึ้น 15% จากปีเริ่มต้นพัฒนาเกาะหมาก 2556 แต่กลับสร้างรายได้เพิ่มขึ้นเกือบ 50%[3]
รูปที่ 3: ตัวอย่างโมเดลการท่องเที่ยวยั่งยืนที่ประสบความสำเร็จ
กุญแจสำคัญอย่างเดียวกันที่ทำให้โมเดลการท่องเที่ยวยั่งยืนของปาเลาและเกาะหมาก ประสบความสำเร็จ คือ 1) มีการตั้งเป้าหมายและแผนงานในระดับพื้นที่ที่ชัดเจน 2) มีการประสานความร่วมมือจากทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการเข้ามามีส่วนร่วมของภาครัฐท้องถิ่นที่ทำหน้าที่สอดประสานกับคนในชุมชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรและมีความเข้าใจในเชิงพื้นที่ดีกว่าภาครัฐส่วนกลาง โดยเปิดโอกาสให้ชาวบ้านและผู้ประกอบการในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่กระบวนการคิด ตัดสินใจ และออกแบบแนวทางการดำเนินการร่วมกัน และ 3) ทุกภาคส่วนเห็นเป้าหมายเดียวกันและเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเอง ทำให้การขับเคลื่อนไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืนในระดับพื้นที่เกิดขึ้นได้จริง ซี่งหากแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ สามารถปรับใช้และต่อยอดไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืนในพื้นที่ของตัวเองได้มากขึ้น ก็จะช่วยเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยวยั่งยืนของไทยให้โดดเด่นในสายตาของโลก ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ไทยได้คว้าโอกาสทองหลังจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยกลับมาเหมือนเดิม
ผู้เขียน :
ธนายุส บุญทอง
ณรงค์ฤทธิ์ อดุลย์ฐานานุศักดิ์
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
วริทธิ์นันท์ ชุมประเสริฐ
สำนักงานภาคใต้
คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับที่ 3/2565 วันที่ 1 ก.พ. 2565
อ้างอิง :
[1] Booking.com (2021), Sustainable Travel Report 2021
[2] Marcus Lu (2022), 10 Travel Destinations for Post-Pandemic Life, Visualcapitalist, January 14, 2022
[3] กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (2562)
[4] ธนายุส บุญทอง, ณรงค์ฤทธิ์ อดุลย์ฐานานุศักดิ์ และ วริทธิ์นันท์ ชุมประเสริฐ (2564), Sustainable Tourism: กระแสแห่งโอกาสและความท้าทายของภาคการท่องเที่ยวไทย, Regional Letter ฉบับที่ 16/2564
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย