​เงินเฟ้อสูงขึ้นบอกอะไร? ต้นทุนเปลี่ยนไปหรือเศรษฐกิจร้อนแรง

ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วจนมาถึงต้นปีที่ผ่านมา กระแสข่าวที่ทำให้คนไทยรับรู้และอาจมีความกังวล คือ การที่ราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อหมู และไข่ไก่ เป็นต้น ทำให้เกิดความไม่สบายใจต่อค่าครองชีพที่สูงขึ้น บทความนี้จึงอยากชวนผู้อ่านมาร่วมวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ รวมถึงราคาสินทรัพย์ ในมุมมองของการดูแลเสถียรภาพด้านราคาที่มีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจไทย


ก่อนอื่น ขอหยิบยกมุมมองที่ธนาคารแห่งประเทศไทยในฐานะของผู้ดำเนินนโยบายการเงินที่ยึดเอาเงินเฟ้อเป็นหนึ่งในเป้าหมาย นอกเหนือจากการเติบโตของเศรษฐกิจและเสถียรภาพระบบการเงิน โดยให้ความเห็นไว้ว่ามีเพียงสินค้าบางกลุ่มที่ปรับราคาสูงขึ้น และการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าดังกล่าวเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่ลดลง เช่น ปริมาณเนื้อหมูที่ขาดแคลนเนื่องจากโรคระบาดอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) หรือจากปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ ราคาพลังงาน หรือการขาดแคลนชิ้นส่วนในการผลิต โดยคาดว่าราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นสูงจะเป็นการชั่วคราว หากราคาสินค้าไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ก็คาดว่าจะคลี่คลายได้เองตามกลไกตลาด

แต่อัตราเงินเฟ้อที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นผลจากเพียงด้านอุปทานเท่านั้นหรือ? ลองพิจารณาการขยายตัวของเศรษฐกิจ หรือ GDP ใน ปี 2564 ที่ 1.6% มากกว่าที่สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดการณ์ไว้ที่ 1.2 % และดีกว่าที่หลายสำนักประเมินไว้ จาก GDP ไตรมาสที่ 4 ปี 2564 ที่ขยายตัว 1.9% ส่วนหนึ่งมาจากความต้องการสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นไปได้หรือไม่ว่า ราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นนั้นมาจากปัจจัยด้านอุปสงค์ด้วยเช่นกัน

การเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อจะมีผลกระทบมากหากเป็นการสะท้อนสถานการณ์ความร้อนแรงของการเติบโตทางเศรษฐกิจ จึงต้องทบทวนว่าเศรษฐกิจการเงินไทยกำลังตกอยู่ในภาวะดังกล่าวหรือไม่ การติดตามสัญญาณจากเครื่องชี้ที่หลากหลายจะนำไปสู่การเตรียมตั้งรับล่วงหน้าได้อย่างเหมาะสม ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ราคาสินทรัพย์ที่เป็นข้อมูลสะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจการเงินและแนวโน้มของเงินเฟ้อได้เช่นกัน

ตามทฤษฎีเมื่อกล่าวถึงราคาสินทรัพย์ซึ่งเป็นหนึ่งในช่องทางการส่งผ่านของการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายลดลง ประชาชนจะฝากเงินน้อยลงและนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า เช่น หุ้น พันธบัตร และอสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น ซึ่งความต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นนี้จะทำให้ราคาสินทรัพย์เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้ที่ถือสินทรัพย์เหล่านี้ “รู้สึก” มีความมั่งคั่งมากขึ้น และนำไปสู่การจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น (wealth effect) เป็นผลให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวและเงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นในที่สุด แต่ในความเป็นจริงนั้นอาจมีปัจจัยอื่น ๆ ที่ทำให้ wealth effect มีผลไม่มากตามที่คิดไว้ ยิ่งในช่วงสองปีที่ผ่านมาการเผชิญโควิด-19 ส่งผลให้คนจำนวนมากทำมาหากินลำบากขึ้น รายได้ลดลง ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต ทั้งการปรับลดค่าใช้จ่าย ประหยัด และอดออมกันมากขึ้น จนอาจส่งผลให้ความรู้สึกมั่งคั่งเบาบางลง แม้ราคาสินทรัพย์จะเพิ่มขึ้น และทำให้ไม่อยากจับจ่ายเท่าเดิมเหมือนกับตอนก่อนเกิดโควิด ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจริง โดยความหวังที่เศรษฐกิจจะขยายตัวแบบเดิมก็จะไม่เกิดขึ้น

ตัวเลขดัชนีตลาดหลักทรัพย์และดัชนีราคาอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน และคอนโดมิเนียม ปรับสูงขึ้นบ้างแต่หากมองพัฒนาการเทียบเคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว ก็ยังไม่ได้เร่งตัวขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยในช่วงสิ้นปี 64 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคที่เป็นตัวแทนของราคาสินค้าและบริการนั้นเร่งสูงขึ้นจนอยู่ในระดับที่เหนือกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาราคาน้ำมัน จะเห็นได้ว่าราคาน้ำมันและดัชนีราคาผู้บริโภคเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน โดยทั้งคู่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงสิ้นปี 64 และอยู่เหนือกว่าระดับช่วงก่อนโควิดแล้ว บ่งชี้ว่าราคาสินค้าและบริการที่เพิ่มขึ้นนั้นมาจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเป็นสำคัญซึ่งเป็นผลจากปัจจัยนอกประเทศ เมื่อพิจารณาทั้งปัจจัยด้านราคาสินทรัพย์และที่มาของเงินเฟ้อแล้ว อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ทางเศรษฐกิจการเงินยังไม่ได้ร้อนแรงจนส่งผลให้เกิดแรงกดดันเงินเฟ้ออย่างรุนแรง สอดคล้องกับมุมมองของธนาคารแห่งประเทศไทย



อย่างไรก็ดี ปฏิเสธไม่ได้ว่าราคาสินค้าหรือบริการนั้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับการใช้ชีวิตของเราที่ต้องจับจ่ายใช้สอย ยิ่งในยุคที่คนส่วนใหญ่มีความลำบากในการหาเลี้ยงชีพด้วยแล้ว การที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะกระทบกับค่าครองชีพ และส่งผลโดยตรงต่อความเป็นอยู่ของประชาชน จึงขอปิดท้ายด้วยมุมมองจากคณะกรรมการนโยบายการเงินในการประชุมครั้งแรกของปีนี้ “ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการฯ ยังให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ราคาพลังงานโลก การส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้น รวมถึงความเพียงพอของมาตรการการคลังและมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมหากจำเป็น”


ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์
ฝ่ายเสถียรภาพระบบการเงิน

คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 2 มีนาคม 2565


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>