บทความนี้ชวนท่านผู้อ่านย้อนอดีตกลับไปดูพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและจีนในมิติรายได้ประชาชาติต่อหัวประชากรกันครับ
ในแต่ละปี ธนาคารโลกจะทำการทบทวนการจัดกลุ่มประเทศต่างๆ ในโลกจากการประเมินรายได้ประชาชาติต่อหัว (GNI per capita) โดยใช้วิธีที่เรียกว่า Atlas method โดยปัจจุบันมี 4 กลุ่มประเทศ ได้แก่ กลุ่มประเทศรายได้ต่ำ กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง กลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง และกลุ่มประเทศรายได้สูง
มองย้อนไปแล้ว ต้องบอกว่าเรามาไกลพอสมควรทีเดียว
ในรายงาน World Development Report ฉบับปฐมฤกษ์ของธนาคารโลกที่ออกมาในปี 2521 ธนาคารโลกขีดเส้นแบ่งประเทศรายได้ต่ำกับประเทศรายได้ปานกลางไว้ที่ 250 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี โดยอิงจากข้อมูลปี 2519 ในปีนั้น ไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเท่ากับ 380 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ลำดับท้ายๆของประเทศรายได้ปานกลาง ขณะที่สิงคโปร์ซึ่งมีรายได้ประชาชาติต่อหัวสูงสุดในประเทศอาเซียนที่ 2,700 ดอลลาร์สหรัฐ อยู่ลำดับต้นๆของกลุ่มรายได้ประเทศปานกลาง
การเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกหรือ Eastern Seaboard และการเปิดเสรีทางการเงินระหว่างประเทศในเวลาถัดมา หนุนให้รายได้ต่อหัวของไทยปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง จนเข้าใกล้เส้นแบ่งประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2539 (ดูแผนภูมิประกอบ)
ที่มา: ธนาคารโลก (ข้อมูลถึงปี 2563) WEO (ข้อมูลปี 2564)
วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยรุนแรง โดย ณ จุดต่ำสุดในปี 2544 รายได้ต่อหัวประชากรของไทยต่ำกว่าในปี 2539 ประมาณหนึ่งในสาม
ตั้งแต่ปี 2545 รายได้ประชาชาติต่อหัวของไทยกลับเข้าสู่แนวโน้มขาขึ้นอีกครั้ง โดยในปี 2551 ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้สำเร็จ (ธนาคารโลกรับรองอย่างเป็นทางการในปี 2554)
แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี 2561-2580 วาดฝันให้คนไทยว่าก่อนจบแผน ประเทศไทยจะเป็นประเทศรายได้สูง แม้ 4 ปีแรกจะเริ่มต้นได้ไม่ดีนัก แต่ก็ถือว่ายังอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ หากสามารถทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ตามเป้าหมาย
ผมลองสมมติง่ายๆให้เส้นแบ่งประเทศรายได้สูงยังคงแนวโน้มที่ผ่านมา คือ ขยับขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.1 ต่อปี (ข้อมูลย้อนหลัง 15 ปี) และให้รายได้เฉลี่ยต่อหัวของไทยต่อจากนี้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 6 ต่อปี (เป้าการขยายตัวของจีดีพีตามยุทธศาสตร์ชาติที่ร้อยละ 5 ต่อปี บวกอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ร้อยละ 1 ต่อปี และสมมติให้จำนวนประชากรคงที่) เราจะข้ามเส้นประเทศรายได้สูงในปี 2575
ระหว่างที่เราต้องรอลุ้นว่าจะไปถึงฝั่งฝันได้หรือไม่นั้น กรณีเทียบเคียงที่น่าสนใจคือจีน ซึ่งคาดกันว่าในปีนี้ รายได้ประชาชาติต่อหัวของจีนจะเพิ่มสูงกว่าเส้นแบ่งประเทศรายได้สูง แม้อาจจะต้องรออิกสองปีกว่าธนาคารโลกจะรับรองจีนเป็นประเทศราบได้สูงอย่างเป็นทางการ
จีนเป็นกรณีที่น่าทึ่งมาก เพราะจีนเพิ่งก้าวขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับล่างเมื่อปี 2541 นี่เอง เท่ากับว่าจีนจะใช้เวลาเพียง 25 ปีเท่านั้นในการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง
ความที่จีนพัฒนาขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ทำให้คนไทยจำนวนมากไม่ทราบว่ารายได้ต่อหัวของคนจีนแซงรายได้ต่อหัวของคนไทยไปแล้วตั้งแต่ปี 2554 ยิ่งระยะหลังที่เศรษฐกิจไทยโตต่ำ รายได้เฉลี่ยต่อหัวประชากรของจีนยิ่งทิ้งห่างไทยไปไกล
จีนทำสำเร็จได้อย่างไร ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจจีนสองท่านของไทย ดร. อาร์ม ตั้งนิรันดร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร. อักษรศรี พานิชสาส์น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เขียนไว้ในหลายที่ ซึ่งผมจะไม่เขียนซ้ำในที่นี้ แต่อยากจะแชร์ว่า ครั้งหนึ่ง อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยท่านหนึ่งไปประชุมงานนานาชาติที่มีผู้ว่าการธนาคารกลางจีนร่วมประชุมด้วย ในที่ประชุมนั้น ผู้ว่าการ ธปท. ได้ถามผู้ว่าการธนาคารกลางจีนเป็นการส่วนตัวว่า จีนทำอย่างไร เศรษฐกิจจึงขยายตัวได้สูงต่อเนื่อง ผู้ว่าการธนาคารจีนตอบว่า รัฐบาลจีนมองไทยเป็นตัวอย่างในการพัฒนาประเทศ และพยายามทำทุกอย่างไม่ให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจแบบไทยในปี 2540 ซึ่งเราจะเห็นจากที่จีนยังคุมเข้มการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ การกู้ยืมในสกุลเงินตราต่างประเทศ และการดูแลไม่ให้เศรษฐกิจขยายตัวร้อนแรงจนเกินไป
ท้ายสุดที่ผมอยากฝากไว้ คือ รายได้ต่อหัวสำคัญก็จริง แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการกระจายรายได้ รายได้ต่อหัวของไทยแม้จะยังห่างไกลจากการเป็นประเทศรายได้สูง แต่ก็สูงกว่าที่คนส่วนใหญ่คิดมาก เวลาผมไปบรรยายที่ต่างๆ ไม่มีใครตอบผมถูกเลยว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อเดือนของคนไทยอยู่ที่ประมาณเท่าไร
จากข้อมูลล่าสุดที่สภาพัฒน์ฯเพิ่งประกาศไป รายได้เฉลี่ยต่อหัวต่อเดือนของคนไทยในปี 2564 อยู่ที่ 19,348 บาทครับ ตัวเลขที่คนส่วนใหญ่มีในใจต่ำกว่านี้มาก ตัวเลขนี้ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยของคนไทยทั้งประเทศถูกดึงขึ้นโดยคนส่วนน้อยที่มีรายได้สูง เรายังไม่ต้องไปดูว่าคนรวยที่สุดร้อยละ 1 ของประเทศมีสินทรัพย์เท่าไร แค่ตัวเลขนี้ก็สะท้อนความเหลื่อมล้ำที่สูงแล้วครับ
การเพิ่มรายได้ต่อหัวประชากรและการกระจายรายได้จึงเป็นโจทย์สำคัญของทุกรัฐบาลที่จะเข้ามาบริหารประเทศในอนาคตครับ
ผู้เขียน :
ดร.ดอน นาครทรรพ