​ใช้ให้ถูก รู้ให้ทันอนุพันธ์ทางการเงิน

​นายแลนด์ สนธิชาติกุล

อนุพันธ์ทางการเงินเริ่มกลับมาได้รับความสนใจในช่วงนี้ เนื่องจากอาจนามาใช้เพื่อลด ความเสี่ยงในช่วงที่เศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูง หรือเป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลตอบแทนเพิ่มเติม (Search for yield) ในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำในปัจจุบัน แต่อนุพันธ์ก็เหมือนดาบ 2 คม จะเป็นประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราใช้ให้ถูก รู้ให้ทัน

ในช่วงปีที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีที่เศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินโลกมีความผันผวนค่อนข้างสูง อย่างที่เห็นกัน เช่น ราคาน้ำมันและราคาทองคำที่ปรับตัวลดลงประมาณกว่า 50% และ 20% จากต้นปี 2558 ตามลำดับ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนและตลาดทุนที่มีความผันผวนจากปัจจัยรอบด้าน ทั้งการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ประกาศขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในรอบ 10 ปี เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวโดยมีอัตราการเติบโตของ GDP ลดลงต่ำกว่า 7% รวมถึงความไม่แน่นอนของการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งปัจจัยทั้งภายในและภายนอกประเทศเหล่านี้ยังมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบมายังเศรษฐกิจไทยและตลาดการเงินไทยเป็นระยะมาจนถึงปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการ/ผู้ลงทุนอาจได้กุมขมับกันเป็นแถว โดยบางส่วนอาจหันมาให้ความสนใจกับอนุพันธ์ทางการเงิน ทั้งในด้านที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่มีในช่วงตลาดมีความผันผวน เช่น ผู้นำเข้าที่กลัวว่าค่าเงินจะอ่อนค่าและท้าให้ต้นทุนการซื้อสินค้าสูงขึ้นก็อาจซื้อเงินตราต่างประเทศโดย การกำหนดอัตราการซื้อไว้ล่วงหน้ากับธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ต้นทุนในการสั่งซื้อสินค้ามีความแน่นอนและสามารถกำหนดราคาขายสินค้าต่อได้อย่างมั่นใจ หรือด้านที่จะใช้อนุพันธ์เป็นเครื่องมือในการเพิ่มผลตอบแทนในภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ เช่น การลงทุนในหุ้นกู้อนุพันธ์ที่มีการจ่ายผลตอบแทนอ้างอิงกับการเคลื่อนไหวของตัวแปรไม่ว่าจะเป็นหุ้นหรือดัชนีทางการเงินในต่างประเทศแทนที่จะจ่ายดอกเบี้ยตามปกติ หรือการซื้อขาย SET50 futures ซึ่งสามารถเก็งกำไรได้ทั้งในช่วงตลาดขาขึ้นและขาลง

แต่หลายคนก็อาจจะลังเล เพราะข่าวเกี่ยวกับความเสียหายที่เกิดจากอนุพันธ์ก็ออกมาให้เห็นอยู่เรื่อย ๆ เช่น กรณีการลงทุนใน Credit default swap ในต่างประเทศที่โอนความเสี่ยงด้านเครดิตไปให้คู่สัญญาอื่น ถูกต้องแล้วครับที่เราควรจะต้องลังเล อนุพันธ์เป็นตราสารทางการเงินที่มีการเคลื่อนไหวขึ้นอยู่กับตัวแปรอ้างอิงอีกตัวหนึ่ง ซึ่งอาจจะเคลื่อนไหวไปในทางที่จะให้ประโยชน์หรือให้โทษแก่เราก็ได้ สิ่งที่สำคัญคือเราต้องรู้จักตัวเราว่าต้องการอะไร และรู้จักอนุพันธ์ที่เราอยากเข้าไปลงทุนว่าจะช่วยตอบโจทย์เราได้อย่างไร การลงทุนในตราสารทางการเงินที่เราไม่รู้จักความเสี่ยงก็เปรียบเสมือนการเดินอยู่ในอุโมงค์มืด ๆ มารู้ตัวอีกทีเราอาจจะตกลงไปอยู่ที่ก้นเหวแล้วก็ได้ บทความนี้อาจจะพอให้แนวทางเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นที่ควรพิจารณาก่อนลงทุนในอนุพันธ์ ครับ

ประเด็นแรก ใช้ให้ถูก หรือการรู้จักตัวเอง และเลือกเครื่องมือที่เหมาะสมกับตนเอง ปกติก่อนที่เราจะเริ่มทำอนุพันธ์ ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าเราจะทำเพื่ออะไร เพื่อป้องกันความเสี่ยง หรือเพื่อเพิ่มผลตอบแทน/เก็งกำไร หากเป็นการทำเพื่อป้องกันความเสี่ยง เราต้องดูว่าปัจจุบันเรามีความเสี่ยงอะไร ระยะเวลาทำอนุพันธ์เท่าไรที่เหมาะสมกับภาระความเสี่ยง และควรจะทำกับใคร ถ้าเราทำเพื่อเพิ่มผลตอบแทน ต้องพิจารณาว่าเรายอมรับความเสี่ยงได้มากหรือน้อย มีความรู้ความเข้าใจในสิ่งที่จะเข้าไปข้องเกี่ยวกล่าวคือ ตลาดของสินทรัพย์/ตัวแปรอ้างอิง (Underlying) และตลาดอนุพันธ์นั้นๆ หรือไม่ ซึ่งในปัจจุบันมีตลาดที่มีการซื้อขายสินทรัพย์/ตัวแปรอ้างอิงหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ ตราสารทุนหรือหุ้นที่ได้รับความนิยมสำหรับนักลงทุนสถาบันและรายย่อย อัตราดอกเบี้ย และอัตราแลกเปลี่ยน โดยสมมติถ้าเราเป็นคนที่ไม่ชอบความเสี่ยง และไม่ใช่ผู้ที่เชี่ยวชาญในตลาดน้ำมัน ไม่รู้ว่าปัจจัยอะไรที่มีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมัน เราก็ไม่ควรจะทำธุรกรรมอนุพันธ์อ้างอิงราคาน้ำมันเพื่อเก็งกำไร เพราะอาจจะหมดตัวโดยไม่รู้ตัว แต่ถ้าเรามีความเสี่ยงต่อราคาน้ำมัน เราอาจจะทำธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อการป้องกันความเสี่ยงได้ ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นผู้ผลิตน้ำมันที่จะขายน้ำมันจำนวน 1 ล้านบาร์เรลในอีก 1 เดือนข้างหน้า แต่ไม่แน่ใจเลยว่าราคาน้ำมันจะเป็นอย่างไร จะลดลงหรือเพิ่มขึ้นไปเท่าไร จึงต้องการป้องกันความเสี่ยงโดยทำอนุพันธ์เพื่อกำหนดราคาน้ำมันที่จะขายไว้ล่วงหน้าเป็นอัตราที่แน่นอน ซึ่งจะช่วยลดหรือปิดความเสี่ยงต่อราคาน้ำมันไม่ได้เป็นการก่อความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันเพิ่มเติม แต่ก็ต้องเลือกคู่สัญญาดี ๆ เพราะการทำธุรกรรมเพื่อป้องกันความเสี่ยง แม้ไม่ได้ก่อความเสี่ยงเพิ่มเติมต่อสินทรัพย์อ้างอิง แต่ก็มีความเสี่ยงที่คู่สัญญาอาจจะไม่ปฏิบัติตามสัญญาอยู่

ประเด็นที่สอง รู้ให้ทัน หรือรู้จักลักษณะของธุรกรรม นอกจากที่เราจะต้องรู้จักตัวเองทั้งในแง่ ภาระความเสี่ยงที่มีความต้องการหรือความชอบ และความรู้ความเข้าใจในตลาดสินทรัพย์อ้างอิงแล้ว เรายังต้องรู้จักลักษณะของธุรกรรม เพราะลักษณะของธุรกรรมนี้แหล่ะ เป็นตัวสำคัญที่จะกำหนดผลกำไร/ ขาดทุนที่จะได้รับเมื่อสินทรัพย์อ้างอิงเคลื่อนไหวไป ปัจจุบันอนุพันธ์มีการพัฒนาไปมากและมีลักษณะที่หลากหลายให้เราเลือกให้เหมาะกับความต้องการบริหารความเสี่ยงของเรา หรือเหมาะกับมุมมองของเรา เกี่ยวกับตลาดสินทรัพย์อ้างอิง ตั้งแต่อนุพันธ์พื้นฐาน เช่น forwards หรือ swaps จนถึงอนุพันธ์ที่มีความซับซ้อนมาก ถ้าเราเพิ่งมีประสบการณ์ไม่นานและเน้นความแน่นอน ก็ควรเลือกท้าอนุพันธ์ขั้นพื้นฐานในการป้องกันความเสี่ยงซึ่งมีให้เลือกหลายประเภทให้ตรงกับภาระความเสี่ยง เช่น Futures ที่มีรูปแบบของสัญญาแบบมาตรฐาน หรืออนุพันธ์ที่ซื้อขายนอกตลาดทางการ (OTC derivatives) ที่ให้ความยืดหยุ่นในการทำให้สอดคล้องกับความเสี่ยง (Risk profile) อาทิ ธุรกรรม Forwards แต่ถ้าเรามีประสบการณ์ในตลาดมาสักพัก มีมุมมองเกี่ยวกับตัวแปรอ้างอิงที่ชัดเจน ยอมรับความเสี่ยงได้บ้าง อาจเลือกทำอนุพันธ์ซับซ้อนหรือที่รู้จักกันในนาม Exotic derivative ได้ เช่น สัญญาซื้อขายล่วงหน้าบางอย่างที่มีต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ต่ำกว่าอนุพันธ์พื้นฐาน แต่เมื่อตัวแปรอ้างอิง (เช่น อัตราแลกเปลี่ยน USD/THB) เคลื่อนไหวไปแตะระดับหนึ่ง อนุพันธ์นั้นก็จะหายวับไปเหมือนนินจา ผู้ที่เลือกป้องกันความเสี่ยงด้วยอนุพันธ์ประเภทนี้ ก็ต้องรู้ให้เท่าทันว่าอาจจะมีวันหนึ่งที่อนุพันธ์ที่ใช้บริหารความเสี่ยงอาจจะหายไป และเราก็จะกลับมามีความเสี่ยงต่อตัวแปรอ้างอิงเช่นเดิมได้

เราควรจะเลือกลงทุนหรือบริหารความเสี่ยงให้สอดคล้องตามเป้าหมายและระดับความรู้ความชำนาญ หรือถ้าไม่รู้จักธุรกรรมดีพอก็อาจจะร้องขอให้ผู้เสนอขายอนุพันธ์อธิบายลักษณะธุรกรรม ผลตอบแทน ความเสี่ยงและข้อจ้ากัดของธุรกรรม รวมถึงวิธีการยกเลิกสัญญาก่อนกำหนดและค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่พึงระลึกไว้เสมอคือไม่มีอะไรที่มีแต่ด้านบวก ขอให้ผู้ลงทุนถามจนติดปากว่า “แล้วมี ความเสี่ยงอะไร” เช่นนี้แล้ว เราก็จะสามารถตัดสินใจลงทุนได้บนพื้นฐานข้อมูลที่มีความครอบคลุมครับ

บทความนี้อาจแนะน้าข้อควรรู้ในการทำอนุพันธ์ในเบื้องต้น ซึ่งผู้ที่สนใจท้าธุรกรรมอนุพันธ์เพื่อบรรลุเป้าหมายในการบริหารความเสี่ยงหรือการลงทุนก็ดี สามารถศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมทั้งในเชิงทฤษฎีจากหนังสือต่างๆ และเชิงปฏิบัติผ่านการลงมือท้าเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่กำหนดไว้ ขอให้ทุกท่านโชคดีในการทำอนุพันธ์ครับ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย