​Better Financing, Better Living: รู้จักการเงินการธนาคารยุคใหม่เพื่อโลกที่ยั่งยืน

“There’s a place in your heart. And I know that it is love.

And this place it was brighter than tomorrow.”


เมื่อ 30 ปีก่อน ไมเคิล แจ็คสัน ราชาเพลงป็อปผู้ล่วงลับได้ปล่อยเพลง Heal The World เป็นครั้งแรก เพลงป็อปเพื่อสังคมนี้กลายเป็นเพลงฮิตติดชาร์ตในหลายประเทศ และได้ขับกล่อมเนื้อเพลงแห่งความหวังเข้ากุมหัวใจผู้คนทั่วโลก ซึ่งหากตีความทางภาษาเพลง “พรุ่งนี้ที่ดีกว่า” ในเนื้อท่อนแรกก็คงหมายความถึง “โลกที่ยั่งยืนสำหรับมวลมนุษยชาติ” หรือโลกใบเดิมที่เพิ่มเติมความสามารถในการยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ในระยะยาว



ในปัจจุบัน แนวคิดโลกที่ยั่งยืนกลายเป็นความจริงที่งดงามกว่าคำเปรียบเปรยสวยหรูในบทเพลง และยังเป็นเป้าหมายร่วมของนานาประเทศ โดยประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ต่างเร่งบรรจุแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนในชื่อแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) เป็นสำคัญให้เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งประเทศไทยเองได้มีความตั้งใจที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจังแล้ว ภาครัฐเองได้ให้การรับรองเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ขององค์การสหประชาชาติที่ใช้ประเด็น ESG เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาโลกให้มีความสมดุลและยั่งยืน โดยมีการติดตามความคืบหน้าในการดำเนินงานเป็นระยะ ตลอดจนได้ให้สัตยาบันต่อความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแล้ว ส่วนภาคเอกชนเองก็ได้มีการปรับกระบวนการทำงานให้คำนึงถึง ESG มาต่อเนื่องเช่นกัน อาทิ การผนวกแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เข้ามาใช้ในการดำเนินงาน


เพียงความตั้งใจที่ได้ลงมือทำไปบ้างแล้วคงยังไม่พอ เนื่องด้วยในบริบทของไทยนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดและมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องได้รับความสนใจจากทุกภาคส่วน สังเกตจากผลกระทบจากปัญหา ESG ที่รุนแรงต่อเนื่อง ด้วยประเทศไทยถือเป็น 1 ใน 10 ของประเทศทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติมากที่สุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา [1] และหากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ยังไม่ได้รับการแก้ไข ไทยยังเสี่ยงต่อการเผชิญกับปัญหาขาดแคลนผลผลิตทางการเกษตรที่อาจลดลงถึง 50% ในอีกประมาณ 80 ปีข้างหน้าทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก [2] ซึ่งหากพิจารณาความสูญเสียที่ผ่านมา ปัญหาภัยแล้งในปี 2557 ได้พรากรายได้จากกระเป๋าของเกษตรกรไทยไปถึง 15,000 ล้านบาท [3] ซ้ำร้ายอุณหภูมิที่สูงขึ้นมีแนวโน้มที่จะบั่นทอนศักยภาพธุรกิจอาหารออร์แกนิกที่ไทยมีโอกาสเติบโตสูงอีกด้วย ไม่เพียงเท่านี้ ปัญหามลพิษอย่างฝุ่นละออง PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้อย่างไร้ความรับผิดชอบยังมีความเสี่ยงที่จะลดทอนความสามารถในการฟื้นฟูธุรกิจท่องเที่ยว โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวระยะยาวซึ่งเป็นกลุ่มที่น่าจับตามองหลังวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นอกจากนี้ ไทยยังต้องเผชิญกับแรงกดดันจากกลุ่มประเทศมหาอำนาจที่พร้อมท้าชนในสมรภูมิแห่งความยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นจากทางสหภาพยุโรปที่มีแผนจะบังคับใช้นโยบาย European Green Deal ที่จะเก็บภาษีคาร์บอนจากคู่ค้า [4] และข้อสรุปจากการประชุม G7 ที่จะผนวกเป้าหมายที่จะลดโลกร้อนและลดความสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างเศรษฐกิจ [5]


“There are ways to get there. If you care enough for the living.

Make a little space, Make a better place”


เมื่อปัจจัย ESG โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมเป็นทั้งความเสี่ยงและอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมถึงส่งผลกระทบถึงความสามารถทางเศรษฐกิจในระยะยาว ภาคการเงินจึงมีบทบาทสำคัญในฐานะตัวกลางทางการเงินที่มีศักยภาพในการบริหารความเสี่ยงด้าน ESG โดยมีกลไกในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนผ่านเครื่องมือทางการเงินต่าง ๆ เช่น การระดมทุนผ่านตลาดการเงิน การกระจายทรัพยากรทางการเงินผ่านกลไกของธนาคาร และการพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อบริหารความเสี่ยงของภาคประกันภัย


ด้วยเหตุนี้ หน่วยงานและผู้กำกับดูแลในภาคการเงินทั้ง ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) จึงไม่นิ่งนอนใจต่อปัญหาและความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และได้ผสานศักยภาพของแต่ละหน่วยงานร่วมกันจัดทำแนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสมและเป็นแนวทางให้ภาคการเงินมีทิศทางการดำเนินนโยบายด้านความยั่งยืนที่สอดคล้องกัน ตลอดจนบริหารจัดการความเสี่ยงจาก ESG โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ


สำหรับภาคธนาคาร “การธนาคารเพื่อความยั่งยืน” คือการใช้ศักยภาพของการธนาคารเพื่อจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดและบริหารความเสี่ยงด้าน ESG โดยผนวกประเด็น ESG เข้ามาอยู่ในทุกรายละเอียดของการทำธุรกิจ ด้วยการเปลี่ยนแปลงแนวคิดที่จดจ่ออยู่เพียงผลกำไรเชิงตัวเงินระยะสั้น และหันมาใส่ใจการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ที่คำนึงถึงการเติบโตระยะยาว การธนาคารเพื่อความยั่งยืนจึงไม่ใช่เพียงการปลูกต้นไม้รักษ์โลกแต่เป็นการปลูกแนวคิดความยั่งยืน ซึ่งจะเอื้อให้ ธพ. สามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมมาตรฐานที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมในกิจการของลูกค้าธนาคาร โดยในปัจจุบัน ธพ. ที่ดำเนินธุรกิจในไทยได้ตระหนักถึงความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อการดำเนินงานของธนาคารบ้างแล้ว อาทิ การเข้าเป็นสมาชิกดัชนีแห่งความยั่งยืน (Dow Jones Stability Indices: DJSI) การออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนและการออกพันธบัตรเพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ของธนาคารต่าง ๆ ซึ่ง ธปท. ในฐานะผู้กำกับดูแล ธพ. ได้สนับสนุนแนวนโยบายและการดำเนินงานด้านการธนาคารเพื่อความยั่งยืนอย่างเต็มความสามารถทั้งระดับประเทศและภูมิภาค อาทิ การลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกำหนดแนวทางการดำเนินกิจการธนาคารอย่างยั่งยืนในด้านการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบของสมาคมธนาคารไทยและสมาคมธนาคารนานาชาติ เพื่อสนับสนุนให้ ธพ. ผนวกปัจจัย ESG ในการดำเนินธุรกิจ และได้แสดงท่าทีสนับสนุนแนวคิดการธนาคารเพื่อความยั่งยืนในเวทีอาเซียนอย่างต่อเนื่อง


“Heal the world. Make it a better place

For you and for me, and the entire human race”


ด้วยความตั้งใจจริงที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืน ธปท. และหน่วยงานในภาคการเงินจึงมุ่งสู่การสร้างระบบนิเวศน์ที่เหมาะสม ซึ่งจะเป็นดั่งคำสัญญาว่าจะพัฒนาโลกใบนี้ให้ดียิ่งขึ้น โดยมุ่งใช้ศักยภาพของตัวกลางทางการเงินในการลดและบริหารความเสี่ยงของปัจจัยด้าน ESG และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าภาคการเงินการธนาคารที่มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยจะสามารถสนับสนุนเศรษฐกิจจริงให้เติบใหญ่อย่างยั่งยืนได้ดังเช่นต้นไม้ ซึ่งจะผลิดอกออกผลเป็นคุณภาพชีวิตที่ดีของมวลมนุษยชาติในอนาคต เพราะคงถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนจะมาร่วมสร้างพรุ่งนี้ที่ดีกว่าและสร้างโลกที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืนไปด้วยกัน


“If you care enough for the living

Make a better place for you and for me”


ผู้เขียน :
ธนิดา ลอเสรีวานิช
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน


อ้างอิง :
[1] Germanwatch: Global Climate Risk Index 2018: https://germanwatch.org/sites/germanwatch.org/files/publication/20432.pdf [2] Asian Development Bank: https://www.adb.org/news/unabated-climate-change-would-reverse-hard-earned-development-gains-asia-new-report[3] ปาฐกถา ดร. เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ: https://thaipublica.org/2020/11/thaipublica-forum2563-esg-sethaput/ [4] “อียู” ชู Green Deal นโยบายจัดการภาวะโลกร้อน, 9 พฤษภาคม 63, ประชาชาติธุรกิจ: https://www.prachachat.net/columns/news-461844
[5] The Group of Seven (G7) คือการประชุมกลุ่มชาติอุตสาหกรรมหลักของโลก 7 ประเทศได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และญี่ปุ่น สาระการประชุมเพิ่มเติมได้ที่: https://www.bbc.com/news/uk-politics-57456641 และ https://www.reuters.com/business/g7-agreements-tax-climate-recovery-2021-06-05/



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย