ศักยภาพทุนมนุษย์ของไทยเผชิญกับ “Triple-disruption” คือ การเข้าสู่สังคมสูงวัย เทคโนโลยีดิสรัปชั่น และผลกระทบจากวิกฤต COVID-19
ทุนเดิมด้านศักยภาพทุนมนุษย์ของไทยอยู่ที่ไหน? ข้อมูลจาก WEF (Future of Jobs Report 2020) และ Global Competitiveness Index 4.0 (CGI)[4] ชี้ให้เห็นว่าทุนมนุษย์ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการผลักดันให้ประเทศหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง โดยดัชนีด้านทุนมนุษย์ของไทยอยู่ในระดับกลางค่อนไปทางแย่ มีสัดส่วนแรงงานทักษะสูงเพียงร้อยละ 14 และมีสัดส่วนประชากรผู้ใหญ่ที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาเพียงร้อยละ 45.1 ซึ่งเป็นการศึกษาขั้นพื้นฐานใช้ต่อยอดเรียนรู้และพัฒนาทักษะที่ใช้ประกอบอาชีพในอนาคต เทียบกับประเทศที่มีระดับพัฒนาสูงจะมีดัชนีชี้วัดนี้สูงไปด้วย คือมีสัดส่วนสูงเกือบเต็มร้อย คือ อังกฤษ (99.7%) สวิตเซอร์แลนด์ (97.1%) เยอรมนี (96.3%) และสหรัฐอเมริกา (96.0%) นอกจากนี้ ไทยยังขาดทักษะสายวิชาชีพ มีดัชนี Vocational and technical skill-GTCI อยู่อันดับท้ายๆ คือ 89 จาก 119 ประเทศ[5] รวมถึงขาดแคลนอาชีพที่ต้องการทักษะทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีซึ่งมีความจำเป็นต่อการพัฒนาและสร้างนวัตกรรม แต่ไทยเรายังมีจุดดีคือ มีสัดส่วนของประชากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลโดยเปรียบเทียบอยู่ในระดับที่น่าพอใจคือ 54.9% ใกล้เคียงกับญี่ปุ่น (50.8%) อังกฤษ (61%) และสูงสุดคือ เนเธอร์แลนด์ (77.4%) และสิงคโปร์ (77%)
การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 เป็นตัวเร่งให้เกิดกระบวนการ “Double Disruption”[4] ส่งผลให้ผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนวิถีชีวิต รูปแบบการทำงาน WFH และพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านออนไลน์มากขึ้น ทำให้ธุรกิจ e-Commerce, Digital Service และ Food Delivery เติบโตอย่างรวดเร็ว และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเข้าสู่โลกดิจิทัล (Digital Transformation) ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์เร็วขึ้น ในรายงาน WEF (2020) ระบุว่าภายในปี 2025 คาดการณ์ว่าแรงงาน 85 ล้านตำแหน่งจะถูกทดแทนด้วยเครื่องจักร ขณะเดียวกันก็จะมีตำแหน่งที่ต้องใช้ทักษะใหม่ๆ ทำงานร่วมกับเครื่องจักร หุ่นยนต์ และอัลกอริทึมเกิดขึ้น 97 ล้านตำแหน่ง
ในกรณีของไทย ยังมีดิสรัปชั่นจากการเข้าสู่สังคมสูงอายุอีกด้านหนึ่งนับเป็น “Triple Disruption” ปัจจุบันไทยมีแรงงานอายุมากกว่า 60 ปี 4.6 ล้านคน หรือ 12% ของแรงงานทั้งหมด และเมื่อถึงปี 2583 ไทยจะเข้าสู่ “สังคมสูงวัยระดับสุดยอด” คือจะมีประชากรอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปถึง 31% ย่อมสร้างคลื่นลูกใหญ่ต่อตลาดแรงงานไทยทำให้ (1) ไทยต้องเร่งปรับยกระดับทักษะแรงงานเพื่อตอบสนองต่อจำนวนคนทำงานที่จะน้อยลงในอนาคตให้ทำงานอย่างมีผลิตภาพสูงขึ้น (2) การสร้างโอกาสทำอาชีพใหม่ๆ สำหรับแรงงานที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจาก COVID-19 กว่า 4.7 ล้านคน[6] และ (3) เร่งพัฒนาและต่อยอดทักษะอาชีพและนวัตกรรมที่ใช้ชุมชนเป็นฐานสำหรับกลุ่มแรงงานที่ย้ายกลับภูมิลำเนาโดยเฉพาะที่เป็นผู้ปกครองของนักเรียนยากจนมากที่สุดของประเทศกว่า 3 แสนคน[7] ซึ่งจะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ได้อีกทางด้วย
Reskill & Upskill เพื่อปิดช่องว่างทักษะให้สอดคล้องกับความต้องการในยุคดิจิทัล
จากผลการสำรวจภาคธุรกิจของไทย (WEF, 2020) พบว่าเทรนด์เทคโนโลยีดิสรับชันที่มาแรงสุด 5 อันดับแรก คือ Cloud computing (98% ของผู้ตอบแบบสอบถาม) Internet of Things (95%) Encryption & cyber security (90%) E-commerce and digital trade (87%) และ Big data analytics (85%) ชี้ให้เห็นถึงทักษะที่นายจ้างต้องการในปัจจุบันและคาดว่าจะยิ่งเพิ่มขึ้นในอนาคต จะเน้นทักษะทางด้านเทคนิคดิจิทัล เช่น การเขียนและออกแบบ/พัฒนาโปรแกรม การควบคุมการใช้งานเทคโนโลยีต่าง ๆ และทักษะสำคัญต่อการทำงานในอนาคต คือ ทักษะคิดวิเคราะห์และนวัตกรรม ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน ทักษะการเรียนรู้เชิงรุก ทักษะการคิดวิเคราะห์และคิดเชิงวิพากษ์ และทักษะความคิดสร้างสรรค์ เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์และคิดนอกกรอบ
ผลสำรวจยังชี้ว่าแรงงานไทยทั้งหมดต้อง Reskill โดยประมาณครึ่งหนึ่งต้องพัฒนาทักษะน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 เดือน และอีกครึ่งหนึ่งต้องพัฒนาทักษะตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป ในส่วนนี้ร้อยละ 20 ต้องเข้ารับการฝึกอบรมมากกว่า 1 ปีขึ้นไป และหากมาดูด้านสาขาอาชีพที่เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานมากหลังสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลาย จากทั้ง WEF (2020) และบริษัทจัดหางานเอกชน JobsDB JobBKK Jobthai[8] คือ งานด้านไอที งานด้านการวิเคราะห์ข้อมูล งานด้าน Big Data งานด้านวิศวกรรม งานด้านการขนส่ง และงานด้านการขาย สอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจ e-Commerce, Digital Service และ Food Delivery ที่กล่าวแล้วข้างต้น
การสำรวจวัดทักษะแรงงานผู้ใหญ่ (PIAAC) [9] เป็นมาตรฐานสากล ช่วยชี้เป้าและพัฒนาทักษะแรงงานให้ถูกฝาถูกตัว
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ได้ร่วมกับ World Bank ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และหน่วยงานภาคีเครือข่ายร่วมกันสำรวจภายใต้โครงการวิจัยทักษะและความพร้อมของกลุ่มประชากรวัยแรงงานของไทย (Adult skills assessment in Thailand) เพื่อช่วยชี้เป้าในการวางนโยบายส่งเสริมเติมเต็มทักษะที่จำเป็นช่วยแก้ปัญหาช่องว่างทักษะที่มีอยู่ในปัจจุบัน และตอบสนองต่อความต้องการแรงงานในอนาคตให้แก่แรงงานทุกช่วงวัย และยังเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนในการวางแผนอบรมพนักงาน/ลูกจ้าง และยังสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกข้อที่ 4 (UN SDG 4) เพื่อสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศ
จากประสบการณ์ในประเทศพัฒนาแล้ว ผลสำรวจฯ นี้จะถูกนำไปใช้พัฒนาทุนมนุษย์ให้พร้อมสำหรับการทำงานในศตวรรษที่ 21 เช่น ในอังกฤษ ผลสำรวจที่ได้นำไปสู่การพัฒนาจัดทำหลักสูตรออนไลน์ในที่ทำงานและชุมชนให้แรงงานสามารถศึกษาในสาขาวิชาที่เหมาะสมกับอาชีพและทักษะของตนเอง และในญี่ปุ่น สถาบันวิจัยนโยบายด้านการศึกษาแห่งชาติ (NIER) นำผลสำรวจมาพัฒนาทักษะด้าน ICT ในกลุ่มแรงงานผู้ใหญ่ และพัฒนาระบบเชื่อมโยงทักษะแรงงาน รายได้และการจ้างงาน
ชุดทดสอบวัดทักษะแรงงานผู้ใหญ่นี้จะวัดทักษะการอ่าน และการวัดทักษะทางอารมณ์และสังคมแก่แรงงานอายุ 15-64 ปี 9,000 คน 45 จังหวัด กระจายทุกภูมิภาค รวมถึงเขต EEC โดยจะเป็นการสำรวจรายครัวเรือน และรวมทั้งได้ข้อมูลลักษณะภูมิหลังของประชากรด้วย ซึ่งผลการวิจัยนี้จะทำให้สามารถนำผลมาเปรียบเทียบกับต่างประเทศ และเปรียบเทียบในระดับภาค เพื่อใช้ในการวางนโยบายทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ เพื่อให้การขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาทักษะแรงงานอย่าง “ตรงเป้า แบบถูกฝา ถูกตัว” และที่สำคัญการสำรวจนี้ยังศึกษาถึงแนวโน้มความต้องการตลาดแรงงานในอนาคตจากมุมมองด้านทักษะแรงงาน เพื่อดูว่าทักษะใดที่จำเป็นและทักษะใดไม่จำเป็นอีกต่อไป คาดว่าจะจัดทำการสำรวจลงพื้นที่ในปี 2021 นี้
ในโลกใหม่ที่อะไรๆ รอบตัวเราเต็มไปด้วยดิจิทัล แรงงานเกือบทุกคนในยุคหน้าต้องพัฒนาตัวเองให้สอดคล้องกับยุคดิจิทัล และเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอาชีพและเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อเป็นวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเพื่อให้รอดจากวิกฤตนี้และสร้างโอกาส Building Back Better ได้ในชีวิตการทำงานข้างหน้าได้ และภาครัฐควรเร่งพิจารณาการเปิดให้มีการนำเข้าแรงงาน/พนักงาน/ผู้บริหารที่มีสมรรถนะสูงและวิชาชีพด้านที่จำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะด้านดิจิทัลและด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขา STEM ในระยะข้างหน้า ฉบับหน้าเราจะนำเสนอแพลตฟอร์มการเรียนรู้พัฒนาทักษะในช่องทางต่างๆ ของทางภาครัฐและเอกชนเพื่อเป็นประโยชน์ต่อแรงงานและสาธารณชนต่อไปค่ะ/ครับ
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย
กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน