​แบงก์ชาติกับปฏิบัติการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจในช่วงโควิด 19

นายรณดล นุ่มนนท์รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 นักระบาดวิทยาแนะนำให้ประชาชนลดการติดต่อปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันแทบทุกอย่างในสังคมลง ซึ่งผลข้างเคียงคือกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เคยหมุนเร็วกลับหยุดนิ่ง มาตรการลดการแพร่ระบาดก่อให้เกิดผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้างและรุนแรง ปัจจุบันแม้จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญ แต่วิกฤตโควิดที่เริ่มจากปัญหาด้านสุขภาพกลายมาเป็นวิกฤตด้านเศรษฐกิจที่ท้าทายยิ่ง

ธนาคารแห่งประเทศ (ธปท.) ในฐานะธนาคารกลางของประเทศได้ดำเนินมาตรการในหลายด้านเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ และบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตโควิด 19 ซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มมาตรการ
กลุ่มที่ 1 มาตรการสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่อง (liquidity) ให้แก่ประชาชนและธุรกิจ หัวใจสำคัญของมาตรการกลุ่มนี้เพื่อดูแลปัญหาสภาพคล่องของคนแต่ละคน บริษัทแต่ละบริษัท ไม่ให้ลุกลามกลายเป็นปัญหาความสามารถในการชำระหนี้ (solvency) ของทั้งระบบเศรษฐกิจ ซึ่งมาตรการกลุ่มนี้ประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ
1) การเลื่อนกำหนดชำระหนี้ (debt payment holiday) สำหรับประชาชนและธุรกิจ โดยลูกหนี้กลุ่มต่างๆ อาทิ สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อ SMEs ที่ได้รับผลกระทบ สามารถเลื่อนกำหนดชำระหนี้ออกไปได้ 3-6 เดือน โดยไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต ในขณะที่บัตรเครดิตจะมีการปรับลดอัตราขั้นต่ำรายเดือนลง ธปท. หวังว่ามาตรการนี้จะช่วยให้ประชาชนและภาคธุรกิจมีเงินสดในมือเพิ่มเติมเพื่อรองรับรายจ่ายจำเป็น ทั้งในด้านการรักษาสุขภาพ อนามัย และการดูแลครอบครัว หรือค่าจ้างพนักงานในกรณี SMEs

นอกจากนี้ สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อรวมทั้งกลุ่มธุรกิจกับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ไม่เกิน 100 ล้านบาท จะได้รับสิทธิ์เป็นการทั่วไป สำหรับยอดหนี้ที่เกิดก่อนหน้านี้ที่จะไม่ต้องชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตาม พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563
ทั้งนี้ นับตั้งแต่เริ่มมาตรการ lockdown ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน ประชาชนรายย่อยที่ได้รับการผ่อนปรนให้สามารถเลื่อนกำหนดชำระหนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวม 15 ล้านคน คิดเป็นยอดหนี้รวม 6.6 ล้านล้านบาท




2) การปรับโครงสร้างหนี้ (debt restructuring) โดย ธปท. ตระหนักถึงความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่ต้นปี 2563 ก่อนที่โรคโควิด 19 ระบาด จึงปรับปรุงและผ่อนปรนกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้หลายเรื่อง อาทิ การปรับโครงสร้างหนี้รายที่สถานะปกติ ไม่กระทบประวัติข้อมูลเครดิต การปรับโครงสร้างหนี้สำหรับ NPL สามารถจัดชั้นปกติได้ใน 3 เดือน (ไม่ต้องรอ 12 เดือน) ไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินที่ไม่ได้ใช้ และสินเชื่อปล่อยใหม่สามารถจัดชั้นปกติได้ทันที เพื่อสร้างแรงจูงใจให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ โดยให้ความสำคัญกับ "การปรับโครงสร้างหนี้เชิงป้องกัน” (preemptive debt restructuring) ดังที่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ในอดีตเมื่อพูดถึงการแก้ไขปัญหาหนี้จะเน้นที่ "การแก้หนี้เสีย" หรือ "หนี้ที่เป็น NPL แล้ว” แต่ในรอบนี้จะเน้นการปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ที่สถานะปกติเบาตัว ลดโอกาสเป็นหนี้เสียในอนาคต



งานสำคัญอีกเรื่องในส่วนนี้ คือ การปรับรูปแบบการดำเนินการของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งกระทรวงการคลัง ธปท. และ บสย. ได้ร่วมกันศึกษาและปรับปรุงกระบวนการในหลายส่วน อาทิ ในขั้นตอนเบิกเงินชดเชย เดิมสถาบันการเงินต้องฟ้องลูกหนี้ก่อน บสย. ถึงจะจ่ายเงินชดเชยให้ แต่ตามแนวใหม่ ได้ปรับให้ใช้หนังสือ notice แทนได้ เพื่อลดผลกระทบจากการที่ SMEs ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยไม่จำเป็น และการปรับปรุงรูปแบบการค้ำประกันของ บสย. ที่เดิมสถาบันการเงินสามารถเคลมความเสียหายในแต่ละรายได้ทั้ง 100% ปรับมาเป็นสถาบันการเงินร่วมรับส่วนสูญเสียตั้งแต่บาทแรก ซึ่งจะช่วยให้แรงจูงใจของผู้ที่เกี่ยวข้องโดยรวมสมดุลขึ้น รวมทั้งจะช่วยให้สถาบันการเงินมีแรงจูงใจปรับโครงสร้างหนี้กับลูกหนี้มากขึ้นด้วย

สำหรับช่วงโควิด 19 ธปท. คาดหวังว่า ในช่วงที่มีการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้ออกไป 3-6 เดือน สถาบันการเงินจะใช้โอกาสนี้ทำงานร่วมกับลูกหนี้อย่างใกล้ชิดเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ และปรับแผนการผ่อนชำระหนี้ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง นอกจากนี้ ธปท. ได้สั่งการให้สถาบันการเงินตั้งทีมพิเศษขึ้นมาเป็นการเฉพาะเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้และดูแลลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

3) การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ soft loan เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนที่ช่วยเพิ่มสภาพคล่องแก่ภาคธุรกิจ เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลัง ธปท. และสถาบันการเงินให้ความสำคัญและผลักดันผ่านโครงการต่าง ๆ โดยตั้งแต่ต้นปี 2563 มีสินเชื่อใหม่ที่ปล่อยเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจรวมประมาณ 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งมาจาก 3 ส่วนสำคัญ คือ (1) soft loan ของ ธปท. 5.8 หมื่นล้านบาท (2) soft loan ของธนาคารออมสิน 5.5 หมื่นล้านบาท และ (3) สินเชื่อของสถาบันการเงินและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (SFIs) อื่นที่ค้ำประกันโดย บสย. อีก 3.1 หมื่นล้านบาท



สำหรับสินเชื่อ soft loan ของ ธปท. ประมาณ 5.8 หมื่นล้านบาท ที่ปล่อยออกไปครอบคลุมลูกหนี้ 35,217 ราย เฉลี่ยต่อรายอยู่ที่ 1.65 ล้านบาท โดย 71% เป็น SMEs รายเล็กในต่างจังหวัดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยสถาบันการเงินที่ยื่นคำขอเข้ามามากที่สุด คือ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และธนาคารไทยพาณิชย์


โครงการสินเชื่อ soft loan ของ ธปท. กำหนดวัตถุประสงค์ไว้ 2 เรื่อง คือ (1) ช่วยเยียวยาผู้ประกอบการ SMEs ให้มีสภาพคล่องในสภาวะเช่นปัจจุบันนี้ และ (2) ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ในช่วงหลังวิกฤตโควิดที่เศรษฐกิจเริ่มฟื้นดีขึ้น ให้สามารถขยายกำลังการผลิตและซื้อวัตถุดิบเพิ่มเติมได้ ดังนั้นจากวงเงินรวม 5 แสนล้านบาท แม้ว่าในช่วงต้นจำนวนสินเชื่อที่ออกไปอาจจะต่ำกว่าที่วางแผนไว้อยู่บ้าง ส่วนหนึ่งจากสถาบันการเงินบางแห่งมีสภาพคล่องสูงจึงใช้สภาพคล่องที่มีปล่อยสินเชื่อก่อน แต่คาดว่าระยะต่อไปจะมีความสนใจใช้วงเงินสินเชื่อ soft loan ของ ธปท. มากขึ้น



อย่างไรก็ดี ธปท. ได้กำชับและติดตามให้สถาบันการเงินเร่งช่วยเหลือลูกหนี้ SMEs ที่ต้องการสินเชื่อให้เร็วที่สุด และขอความร่วมมือให้สถาบันการเงินสื่อสารไปยังสาขาไม่ให้คิดค่าธรรมเนียมเพิ่มเติม หรือบังคับขายประกันที่ไม่จำเป็น นอกจากนี้ สำหรับ SMEs ที่ไม่สามารถขอ soft loan ธปท. ได้กำชับให้สถาบันการเงินพิจารณาให้ความช่วยเหลือ SMEs ตามแนวทางของแต่ละสถาบันการเงิน

กลุ่มที่ 2 มาตรการดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมเพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาคธุรกิจ ซึ่งมาตรการกลุ่มนี้ประกอบด้วย 2 ส่วน

1) คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยลงมาอยู่ที่ 0.5 % ต่อปี ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจการเงินของประเทศไทย โดยในแถลงข่าว กนง.ระบุวัตถุประสงค์ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายว่า "อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจะสนับสนุนสภาพคล่องและการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ" โดย ธปท. ถือเป็นธนาคารกลางแห่งแรก ๆ ของโลกที่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลังเกิดวิกฤตโควิด 19 ไม่นาน ดร.วิรไท ผู้ว่าการ ธปท. ได้กล่าวถึงสถานการณ์ช่วงนั้นว่า “แม้ตอนนั้นยังไม่ใช่จุดพีคแต่เราต้องรีบตั้งรับ เพราะหากช้าเกินไป การแก้ไขจะทำได้ยากในอนาคต"

ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563 กนง. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% รวม 0.75% นอกจากนี้ ธปท. ยังได้ปรับลดอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ อีก 0.23% เพื่อให้สถาบันการเงินสามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยได้เพิ่มเติม ทำให้โดยรวมในช่วงโควิด 19 ธปท. ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงประมาณ 1 % การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของ ธปท. ส่งผลต่อเนื่องทำให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ MLR MOR MRR ลดลง 0.62-0.95% จากช่วงต้นปี ทำให้ประชาชนที่มีเงินกู้ได้รับประโยชน์จากภาระดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลง



2) ธปท. ได้สั่งการให้สถาบันการเงินปรับปรุงการคิดดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมใน 3 เรื่องสำคัญ กล่าวคือ 1. ค่าปรับไถ่ถอนสินเชื่อก่อนกำหนด 2.ค่าธรรมเนียมบัตรเครดิตและบัตรเดบิต และ 3. ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้

เรื่องที่ถือเป็นการปรับครั้งใหญ่ที่สำคัญมาก คือ การปรับปรุงวิธีการคิดดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ ซึ่งเดิมจะคำนวณบนฐานของ "เงินต้นคงเหลือทั้งหมด" ในขณะที่วิธีใหม่จะคิดบนฐานของ "เงินต้นในงวดที่ผิดนัดจริง" เท่านั้น โดยจะไม่รวมงวดในอนาคตที่ยังมาไม่ถึงและยังไม่มีการผิดนัดจริงเหมือนวิธีเดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา สถาบันการเงินได้เริ่มใช้วิธีการคำนวณแบบใหม่แล้ว การปรับปรุงในครั้งนี้ช่วยยกระดับให้แนวปฏิบัติของไทยในเรื่องนี้เป็นธรรมมากขึ้นและสอดคล้องแนวปฏิบัติของนานาประเทศ รวมทั้งจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยของประชาชนจำนวนมากที่ในช่วงวิกฤตโควิด 19 อาจจะไม่สามารถจ่ายค่างวดได้ครบเพราะรายได้ลดลงมาก

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ถ้าเรื่องนี้ไม่ได้รับการแก้ไข สถานการณ์วิกฤตโควิด 19 ในวันนี้จะแย่กว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมาก เพราะการพลาดการจ่ายค่างวดเพียงงวดใดงวดหนึ่ง ก็มีโอกาสสูงที่ลูกหนี้จะไม่สามารถชำระหนี้คืนได้ และการปรับโครงสร้างหนี้ก็จะมีโอกาสสำเร็จยากขึ้นมากด้วย เพราะเจ้าหนี้จะมีแรงจูงใจที่ปรับโครงสร้างหนี้น้อยลง เพราะแม้การเจรจาจะไม่สำเร็จ เจ้าหนี้ก็ยังมีรายได้จากดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ค่อนข้างสูง