​มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน

วิกฤติโควิด ทำให้ลูกหนี้จำนวนมากตกอยู่ในวังวนของปัญหาหนี้สิน บางคนดิ้นรนหนีการติดตามทวงถามของเจ้าหนี้ ขณะที่ลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่พยายามหาทางกลับมาเจรจากับเจ้าหนี้อีกครั้ง สะท้อนจากจำนวนลูกหนี้ที่ลงทะเบียนงานมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล โดยการสนับสนุนของธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานศาลยุติธรรมและกรมบังคับคดี ภายใต้สโลแกน “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ที่ตลอดเวลา 70 วัน (14 กุมภาพันธ์-24 เมษายน 2564) มีผู้สนใจสมัครเข้ามาเจรจามากถึง 260,000 คน ทำให้เราชื่นใจว่า คนไทยมีสปิริตของการเป็นลูกหนี้ที่ดีคือ “มีหนี้ต้องแก้ไข” แต่เพื่อให้ลูกหนี้มีแนวทางที่จะ “เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ได้สำเร็จ บทความนี้จึงพยายามหาคำตอบว่า ลูกหนี้จะ “เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างยั่งยืนได้อย่างไร?”

Happy young asian woman buying stuff from online retail and paying bills via banking application. Girl looking at credit card in her hand and fill data to mobile phone to complete purchese order..

คำตอบคือ ทำบัญชี-มีเป้า-เก็บ (เงิน) ให้อยู่-ลดให้ได้-ฝืนเข้าไว้ กล่าวคือ

ทำบัญชี นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญมาก เพราะจะทำให้เรารู้ข้อมูลการเงินของตัวเอง เพื่อรู้สถานการณ์ ประเมินโอกาส และจุดอ่อนของตัวเองได้ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น

- รายการหนี้สินมีเท่าไร? อะไรบ้าง? จ่ายวันไหน? ดอกเบี้ยเท่าไร? ใช้อะไรค้ำประกัน?

- รายรับมีเท่าไร? พอไหม? จะมีทางใดที่จะหารายได้เสริมอีกหรือไม่?

- รายจ่ายมีเท่าไร? อะไรบ้าง? ลดได้อีกไหม? ใช้ชีวิตสมถะลงได้อีกหรือไม่?

มีเป้า เป็นหมุดหมายที่เราอยากทำให้สำเร็จ เพื่อเพิ่มพลังความมุ่งมั่น ซึ่งแต่ละคนอาจแตกต่างไป ขณะที่บางคนอาจไม่รู้ว่าจะปักหมุดตรงไหน จากประสบการณ์ที่ผู้ใหญ่หลายท่านที่ประสบความสำเร็จในชีวิตสอนพวกเราเสมอว่า หากจะปักหมุดหมายชีวิตให้ลองนึกว่า อยากเห็นชีวิตตัวเองตอนแก่เป็นอย่างไร? และดูว่า การดำเนินชีวิตของเราในปัจจุบัน สนับสนุนให้เราก้าวสู่หมุดหมายที่ต้องการหรือไม่? ถ้าไม่ใช่ก็ให้ปรับวิธีการดำเนินชีวิตให้สอดคล้องกับหมุดที่ปักไว้

ตัวอย่างเช่น มนุษย์เงินเดือนท่านหนึ่ง ตั้งใจว่าอายุ 60 ปี อยากมีเงินใช้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องพึ่งใคร เชื่อไหมว่า ตลอดชีวิตการการทำงาน ท่านขึ้นรถเมล์มาทำงานทุกวัน ไม่กินเหล้า-สูบบุหรี่ ห่อข้าวจากบ้านมาทาน ถ้าจะสังสรรค์ก็ต่อเมื่อต้องไปกับที่ทำงาน ทุกเย็นและสุดสัปดาห์ท่านใช้เวลาหลังเลิกงานทำสวน ทำให้สุขภาพแข็งแรง แถมผลผลิตที่เหลือก็นำมาขายให้เพื่อนร่วมงาน ... ท่านชอบดำน้ำ ก็ได้แต่ศึกษา จนกระทั่งอายุ 45 ปี เงินเก็บครบ 20 ล้านบาท ท่านนำดอกเบี้ย-เงินปันผลมาใช้ออกทริปไปดำน้ำในที่ต่าง ๆ ทั่วโลก จนวันนี้ ท่านได้ทุกอย่างตามเป้าหมาย มีเงิน-ได้เที่ยว-สุขภาพดี

เก็บ (เงิน) ให้อยู่ ต้องใช้เวลาปรับทัศนคติพอสมควร จึงต้องยึดหมุดหมายข้างต้นไว้ให้ดีว่า “อยากมีชีวิตแบบไหนในอนาคต?” และกำหนดเป้าหมายการเงินระยะใกล้-สั้น-กลาง-ยาว เพื่อสนับสนุนแผนใหญ่ของชีวิต โดยหลักสำคัญคือ เมื่อได้เงินเดือนแล้วต้องหักเงินเก็บก่อนกินใช้ ไม่ใช่เก็บจากที่เหลือกินใช้ เช่น

- ระยะใกล้ 0-3 เดือน จะให้เปลี่ยนจากคนไม่เคยออมมาเป็นคนประหยัดอดออมคงไม่ง่ายนัก จึงต้องค่อยๆ ปรับทัศนคติตัวเอง ผ่านการมองปัญหาชีวิตซึ่งเกิดจากการไม่มีเงินออมที่ผ่านมาแล้วค่อย ๆ มาสร้างเป็นบทเรียน เพื่อให้เกิดพลังขับเคลื่อนจากภายใน

- ระยะสั้น 3 เดือน-2 ปี ควรแบ่งเงินหลังหักภาระต่าง ๆ เป็นเงินออมเพื่อเหตุฉุกเฉิน เงินก้อนนี้จะทำให้เรามั่นใจในการดำเนินชีวิตมากขึ้น เพราะถ้ามีเหตุอะไรเกิดขึ้นในครอบครัว เราสามารถปกป้องตัวเองได้ระดับหนึ่ง เงินก้อนนี้จึงควรทยอยเก็บเป็นเงินฝากประจำทุกเดือน หรือตัดบัญชีไว้เลย จะได้ไม่ปะปนกับเงินที่เอาไว้ใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ซึ่งตำราบางเล่มแนะนำว่า ควรมีอย่างน้อยเท่ากับเงินเดือน 2 เดือนที่เรารับอยู่ในปัจจุบัน

- ระยะปานกลาง 2-10 ปี เป็นเงินออมเพื่อสะสมทรัพย์ในอนาคต เช่น ทำธุรกิจเล็ก ๆ ลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือทองคำ เป็นต้น

- ระยะยาว 10 ปีขึ้นไป ทยอยเก็บไปเรื่อย ๆ เป็นเงินก้อนในอนาคตหลังเกษียณอายุ เช่น การซื้อประกันแบบออมทรัพย์ ซึ่งจะได้ทั้งเงินก้อนและประกันหากเกิดอุบัติเหตุชีวิต เป็นต้น

การเก็บเงินอาจเป็นเรื่องยาก แต่ยากที่สุดก็แค่ก้าวแรก ขอให้นึกเสมอว่า “หนทางที่ว่ายาว แค่เริ่มก้าวก็สั้นลง”

ลด (ค่าใช้จ่าย) ให้ได้ ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ต้องทำความตกลงกันในครอบครัวให้เข้าใจตรงกันว่า สถานะการเงินในครอบครัวเป็นอย่างไร ทำให้ต้องลดค่าใช้จ่าย เช่น จากเดิมชอบกินอาหารนอกบ้าน อาจทำอาหารง่าย ๆ กินในบ้านให้บ่อยขึ้น หรือเดิมออกทริปเดือนละครั้ง อาจลดเหลือปีละ 2 ครั้ง เป็นต้น นอกจากนี้ การสร้างความมีส่วนร่วมในครอบครัว ไม่เพียงจากทำให้ทุกคนพร้อมใจกันลดค่าใช้จ่าย แต่ยังสร้างภูมิคุ้มกันทางการเงินแก่ลูกในระยะยาวด้วย

ฝืนเข้าไว้ นับเป็นเรื่องท้าทายของ “สายชอป” มาก บางคนติดชอปปิงจนเสมือนเป็นยาเสพติด (ทางใจ) ชนิดหนึ่ง เครียดเมื่อไหร่ต้องชอป สุดท้ายยังไม่ทันได้ใช้ของที่ซื้อก็ชอปใหม่แล้ว การจะดัดนิสัยสายชอปอาจต้องเริ่มต้นให้จัดระเบียบบ้านตัวเองครั้งใหญ่สักครั้ง ก็จะเห็นสารพัดสินค้าที่ชอปมาแล้วไม่ได้ใช้ และมีของเหลือใช้พร้อมบริจาคเป็นจำนวนมาก สุดท้ายถ้ากลับมาทบทวนดี ๆ ชีวิตเรามีของจำเป็นไม่กี่รายการ ก็ดำรงชีวิตในระดับพอเพียงได้แล้ว ... เมื่อคิดได้แบบนี้ ก็จะทำให้เราคิดมากขึ้นก่อนจะซื้อของเข้าบ้าน แต่ถ้ายังวนเวียนกับความอยากซื้อ ถ้าได้ลองเลื่อนการตัดสินใจซื้อออกไป สุดท้ายความอยากก็จะหายไปอย่างรวดเร็ว เพราะสินค้าส่วนใหญ่ ไม่มีก็ไม่เสียหาย

สุดท้ายนี้ สิ่งที่อยากจะย้ำกับลูกหนี้ทุกคนคือ “มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ซึ่งทุกคนทำได้แค่ “ทำบัญชี-มีเป้า-เก็บ (เงิน) ให้อยู่-ลด (ค่าใช้จ่าย) ให้ได้-ฝืนเข้าไว้” แล้วดีเอง


ผู้เขียน :
ลลิตา แซ่กัง
ฝ่ายคุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน
สุภร ดีพันธ์
ฝ่ายตรวจสอบ 1


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย