นางสาวสุชานัน จุนอนันตธรรม
นายรณชาติ ผาติหัตถกร
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
สงครามการค้าที่ประทุขึ้นเมื่อปีก่อนได้สร้างบรรยากาศการค้าที่ไม่เป็นมิตรกับการส่งออกของหลายประเทศ และส่งผลให้ กระแสการหมุนเวียนสินค้าในโลก (Global flow of traded goods) ปรับเปลี่ยนไปในหลายรูปแบบ ซึ่งมีนัยทั้งบวกและลบต่อสถานการณ์การส่งออกของหลายประเทศ กล่าวคือ หลายประเทศรวมถึงไทยได้รับผลบวกจากการส่งออกไปสหรัฐฯ แทนจีนมากขึ้น ขณะที่การส่งออกของไทยและหลายประเทศไปจีนหดตัวจากการที่ประเทศเหล่านั้นอยู่ในห่วงโซ่อุปทานของจีน นอกจากนี้ ยังมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่ไม่ได้รับการพูดถึงนัก คือ การค้าขายระหว่างจีนและอาเซียนที่เพิ่มขึ้นแทนที่สหรัฐฯ (Export diversion) ซึ่งน่าจะสร้างผลกระทบที่มีนัยต่อการส่งออกของไทยเช่นกัน เพราะล่าสุดไทยส่งออกไปอาเซียนหดตัวมากกว่าไปจีนซึ่งเป็นประเทศยักษ์ใหญ่ในสงครามการค้าครั้งนี้เสียอีก บทความนี้จึงวิเคราะห์เพื่อให้เข้าใจถึงการเบนเข็มการส่งออกของจีนมายังตลาดอาเซียนว่าจะเป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เห็นการส่งออกของไทยไปอาเซียนหดตัวมากในช่วงที่ผ่านมาหรือไม่และมีผลกระทบขนาดไหน
ในช่วงปีที่ผ่านมาบทบาททางการค้าของจีนกับภูมิภาคอาเซียนเพิ่มขึ้นชัดเจน โดยมาจากการเบนเข็มการส่งออกของจีนจากเดิมที่ไปสหรัฐฯ เปลี่ยนเป็นไปที่อาเซียน มากกว่าที่อาเซียนสามารถทดแทนส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ในจีน จากข้อมูลการค้าของจีน(มูลค่าส่งออกและนำเข้า)พบว่าจีนค้าขายกับอาเซียนเพิ่มขึ้นจนทำให้อาเซียนแซงหน้าสหรัฐฯ มาเป็นคู่ค้าอันดับ 2 ของจีนได้ มาจากการที่จีนส่งออกไปอาเซียนเพิ่มขึ้นมากกว่าการที่จีนนำเข้าจากอาเซียน กล่าวคือ แม้จีนจะนำเข้าจากสหรัฐฯ ลดลงกว่า 26%ใน 9 เดือนแรกของปี 2562 แต่ก็ไม่ได้นำเข้าจากอาเซียนเพิ่มขึ้นมากนัก โดยขยายตัวเพียง 1%สะท้อนว่าอาเซียนไม่สามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ในจีนได้ ในทางกลับกัน การส่งออกของจีนไปอาเซียนที่ขยายตัวได้ถึง 9%สวนทางกับที่จีนส่งออกไปสหรัฐฯ ที่หดตัว 11% โดยจีนส่งออกไปเวียดนามและมาเลเซียเพิ่มขึ้นกว่าคู่ค้าอื่น โดยเฉพาะในสินค้าประเภทเดียวกับที่จีนเคยส่งออกไปสหรัฐฯ อาทิ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสะท้อนการเบนเข็มของการส่งออกของจีนจากสหรัฐฯ มาอาเซียนได้ระดับหนึ่ง
คำถามถัดไป คือ ไทยซึ่งมีการพึ่งพิงอาเซียนสูงจะเสียส่วนแบ่งการตลาดให้จีนหรือไม่? หากเปรียบเทียบพัฒนาการการนำเข้าของอาเซียนจากจีนและไทย เราจะเห็นว่ามีช่องว่างที่ห่างกันมากขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือ อาเซียนนำเข้าจากจีนมากขึ้น ขณะที่นำเข้าจากไทยน้อยลง โดยมีสินค้าหลายชนิดที่ไทยเสียส่วนแบ่งตลาดให้จีน คิดเป็น 47% ของการส่งออกจากไทยไปอาเซียน (หรือ 12%ของส่งออกรวมของไทย) อีกทั้งยังมีส่วนถึง 2 ใน 3 ของการหดตัวของการส่งออกไทยไปอาเซียนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา
นอกจากนี้ พบว่าการเสียตลาดอาเซียนกระจุกอยู่ในสินค้ากลุ่มเครื่องจักร อาหาร ปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า (โปรดดูรูป) เนื่องจากเป็นสินค้าที่จีนมีความสามารถในการแข่งขันมากกว่าหรือไล่เลี่ยกับไทย โดยกรณีเครื่องปรับอากาศ จีนครองแชมป์สัดส่วนตลาดโลกที่ 35% ในปี 2561 ขณะที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับสอง เช่นเดียวกับรถยนต์นั่งที่ไทยและจีนเป็นผู้ส่งออกในอันดับที่ใกล้เคียงกันคือ อันดับที่ 17 และ 19 ของโลกตามลำดับ ดังนั้น เมื่อยักษ์ใหญ่อย่างจีนส่งออกไปสหรัฐฯ ไม่ได้ จึงส่งออกมาที่ตลาดอาเซียนและสามารถแย่งส่วนแบ่งตลาดจากไทยได้ โดยทั้งสองสินค้านี้ไทยพึ่งพาตลาดอาเซียนเป็นอันดับหนึ่ง ดังนั้น การเบนเข็มการค้าของจีนมายังอาเซียนมากขึ้นนี้น่าจะทำให้ไทยได้รับผลกระทบพอสมควร ด้านการส่งออกข้าว ไทยครองส่วนแบ่งตลาดโลกเหนือจีน แต่กลับเสียส่วนแบ่งในตลาดอาเซียนให้กับจีน โดยอาจมาจากสาเหตุอื่นนอกเหนือจากสงครามการค้า เนื่องจากจีนมีการระบายสต๊อกข้าวในระยะหลัง อย่างไรก็ดี แม้ส่วนแบ่งการส่งออกข้าวของไทยในตลาดอาเซียนจะยังสูงอยู่ แต่ถือเป็นสินค้าที่ควรติดตามเช่นกัน เนื่องจากต้องเผชิญกับความท้าทายหลายด้านรวมถึงเรื่องการแข่งขันด้านราคาจากคู่แข่งสำคัญ
แนวโน้มการรุกตลาดอาเซียนของจีนดังกล่าวอาจเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ใช่เพียงผลของสงครามการค้าเพียงอย่างเดียว แต่ยังสะท้อนความเชื่อมโยงในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นจากอานิสงส์ของข้อตกลงทางการค้าระหว่างอาเซียนและจีนและห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่อดีต เห็นได้จากเขตการค้าเสรี (ASEAN-China FTA) ระหว่างอาเซียนและจีนที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งเป็น FTA ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากเขตเศรษฐกิจยุโรป (EEA) และข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ (NAFTA) โดยปัจจุบัน 90% ของสินค้าที่จีนค้าขายกับอาเซียนอยู่ภายใต้ 0%-Tariff treatment ซึ่งรวมถึงสินค้าเกษตรบางชนิด รถยนต์นั่ง และเครื่องปรับอากาศ สอดคล้องกับแนวโน้มการเข้ามาตีตลาดของสินค้าจีนดังกล่าวที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ล่าสุดยังมีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งถือเป็นอีกแรงขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยสร้างรากฐานความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มประเทศในภูมิภาคและเปิดถนนของจีนสู่อาเซียนได้มากขึ้นในระยะต่อไป
บทบาทของจีนในภูมิภาคอาเซียนโดยเฉพาะในแง่ความเชื่อมโยงทางการค้าจะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป จากทั้งการรวมตัวทางเศรษฐกิจระหว่างกันและสงครามการค้าที่ยังคงดำเนินต่อไปในทิศทางที่เอื้อให้เกิดการเบนเข็มทางการค้าจากจีนมาอาเซียนมากขึ้น สภาพแวดล้อมทางการค้าดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแรงกดดันต่อการส่งออกไทย แม้วัฏจักรเศรษฐกิจการค้าโลกจะมีทิศทางฟื้นตัวกลับมาก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงควรให้ความสำคัญกับตลาดอาเซียนไม่ใช่แค่ในฐานะคู่แข่งในการรับการลงทุนจากจีนอย่างเดียว แต่ในฐานะคู่ค้าสำคัญของไทยด้วย โดยควรให้น้ำหนักกับการเร่งรักษาและขยายฐานตลาดส่งออกสำคัญเดิมของไทยอย่างอาเซียนเพื่อนำพาภูมิภาคให้ฝ่ามรสุมสงครามการค้าไปด้วยกัน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย