นายสุพริศร์ สุวรรณิก
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ภาครัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จะไม่สามารถบรรลุ เป้าหมายได้อย่างยั่งยืน หากภาคครัวเรือนไม่สามารถรักษาวินัยทางการเงินได้ เพราะสาเหตุสำคัญของการก่อหนี้และการมีปัญหาชำระหนี้ของครัวเรือน ล้วนเกิดจากรายจ่ายที่ไม่เพียงพอกับรายได้ โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและเกินฐานะ หรือขาดการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมในระยะยาว
กว่าครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา หนี้ครัวเรือนไทยตกเป็นประเด็นที่หน่วยงานต่างๆ ให้ความสนใจอย่าง ใกล้ชิด เนื่องจากหนี้ที่เร่งตัวขึ้นมากอันมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น มาตรการรถคันแรกที่ทำให้เกิดการเร่งกู้เพื่อซื้อรถยนต์ ภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเป็นเวลานาน รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากสถาบันการเงินในระบบที่มากขึ้น เป็นต้น ส่งผลให้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP อยู่ในระดับสูง สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ครัวเรือนไทยสะสมความเปราะบางทางการเงินและอ่อนไหวต่อปัจจัยเสี่ยงต่างๆ มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งและเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด แม้สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP จะทยอยปรับลดลงอย่างช้าๆ ตั้งแต่ต้นปี 2559 แล้วก็ตาม
ในฐานะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศ จึงได้ติดตามและวิเคราะห์ความเสี่ยงของหนี้ครัวเรือนอย่างใกล้ชิด โดยอาศัยข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง ทั้งสินเชื่อภาคครัวเรือนจากระบบสถาบันการเงิน รวมถึงข้อมูลเชิงลึกรายครัวเรือนจากแบบสำรวจต่างๆ เช่น แบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือ Townsend Thai Survey ของศาสตราจารย์ Robert M. Townsend เป็นต้น อย่างไรก็ดี เพื่อให้เข้าใจฐานะ พฤติกรรม และทัศนคติทางการเงินของครัวเรือนไทยในเชิงลึก รวมถึงสาเหตุและผลกระทบของปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยได้มากยิ่งขึ้น ธปท. จึงร่วมกับบริษัทเดอะนีลเส็นคอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด (The Nielsen Company) ดำเนินการสำรวจศึกษาครัวเรือนตัวอย่างจำนวน 1,500 ครัวเรือนทั่วประเทศในระหว่างเดือน ก.ค. – ส.ค. 2560 ภายใต้ชื่อ “โครงการสำรวจศึกษาปัญหาหนี้สินของภาคครัวเรือนไทยและนัยเชิงนโยบาย” หรือ “BOT-Nielsen Household Financial Survey”
การศึกษานี้มุ่งวิเคราะห์ความแตกต่างของพฤติกรรมการใช้จ่ายระหว่างกลุ่มครัวเรือนต่างๆ ได้แก่ 1) กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้กับไม่มีหนี้ และ 2) กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหาในการชำระหนี้ กับกลุ่มที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหา ทั้งนี้ มีหลายปัจจัยที่กระทบต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน เช่น รายได้ สินทรัพย์ทางการเงิน จำนวนสมาชิกในครัวเรือน อาชีพของสมาชิกในครัวเรือน เป็นต้น ดังนั้น การวัดความแตกต่างของพฤติกรรมการใช้จ่ายระหว่างกลุ่มครัวเรือนอย่างถูกต้อง จำเป็นต้องควบคุมปัจจัยต่างๆ ให้คงที่ (ไม่ใช่เพียงแค่การหาค่าเฉลี่ยของ 2 กลุ่มแล้วเปรียบเทียบกัน) ซึ่งสามารถทำได้ด้วยวิธีการทางเศรษฐมิติ (Econometrics) หรืออธิบายอย่างง่ายๆ ได้ว่า หากเรามีครัวเรือน 2 กลุ่มที่มีรายได้เท่ากัน มีสินทรัพย์ทางการเงินเท่ากัน อยู่ในพื้นที่เดียวกัน มีอาชีพเหมือนกัน จำนวนสมาชิกในครัวเรือนเท่ากัน ฯลฯ แต่แตกต่างกันที่ความเป็นหนี้หรือการมีปัญหาในการชำระหนี้แล้ว ทั้ง 2 กลุ่มนี้จะยังคงมีพฤติกรรมการใช้จ่ายอันส่งผลต่อวินัยทางการเงินที่แตกต่างกันหรือไม่ ซึ่งได้ข้อสรุปที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
1) ครัวเรือนที่มีหนี้ขาดวินัยทางการเงินจริงหรือไม่? ผลการศึกษาพบว่า เมื่อควบคุมปัจจัยต่างๆ แล้ว กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีหนี้อย่างมีนัยสำคัญ (สูงกว่า 7%) ทั้งค่าใช้จ่ายประจำ เช่น ค่าโทรศัพท์ (สูงกว่า 140%) ค่าใช้จ่ายในการเดินทาง (สูงกว่า 405%) และค่าใช้จ่ายไม่ประจำ เช่น ค่าซ่อมรถ (สูงกว่า 178%) ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนการให้ความสำคัญกับความมีหน้ามีตาในสังคมมากกว่า เพราะเมื่อเพิ่มปัจจัยควบคุมด้านมูลค่ารถยนต์เข้าไปในโมเดล กลับไม่พบความแตกต่างด้านค่าซ่อมรถ แสดงว่าครัวเรือนที่มีหนี้มีรถยนต์ที่มีราคาสูงกว่าโดยเฉลี่ย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะการมีหนี้หรือการมีรสนิยมสูงไม่ใช่เรื่องผิด แต่เพื่อสุขภาพทางการเงินที่ดีในระยะยาว ครัวเรือนที่มีหนี้สามารถปรับปรุงและเสริมสร้างวินัยทางการเงินได้ โดยใช้จ่ายเท่าที่จำเป็น รู้จักความพอเพียงและเหมาะสมกับฐานะทางการเงินของตนเอง
2) ในบรรดาครัวเรือนที่มีหนี้ครัวเรือนที่มีปัญหาในการชำระหนี้แตกต่างจากครัวเรือนที่ไม่มีปัญหาอย่างไร? จากการศึกษาพบว่า กลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหาในการชำระหนี้มีค่าใช้จ่ายโดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มครัวเรือนที่ไม่มีปัญหาอย่างมีนัยสำคัญ (สูงกว่า 20%) โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายไม่ประจำ เช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อความบันเทิง (สูงกว่า 320%) และ ค่าเสื้อผ้า (สูงกว่า 470%) สะท้อนพฤติกรรมการใช้จ่ายที่สุรุ่ยสุร่าย นอกจากนี้ กลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหาในการชำระหนี้ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สูงกว่า อย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น ค่ารักษาพยาบาล (สูงกว่า 268%) ซึ่งเมื่อควบคุมปัจจัยเพิ่มเติม เช่น จำนวนผู้สูงอายุในครัวเรือน ทำให้ไม่พบความแตกต่างด้านค่ารักษาพยาบาล อย่างมีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าครัวเรือนที่มีปัญหานอกจากมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่ไม่ระมัดระวังแล้ว ยังมีค่ารักษาพยาบาลสูงที่มาจากการมีผู้สูงอายุ ในครัวเรือน ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทุกครัวเรือนจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมทั้งในด้านการรักษาวินัยทางการเงิน และการหมั่นดูแลสุขภาพร่างกาย เช่น การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการทำประกันสุขภาพ เพื่อฐานะทางการเงินที่มั่นคงในระยะยาว เพราะความเจ็บป่วยเป็นเรื่องธรรมชาติที่ทุกคนอาจประสบพบเจอ แต่เราสามารถป้องกันให้เกิดน้อยครั้ง และเป็นภาระทางการเงินให้น้อยที่สุดได้
จากข้อสรุปข้างต้น จะเห็นได้ว่าการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ภาครัฐได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง อาทิ การส่งเสริมความรู้ทางการเงิน มาตรการดูแลสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อ ส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ รวมทั้งการจัดตั้งคลินิกแก้หนี้ จะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายได้อย่างยั่งยืน หากภาคครัวเรือนไม่สามารถรักษาวินัยทางการเงินได้ เพราะสาเหตุประการสำคัญของการก่อหนี้และการมีปัญหาชาระหนี้ของครัวเรือน ล้วนเกิดจากรายจ่ายที่ไม่เพียงพอกับรายได้ โดยเฉพาะรายจ่ายที่ไม่จำเป็นและเกินฐานะ หรือขาดการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมในระยะยาว
ยังไม่สายที่เราจะเริ่มมีวินัยทางการเงิน (และหันมาดูแลสุขภาพของตัวเราเอง) ตั้งแต่วันนี้กันนะครับ!