เมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา (30 ก.ย.) ผู้เขียนมีโอกาสเข้าร่วมเป็นตัวแทนของคณะผู้วิจัย เพื่อนำเสนอผลการศึกษา “โครงสร้างเศรษฐกิจสังคมไทย: ความเปราะบางท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง” ในงานสัมมนาวิชาการธนาคารแห่งประเทศไทย ประจำปี 2564 มาปีนี้พิเศษหน่อยตรงที่เป็นการจัดงานในรูปแบบออนไลน์ทั้งหมดเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด-19 ผู้เขียนจึงขอเก็บตกบางช่วงบางตอนที่เกี่ยวกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมานำเสนอและชวนคิด โดยท่านผู้อ่านสามารถติดตามการบรรยายย้อนหลังได้ที่ FB live ธนาคารแห่งประเทศไทย และหาอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในบทความ aBRIDGEd ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ได้เลยครับ


โครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางที่สั่งสมมาอย่างยาวนานในหลายมิติ แต่ความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ในบริบทโลกใหม่ (megatrends) ได้เข้ามาซ้ำเติมให้ความเปราะบางเหล่านี้ยิ่งรุนแรงขึ้น ทั้งนี้ megatrends มีอยู่หลายประการ แต่ผู้เขียนได้นำมาสรุปไว้ทั้งหมด 5 ประการสำคัญ พร้อมหยิบยกตัวอย่างความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งต้องเตรียมการรับมืออย่างเร่งด่วน ดังต่อไปนี้

1. เศรษฐกิจไทยเปราะบางต่อความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะการพึ่งพาต่างประเทศในระดับสูง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ ความเปราะบางจากการพึ่งพิงจีนและสหรัฐอเมริกาในหลายด้าน อาทิ การส่งออกที่มีมูลค่ารวมกันเกือบ 1 ใน 3 ของการส่งออกทั้งหมด (คิดเป็น 13% สำหรับการส่งออกไปจีน และ 15% สำหรับการส่งออกไปสหรัฐฯ) การท่องเที่ยวที่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 28% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด และการลงทุนทางตรงในระดับสูงจากสหรัฐฯ (ขณะที่สัดส่วนการลงทุนทางตรงจากจีนก็สูงขึ้นต่อเนื่อง) ซึ่งการที่ยักษ์ใหญ่สองประเทศนี้มีความขัดแย้งกัน ทำให้เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยง หากจำเป็นต้องเลือกข้างใดข้างหนึ่ง

2. ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่อาจทำให้ไทยตกขบวนรถไฟได้ หากปรับตัวไม่ทัน ตัวอย่างความเปราะบาง ได้แก่ โครงสร้างการส่งออกไทยที่พบว่ามีมูลค่าเพิ่มที่ไทยสร้างได้ (domestic value added) อยู่ในระดับกลาง ๆ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะสินค้าที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง (คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ และเคมีภัณฑ์) และเทคโนโลยีขั้นกลาง (รถยนต์และชิ้นส่วน) ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างชาติมายังธุรกิจไทยที่ยังจำกัด นอกจากนี้ อีกตัวอย่างคือ ความเปราะบางจากการพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างประเทศ โดยเฉพาะในการซื้อสินค้าและบริการของคนไทยที่อยู่ในระดับสูงมาก สะท้อนจากผลการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยปี 2563 โดยพบว่า คนไทยใช้แพลตฟอร์มของไทยในสัดส่วนต่ำมาก หากเทียบกับแพลตฟอร์มต่างประเทศ เป็นสัญญาณให้ธุรกิจไทยต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้ไม่พลาดโอกาสนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับความเป็นอยู่ของคนไทย

3. ภาวะโลกร้อน เป็นภัยเงียบ และจะส่งผลใหญ่หลวงต่อไทยหากไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ โดยมีตัวอย่างที่อาจยังกล่าวถึงไม่มากนัก คือ ความเปราะบางของภาคอุตสาหกรรมไทยที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น (พื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งจังหวัดโดยรอบ) โดยมากกว่า 1 ใน 3 ของแรงงานนอกภาคเกษตรทั้งประเทศอยู่ในจังหวัดดังกล่าว มากกว่า 20% ของจำนวนสถานประกอบการ และมากกว่า 10% ของธุรกิจในอุตสาหกรรมส่งออกหลัก

4. การเข้าสู่สังคมสูงอายุส่งผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยหลายด้าน โดยหากมองความเปราะบางของโครงสร้างแรงงานไทย พบว่ามีสัดส่วนแรงงานสูงวัย (มากกว่า 50 ปี) เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าในช่วงไม่ถึง 20 ปีที่ผ่านมา โดยเพิ่มจาก 3.4% ในปี 2545 มาสูงถึง 9.9% ในปี 2562 ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของแรงงานสูงอายุ อาจส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานลดลง เนื่องจากความสามารถในการปรับตัวของแรงงานสูงวัยอาจต่ำว่าวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะทักษะที่ต้องใช้เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และอาจส่งผลต่อแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด

5. วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างแผลเป็นหลายแห่งต่อเศรษฐกิจไทย ตัวอย่างสำคัญคือ ความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือนไทยที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าครัวเรือนไทยเริ่มผิดนัดชำระหนี้ และมีหนี้เสียเป็นวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะกลุ่มผู้กู้อายุน้อย ซึ่งมีหนี้เร็วและมีสัดส่วนผู้กู้ที่มีหนี้เสียมากอยู่แล้วก่อนเกิดวิกฤต จึงเห็นได้ว่า วิกฤตโควิด-19 ได้สร้างรอยแผลเป็นต่อกลุ่มที่จะเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยต่อไปในอนาคต

แม้ megatrends เหล่านี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่สามารถรับมือได้ หากเราตระหนักรู้ วางแผน และดำเนินการแก้ไขความเปราะบางอย่างถูกต้องและเร่งด่วน ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนครับ!


ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คอลัมน์ "บางขุนพรหมชวนคิด" นสพ. ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 2 ต.ค. 64


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย