​เปิดทฤษฎีวัฏจักรเศรษฐกิจการเมืองฉบับไทยๆ (1)


นายวราพงศ์ วงศ์วัชรา
ฝ่ายนโยบายการเงิน
นายกฤษฏิ์ ศรีปราชญ์
ฝ่ายบริหารเงินสำรอง


เศรษฐกิจ การเมือง เรื่องเดียวกัน

การวิเคราะห์ความเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจและการเมืองไม่ใช่เรื่องใหม่ ตลอดเวลาหลายทศวรรษ นักเศรษฐศาสตร์พยายามนำเสนอกรอบแนวคิดเพื่อทำความเข้าใจพลวัตของความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยดังกล่าวด้วยมุมมองที่แตกต่างกัน

หนึ่งในนั้นคือ ศาสตราจารย์ William D. Nordhaus นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล ซึ่งได้ใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์อธิบายพฤติกรรมของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย โดยเสนอว่าหากรัฐบาลอยู่ครบเทอม และกำหนดการเลือกตั้งมีความแน่นอน เช่น เกิดขึ้นทุก ๆ 4 ปี รัฐบาลมักเลือกอัดฉีดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงใกล้การเลือกตั้งเพื่อเพิ่มคะแนนความนิยมในระยะสั้น แต่ภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะใช้มาตรการรัดเข็มขัด เพื่อชะลอความร้อนแรงของเศรษฐกิจให้ลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม

ทฤษฎีของ Nordhaus ได้รับการขนานนามว่า “วัฏจักรเศรษฐกิจการเมือง” หรือ ‘Political business cycle’ เนื่องจากเป็นการอธิบายพลวัตทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นตามวัฏจักรของการเมือง ต่างจากแนวทางการวิเคราะห์วัฏจักรเศรษฐกิจโดยทั่วไป ที่เชื่อว่าเศรษฐกิจมีความผันแปรด้วยกลไกภายในตัวเองเป็นสำคัญ ศัพท์การเงินเรียกรูปแบบที่เกิดขึ้นซ้ำ ๆ ตามเวลาที่มีตารางแน่นอนว่า “ผลเชิงปฏิทิน” หรือ ‘calendar effect’

ภายใต้กรอบแนวคิดดังกล่าว Moody’s Analytics (Coutino, 2017) ได้วิเคราะห์วัฏจักรเศรษฐกิจการเมืองของประเทศเม็กซิโก พบว่าเศรษฐกิจเม็กซิกันเกิด calendar effect ทุก ๆ 6 ปีตามรอบการเลือกตั้งประธานาธิบดี โดยในช่วงก่อนการเลือกตั้งประมาณครึ่งปี รัฐบาลจะใช้นโยบายการคลังแบบขยายตัว และในปีแรกภายหลังการจัดตั้งรัฐบาลใหม่จะสลับไปใช้นโยบายแบบรัดเข็มขัด รวมถึงการเบิกจ่ายล่าช้า ทำให้เกิดวัฏจักรทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวและชะลอตัวสลับกันไปมาเช่นนี้ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา

การวัดวัฏจักรการเมืองไทยภายใต้พลวัตที่เปลี่ยนแปลงไป

ข้อมูลของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตั้งแต่ พ.ศ.2536 (ปีเดียวกับที่สภาพัฒน์ฯ เริ่มเผยแพร่ข้อมูล GDP รายไตรมาส) ชี้ว่าระยะเวลา (passage time) ที่บุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีลักษณะค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่สั้นที่สุด 1 ไตรมาส จนถึงยาวที่สุด 19 ไตรมาส โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณสองปีครึ่ง

อย่างไรก็ตาม เมื่อนำข้อมูล passage time ข้างต้นมาวิเคราะห์ด้วยเครื่องมือการวิเคราะห์วัฏจักร (cycle analysis) เราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในเชิงมิติเวลาของการเมืองไทยที่ชัดเจนขึ้น ตัวอย่างในภาพแสดงวัฏจักรการเมืองไทยซึ่งวัดจากจำนวนไตรมาสที่บุคคลดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี กราฟวัฏจักรการเมืองไทยสามารถแบ่งเป็น 2 ช่วงเวลาหลัก คือ ก่อนและหลัง พ.ศ.2550 โดยในแต่ละช่วงเวลาประกอบไปด้วย 2 คลื่นเล็กและ 1 คลื่นใหญ่ สะท้อนพลวัตการเมืองไทยที่มีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างเร็ว (คลื่นเล็ก) สลับกับระยะเวลาที่ค่อนข้างมีเสถียรภาพ (คลื่นใหญ่)

โดยสรุป แม้การเมืองไทยจะไม่ได้มี calendar effect ที่ชัดเจน แต่การวัดวัฏจักรการเมืองด้วยเทคนิคข้างต้นทำให้การวิเคราะห์วัฏจักรเศรษฐกิจการเมืองทำได้ในบริบทของไทย คำถามสำคัญอยู่ที่ว่าวัฏจักรการเมืองสามารถอธิบายความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจได้เพียงใด?


มองเศรษฐกิจไทยผ่านเลนส์ “วัฏจักรเศรษฐกิจการเมือง”

โดยทั่วไปนักเศรษฐศาสตร์วัดวัฏจักรเศรษฐกิจโดยการคำนวณช่องว่างการผลิต (‘output gap’) ซึ่งเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจกับระดับศักยภาพการผลิต output gap ที่เป็นบวกสะท้อนการขยายตัวที่สูงกว่าศักยภาพ ขณะที่ค่าลบมักสะท้อนภาวะถดถอย เช่น ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 output gap ติดลบรุนแรงเกือบร้อยละ 10

ในภาพรวม วัฏจักรการเมืองและวัฏจักรเศรษฐกิจของไทยมีความสัมพันธ์กันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งไม่ใช่ระดับที่สูงนัก แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 เมื่อพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา จึงอาจกล่าวได้ว่าปีดังกล่าวเป็นหมุดหมาย (milestone) ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทย ซึ่งรวมถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การที่วัฏจักรเศรษฐกิจมีจุดกลับ (turning point) ในเวลาที่ไล่เลี่ยกับวัฏจักรการเมือง ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ ผลการศึกษาโดยใช้สมการถดถอย (regression) ชี้ว่า วัฏจักรการเมืองของไทยที่เป็นบวกยาวนานขึ้น 1 ไตรมาสจะส่งผลให้ output gap เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.05-0.1 ความหมายคือ เมื่อวัฏจักรการเมืองเข้าใกล้จุดสูงสุด (“จุดเปลี่ยนผ่าน”) ก็จะมีแรงสนับสนุนด้านบวกต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเปลี่ยนผ่านแล้วก็จะกลับเป็นแรงฉุดต่อเศรษฐกิจ สอดคล้องกับทฤษฎี “วัฏจักรเศรษฐกิจการเมือง” ฉบับ Nordhaus

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำความเข้าใจช่องทางการส่งผ่านผลทางการเมืองไปยังเศรษฐกิจต้องอาศัยการศึกษาเชิงลึกมากกว่านี้ แต่บทความนี้ย้ำเตือนให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องถามตัวเองมากขึ้นว่า การทำความเข้าใจเศรษฐกิจโดยปราศจากบริบทของการเมือง (politically neutral) เป็นวิธีที่สะท้อนความเป็นจริงได้ดีหรือไม่? และแน่นอนว่าวัฏจักรการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อพลวัตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีผลในเชิงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจอีกด้วย ประเด็นเหล่านี้ต้องติดตามต่อในตอนที่ 2

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

มองเศรษฐกิจไทยผ่านเลนส์ “วัฏจักรเศรษฐกิจการเมือง”

โดยทั่วไปนักเศรษฐศาสตร์วัดวัฏจักรเศรษฐกิจโดยการคำนวณช่องว่างการผลิต (‘output gap’) ซึ่งเปรียบเทียบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจกับระดับศักยภาพการผลิต output gap ที่เป็นบวกสะท้อนการขยายตัวที่สูงกว่าศักยภาพ ขณะที่ค่าลบมักสะท้อนภาวะถดถอย เช่น ช่วงวิกฤตต้มยำกุ้ง พ.ศ.2540 output gap ติดลบรุนแรงเกือบร้อยละ 10

ในภาพรวม วัฏจักรการเมืองและวัฏจักรเศรษฐกิจของไทยมีความสัมพันธ์กันอยู่ที่ประมาณร้อยละ 20 ซึ่งไม่ใช่ระดับที่สูงนัก แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 30 เมื่อพิจารณาข้อมูลตั้งแต่ปี พ.ศ.2540 เป็นต้นมา จึงอาจกล่าวได้ว่าปีดังกล่าวเป็นหมุดหมาย (milestone) ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจการเมืองไทย ซึ่งรวมถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่

การที่วัฏจักรเศรษฐกิจมีจุดกลับ (turning point) ในเวลาที่ไล่เลี่ยกับวัฏจักรการเมือง ไม่น่าจะเป็นเรื่องบังเอิญ ผลการศึกษาโดยใช้สมการถดถอย (regression) ชี้ว่า วัฏจักรการเมืองของไทยที่เป็นบวกยาวนานขึ้น 1 ไตรมาสจะส่งผลให้ output gap เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 0.05-0.1 ความหมายคือ เมื่อวัฏจักรการเมืองเข้าใกล้จุดสูงสุด (“จุดเปลี่ยนผ่าน”) ก็จะมีแรงสนับสนุนด้านบวกต่อเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น และเมื่อเปลี่ยนผ่านแล้วก็จะกลับเป็นแรงฉุดต่อเศรษฐกิจ สอดคล้องกับทฤษฎี “วัฏจักรเศรษฐกิจการเมือง” ฉบับ Nordhaus

ปฏิเสธไม่ได้ว่าการทำความเข้าใจช่องทางการส่งผ่านผลทางการเมืองไปยังเศรษฐกิจต้องอาศัยการศึกษาเชิงลึกมากกว่านี้ แต่บทความนี้ย้ำเตือนให้นักเศรษฐศาสตร์ต้องถามตัวเองมากขึ้นว่า การทำความเข้าใจเศรษฐกิจโดยปราศจากบริบทของการเมือง (politically neutral) เป็นวิธีที่สะท้อนความเป็นจริงได้ดีหรือไม่? และแน่นอนว่าวัฏจักรการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อพลวัตทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังมีผลในเชิงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจอีกด้วย ประเด็นเหล่านี้ต้องติดตามต่อในตอนที่ 2

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย