ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ
ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์
นางสาวอัจจนา ล่ำซำ
ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์
ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้ใช้มาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสภาวะทางการเงินของครัวเรือน ซึ่งมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ แต่ความเข้าใจของนักเศรษฐศาสตร์ต่อผลกระทบของมาตรการเหล่านี้ยังมีค่อนข้างจำกัด สาเหตุส่วนหนึ่งเนื่องจากการขาดข้อมูลในระดับจุลภาคที่ครอบคลุมและสามารถเข้าใจพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนไทยทั้งระบบได้
งานวิจัยนี้เปิดมิติใหม่ในการวิเคราะห์มาตรการภาครัฐและหนี้ครัวเรือนเชิงลึกโดยใช้ข้อมูลเชิงสถิติของสินเชื่อบุคคลรายสัญญาจากเครดิตบูโร ซึ่งได้รับรายงานมาจากสถาบันการเงินกว่า 89 แห่ง และครอบคลุมรายละเอียดของหนี้และประวัติการชำระหนี้ของผู้กู้กว่า 16 ล้านคนทั่วประเทศ หรือกว่าร้อยละ 85 ของสินเชื่อครัวเรือนทั้งระบบ (ในไตรมาสแรกของปี 2559) ด้วยปริมาณข้อมูลเชิงสถิติที่มหาศาล ละเอียด และมีการจัดเก็บรายเดือนมานานกว่า 7 ปีตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจไทยมากมาย ฐานข้อมูลเชิงสถิตินี้จึงถือเป็นอีกหนึ่งคลังข้อมูลที่สำคัญต่อการทำความเข้าใจจุลทรรศน์ของระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศ
มองหนี้ครัวเรือนในมิติใหม่ ข้อมูลเชิงสถิติของหนี้รายบุคคลสามารถสะท้อนกระจายตัวของหนี้และการขยายตัวของหนี้ ว่าอยู่ที ไหน กับใคร และที่สำคัญคือมีนัยสำคัญต่อเสถียรภาพทางการเงินหรือไม่ โดยเราพบว่า ร้อยละ 61.2 ของหนี้ในระบบกระจุกตัวอยู่กับครัวเรือนเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น และตลอดระยะเวลา 7 ปีที ผ่านมา ทุกพื้นที่มีการขยายตัวของหนี้ครัวเรือนต่อหัวแต่ด้วยระดับที่ไม่เท่ากัน และที่ น่าสนใจคือ 64% ของปริมาณหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าวมาจากผู้กู้ใหม่ที่เพิ่งเข้ามาในระบบ นอกจากนี้ข้อมูลเชิงสถิติของสินเชื่อรายสัญญาสามารถสะท้อนสถานะของพอร์ตสินเชื่อ พฤติกรรม และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนได้ โดยพบว่าครัวเรือนมีการกู้เพื่อซื้อทรัพย์สินเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะรถยนต์ และ จำนวนผู้กู้ที่มีสินเชื่อมากกว่าหนึ่งสัญญาก็ขยายตัวขึ้นมากด้วย ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากมาตรการภาครัฐ
วิเคราะห์ผลกระทบของนโยบายภาครัฐในเชิงลึก งานวิจัยนี้ยังแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของการนำข้อมูลเชิงสถิติของเครดิตบูโรมาใช้ในการวิเคราะห์ผลกระทบของมาตรการภาครัฐต่างๆ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือช่วยการออกแบบมาตรการทางการคลังต่างๆในอนาคต เพื่อส่งเสริมความยั่งยืนทางการคลังของประเทศในระยะยาว โดยใช้โครงการรถคันแรกในช่วงปี 2554-2555 เป็นกรณีศึกษา ซึ่งโครงการดังกล่าวจัดเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจประเภทหนึ่ง โดยทำผ่านสินค้าคงทน (Durable Goods Stimulus) กลไกสำคัญของมาตรการประเภทนี้ คือ การสร้างแรงจูงใจในรูปตัวเงินให้คนซื้อสินค้าคงทนในช่วงเวลาที่รัฐบาลได้กำหนดไว้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการยืมอุปสงค์อนาคตมาใช้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสินค้าคงทนนี้ยังสามารถส่งผลกระทบสำคัญต่อคนที่เข้าร่วมโครงการได้ ซึ่งหากผลกระทบรายบุคคลดังกล่าวเป็นไปในทางลบ ผลกระทบนี้ก็จะลดประสิทธิผลของมาตรการนี้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ
งานวิจัยนี้พบว่าโครงการรถคันแรกได้ส่งผลกระทบทางลบต่อความสามารถในการชาระหนี้ และแนวโน้มการสร้างหนี้ใหม่ของผู้เข้าร่วมโครงการ โดยผลการศึกษาชี้ว่า พบว่าผู้เข้าร่วมโครงการมีแนวโน้มที่จะผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญหลังการซื้อรถคันแรก ซึ่งการผิดนัดชำระหนี้นั้นไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ในสินเชื่อรถคันแรกเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงสินเชื่ออื่นๆ ด้วย และพบว่าแนวโน้มการสร้างหนี้ใหม่ของผู้เข้าร่วมโครงการที่ซื้อรถยนต์นั่งได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ผลการศึกษานี้สะท้อนผลกระทบทางลบต่อครัวเรือนซึ่ง อาจจะลดประสิทธิผลของการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านสินค้าคงทนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ และบั่นทอนเสถียรภาพทางการเงินในระยะยาว