​นางสาวธนันธร มหาพรประจักษ์
ฝ่ายนโยบายการเงิน


ในช่วงที่ผ่านมาประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมกลับมาเป็นประเด็นที่สังคมไทยตื่นตัวเป็นอย่างมาก ในปัจจุบันที่อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนหากไม่รีบแก้ไขอาจทำให้มนุษย์ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ การรอให้ผู้บริโภคเปลี่ยนพฤติกรรมโดยใช้หลัก 3R อย่าง Reduce Reuse Recycle คงไม่เพียงพอ ผู้ผลิตจำเป็นต้องลงมือทำเช่นกัน จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่เรียกว่า “Circular economy” บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงอยากชวนท่านผู้อ่านมาทำความรู้จักกับแนวคิดดังกล่าว

Circular economy หรือระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นการออกแบบเศรษฐกิจให้หมุนเวียนเป็นวงจรไม่รู้จบ หลักการของระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนนั้นกว้างกว่าเพียงการนำทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ (recycle)แต่เป็นแนวคิดแบบองค์รวมที่ครอบคลุมหลักการสำคัญ 3 ข้อ คือ 1) ออกแบบสินค้าและบริการที่เน้นการรักษาต้นทุนด้านทรัพยากรธรรมชาติ 2) เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้วยการหมุนเวียนวัตถุดิบและสินค้า และ 3) ลดการเกิดของเสียและผลกระทบเชิงลบ (negative externalities) ต่อสิ่งแวดล้อมให้ได้มากที่สุด หลักการทั้ง 3 ข้อนั้นทำให้ระบบการผลิตแบบเดิมหรือระบบการผลิตแบบตรง (Linear economy) ที่เป็นการผลิตแบบใช้แล้วทิ้ง (make-use-dispose) และเน้นกำไรเป็นตัวตั้ง ปรับเปลี่ยนไปสู่ระบบการผลิตแบบหมุนเวียนที่เน้นการนำวัตถุดิบจากสินค้าที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ (make-use-return) พัฒนาไปสู่การใช้พลังงานสะอาด ลดผลกระทบเชิงลบและเพิ่มผลกระทบเชิงบวกต่อระบบเศรษฐกิจ

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลก อาทิ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน กำลังปรับตัวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อที่จะแก้วิกฤตทรัพยากรที่เกิดขึ้น แต่การนำแนวคิดนี้ไปปรับใช้ยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักจากอุปสรรคและข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น พฤติกรรมผู้บริโภคที่ยังไม่นิยมใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือสินค้ามือสอง ต้นทุนในการปรับกระบวนการผลิตและความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ รวมถึงศักยภาพของแรงงานที่ไม่เพียงพอกับเทคโนโลยีการผลิตที่รุดหน้า

สำหรับประเทศไทย ในแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20ปี (พ.ศ. 2560-2579) ได้กำหนดยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตด้วยคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนข้อที่ 12 ขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยเรื่องแผนการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน ซึ่งระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกุญแจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายดังกล่าว อย่างไรก็ดี ความตื่นตัวในเรื่องระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนในภาคธุรกิจของไทย แม้หลายบริษัทในไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ยั่งยืนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นภายใต้แนวคิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เช่น บริษัทพีทีทีโกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) ที่สามารถลดรายจ่ายด้านพลังงานได้ 600ล้านบาทต่อปี และสามารถนำน้ำกลับมาใช้ในกระบวนการผลิตได้ใหม่กว่าร้อยละ 40 หรือบริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ที่ลดการใช้ทรัพยากรในการผลิตลงร้อยละ 25 แต่ยังคงคุณภาพของสินค้าได้เช่นเดิม รวมถึงการใช้ขยะพลาสติกเป็นส่วนประกอบในการทำถนนยางมะตอย เป็นต้น ขณะเดียวกันการปรับพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการก้าวเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งที่ผ่านมามีการรณรงค์ลดการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single-use Plastic) ที่ไม่จำเป็นหลายประเภทและหันไปใช้วัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแทน แต่น่าเสียดายที่เหมือนจะเป็นเพียงกระแสสั้น ๆ และเลือนหายไป

นอกจากนี้ ในการผลักดันให้เกิดระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน ธนาคารกลางและภาคการเงินสามารถมีส่วนช่วยสนับสนุนได้หลายทาง โดยเฉพาะการสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อให้ภาคการเงินสามารถสนับสนุนการลงทุนในโครงการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การออกเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่ครอบคลุมบริบทภายใต้มิติของความยั่งยืนทั้งมิติด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental) มิติด้านสังคม (Social) และมิติด้านธรรมาภิบาล (Governance) รวมถึงสนับสนุนตราสารหนี้สีเขียวหรือ Green Bond ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่ออกเพื่อระดมทุนในโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนต้องอาศัยความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจและผู้บริโภค ทั้งการสนับสนุนเชิงนโยบายของภาครัฐ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของภาคธุรกิจและผู้บริโภค และการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงประโยชน์ในการเปลี่ยนเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจใหม่นี้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย