สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ลากยาวมาสู่วิกฤตราคาน้ำมันแพง ไปจนถึงการขาดแคลนวัตถุดิบ ทำให้ที่ผ่านมาประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับราคาสินค้าและบริการที่ปรับสูงขึ้น หรือที่เรียกว่า เงินเฟ้อพุ่งสูง ธนาคารกลางทั่วโลกจึงต้องเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อชะลอความรุนแรงของเงินเฟ้อ จนสร้างความกังวลว่าจะนำไปสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่สำหรับบริบทไทยนั้น ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้กล่าวในหลายเวทีว่า นโยบายการเงินของไทยต้องเน้นให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวแบบไม่สะดุดหรือมี smooth takeoff บางขุนพรหมชวนคิดในวันนี้จึงขอนำประเด็นนี้มาเล่าให้กับท่านผู้อ่านค่ะ
บริบทของเศรษฐกิจในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ กำลังเผชิญกับเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวร้อนแรง เงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปสงค์และอุปทาน โจทย์หลักของธนาคารกลางจึงต้องเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อดูแลให้เศรษฐกิจไม่ร้อนแรงเกินไป เพื่อให้เศรษฐกิจเกิด soft landing โดยคำว่า soft landing คือความพยายามในการชะลอเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงให้ปรับลดลงเข้าสู่ระดับเป้าหมายในระยะยาวของธนาคารกลาง ด้วยการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวดผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อลดความร้อนแรงของสถานการณ์เงินเฟ้อ โดยที่เศรษฐกิจอาจเติบโตชะลอลงบ้าง แต่ไม่ถึงกับหดตัวจนเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือที่เรียกว่า hard landing ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นต่อการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางให้กับนักลงทุน เพื่อดูแลให้ความผันผวนในตลาดการเงินอยู่ระดับต่ำหรือมีแนวโน้มลดลง หรือให้เกิดเสถียรภาพในตลาดการเงิน
สำหรับกรณีของไทยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยได้ให้มุมมองว่า บริบทเศรษฐกิจของไทยแตกต่างจากประเทศพัฒนาแล้วที่ต้องการให้เศรษฐกิจมี soft landing สำหรับเศรษฐกิจไทยต้องการให้การฟื้นตัวเป็นไปอย่างต่อเนื่องแบบไม่สะดุด หรือมี smooth takeoff เพราะแม้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวชัดเจนขึ้นภายหลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ และการฟื้นตัวมีแนวโน้มจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง แต่การฟื้นตัวในแต่ละภาคเศรษฐกิจยังคงไม่ทั่วถึง กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกฟื้นตัวได้ดีกว่าช่วงก่อนโควิดแล้ว ขณะที่กลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวยังฟื้นตัวได้ต่ำกว่าระดับก่อนโควิดค่อนข้างมาก และต้องใช้เวลากว่าจะฟื้นไปสู่ระดับก่อนโควิด ขณะเดียวกันด้านเงินเฟ้อ ไทยก็ประสบกับสถานการณ์เงินเฟ้อสูงเช่นเดียวกับหลายประเทศ แต่เป็นผลมาจากปัจจัยด้านอุปทานที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเป็นหลัก ไม่ได้เกิดจากปัจจัยด้านอุปสงค์เหมือนในประเทศพัฒนาแล้ว
ด้วยบริบทเศรษฐกิจการเงินที่แตกต่างกันนี้ การดำเนินนโยบายการเงินของไทยจึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับต่างประเทศ โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ชี้ว่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย smooth takeoff นั้น สิ่งสำคัญของการดำเนินนโยบาย คือ (1) ดูแลให้เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน เพราะจะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชาชน และหากปล่อยให้เงินเฟ้อสูงนานต่อเนื่อง ผู้ประกอบการอาจปรับขึ้นราคาสินค้า ลูกจ้างอาจต่อรองปรับค่าจ้างขึ้น สิ่งเหล่านี้จะยิ่งทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น และ (2) ดูแลให้ระบบการเงินและสถาบันการเงินทำงานได้ตามปกติ ไม่สะดุด เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย โดยธนาคารพาณิชย์ต้องมีฐานะแข็งแกร่ง สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ต้องไม่เร่งขึ้นเร็ว ลูกหนี้รอดไปได้มากที่สุด รวมทั้งการทำงานของระบบสถาบันการเงินต้องไม่ทิ้งผลข้างเคียงให้กับระบบการเงินโดยรวม ดังนั้น การปรับนโยบายดอกเบี้ยต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่ต้องทำเนิ่น ๆ เพราะหากช้าเกินไป อาจทำให้เครื่องยนต์เงินเฟ้อจุดติด และต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยแรงขึ้นเพื่อดูแลภายหลัง ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อเศรษฐกิจและประชาชนมากขึ้นค่ะ
ผู้เขียน :
ธนันธร มหาพรประจักษ์
คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 30 กรกฎาคม 2565