​ยกเครื่องเศรษฐกิจไทย หรือ จะสายเกินแก้?

นางสาวรุจา อดิศรกาญจน์

เชื่อว่าทุกท่านย่อมต้องการเห็นเศรษฐกิจไทยพัฒนาทัดเทียมนานาอารยประเทศ แต่อาจเกิดคำถามว่า มีหนทางใดบ้างที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยมีพัฒนาการอย่างที่ต้องการ แล้วเหตุใดหลายๆ ประเทศจึงมีระดับของการพัฒนาที่ต่างกันคำตอบของคำถามดังกล่าวขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัย คือ ลักษณะการผลิต และลักษณะโครงสร้างภายในประเทศที่มีความแตกต่างกันนั่นเอง

การสำรวจของ World Economic Forum (WEF) ได้แบ่งระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจออกเป็น 3 ระดับใหญ่ๆ ได้แก่ ระดับที่ 1 คือ เน้นการใช้ทรัพยากรในประเทศเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ (factor-driven) ทั้งทรัพยากรแรงงาน ซึ่งมักเป็นแรงงานไร้ฝีมือ และทรัพยากรธรรมชาติ ทำให้ลักษณะการผลิตของประเทศที่อยู่ในระดับนี้เป็นแบบใช้แรงงานเข้มข้น เพราะค่าจ้างแรงงานถูก แต่การผลิตจะมีประสิทธิภาพต่ำ และลักษณะการขายสินค้าจะแข่งขันกันที่ราคา ระดับที่ 2 คือเน้นการผลิตที่มีประสิทธิภาพ และผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ (efficiency-driven) เนื่องจากเมื่อผ่านการใช้แรงงานอย่างเต็มที่ถึงจุดหนึ่งค่าจ้างแรงงานจะสูงขึ้น จึงไม่สามารถแข่งขันทางด้านราคาได้ ระดับที่ 3 คือ เน้นการผลิตด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อให้เกิดสินค้าชนิดใหม่ๆ (innovation-driven)

แล้วประเทศไทยอยู่ระดับใด จากสำรวจของ WEF ในปี 2012 พบว่า พัฒนาการของเศรษฐกิจไทยอยู่ในระดับที่ 2 เนื่องจากไทยกำลังอยู่ในช่วงพัฒนาการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หลังจากผลิตโดยใช้แรงงานอย่างเต็มที่ จนค่าแรงเริ่มปรับสูงขึ้น ประเทศไทยจึงเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ใช้แรงงานเข้มข้นจนทำให้เศรษฐกิจเติบโต โดยในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาไทยมีรายได้ประชาชาติต่อหัวเพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า ขณะที่ความยากจนก็ลดลงไปอย่างมาก จนทำให้ไทยยกระดับจากประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับล่างเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับสูงในปี 2011 ที่ผ่านมา

ใช่ว่าความสำเร็จของการใช้แรงงานเข้มข้นในการพัฒนาประเทศนี้ จะใช้ได้กับทุกประเทศเสมอไป พัฒนาการทางเศรษฐกิจจะขึ้นอยู่กับลักษณะโครงสร้างภายในประเทศด้วย ตัวอย่างหนึ่งที่ทำให้เห็นภาพชัด คือประเทศอินเดีย แม้อินเดียจะเป็นประเทศที่มีแรงงาน ทรัพยากร และตลาดขนาดใหญ่ จนทำให้การเติบโตของเศรษฐกิจอินเดียอยู่ในอัตราที่มีตัวเลขเฉียดสองหลัก ดูเผินๆ อาจเหมือนว่าอินเดียกำลังอยู่ในช่วงก้าวผ่านการพัฒนาทางเศรษฐกิจในระดับที่ 1 แล้ว แต่จากการสำรวจล่าสุด พบว่า ระดับการพัฒนาของอินเดียยังคงอยู่ในระดับที่ 1 เช่นเดิม แถมอันดับความสามารถในการแข่งขันลดลงจากปี 2009 มาถึง 10 อันดับ เหตุที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากการปรับปรุงจุดอ่อนของประเทศที่มีผลต่อเศรษฐกิจเป็นไปอย่างเชื่องช้า ส่วนหนึ่งเกิดจากการบริหารงานของภาครัฐ ซึ่งสะท้อนได้จากข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจในอินเดียที่สำคัญ 4 อันดับแรก ที่ล้วนเกี่ยวข้องกับภาครัฐทั้งสิ้น ทั้งการขาดการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐาน ปัญหาคอรัปชั่น กฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ และความล่าช้าในการปฏิบัติตามนโยบายให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ปัญหาเหล่านี้ได้กัดกร่อนความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้การลงทุนโดยตรงของนักลงทุนต่างชาติ หรือ FDI ลดลงอย่างมากในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา จนล่าสุดแม้อินเดียจะประกาศแผนปฏิรูปเศรษฐกิจ แต่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ S&P ก็ยังอาจลดอันดับความน่าเชื่อถือของอินเดียลงได้จากปัญหาดังกล่าวเช่นกัน

นี่จึงเป็นตัวอย่างการเรียนรู้ที่ดีสำหรับเศรษฐกิจไทยที่แม้จะผ่านการพัฒนาในระดับที่ 1 มาแล้ว แต่เราต้องอย่าชะล่าใจ เพราะประเทศใหญ่อย่างอินเดียที่มีทรัพยากรเพียบพร้อม ก็ยังไม่สามารถยกระดับพัฒนาการของเศรษฐกิจจากระดับพื้นฐานได้เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาโครงสร้างภายในประเทศ ในกรณีของไทยน่าจะมีความท้าทายที่ยิ่งกว่า เพราะไทยผ่านการพัฒนาขั้นพื้นฐานมาแล้ว ไทยต้องก้าวเดินต่อ ก้าวเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านการพัฒนาจากระดับที่ 2 เป็นระดับที่ 3 จึงถึงเวลาแล้วที่ไทยจำเป็นต้องมองย้อนดูตัวเองว่าปัญหาโครงสร้างภายในประเทศของเราคืออะไรและจะสามารถแก้ไขได้อย่างไร อย่าปล่อยให้เรื้อรังจนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาดังกรณีของอินเดีย

เมื่อพิจารณาปัญหาเชิงโครงสร้างภายในประเทศไทยที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขัน จะพบว่าโครงสร้างภายในของไทยไม่ได้ร้ายแรงจนเป็นตัวผลักไสการลงทุนแบบอินเดีย แต่ไทยก็จำเป็นต้องสร้างภูมิคุ้มกันภายในให้เข้มแข็งขึ้นเช่นกันเนื่องจากความสามารถในการแข่งขันของไทยแทบจะย่ำอยู่กับที่ เพราะ ไทยมีการลงทุนน้อยเกินไปเป็นระยะเวลานานโดยเฉพาะการลงทุนด้านสาธารณูปโภคที่ควรเร่งเครื่องมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังพบว่าข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยที่สำคัญ 4 อันดับแรก ก็คล้ายคลึงกับอินเดียที่ล้วนเกี่ยวข้องกับภาครัฐ ทั้งความไม่มั่นคงของรัฐบาล การคอร์รัปชั่น ความไม่มีเสถียรภาพด้านนโยบาย และความไม่มีประสิทธิภาพในระบบราชการ ซึ่งทำให้ปัจจัยพื้นฐานด้านสถาบันปรับลดอันดับอย่างชัดเจน

ทางออกของเรื่องนี้ต่างได้รับการเสนออย่างซ้ำแล้วซ้ำเล่าในหลายเวที ทั้งการสร้างเสถียรภาพทางการเมืองเพื่อสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการลงทุนของภาคเอกชน การขจัดปัญหาการคอร์รัปชั่น การปฏิบัติได้ตามนโยบายที่วางไว้ได้อย่างเป็นรูปธรรมทั้งในด้านการเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานและการปฏิรูประบบราชการ แต่ข้อเสนอเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขดังกล่าวจะเป็นจริงได้ย่อมขึ้นอยู่กับการลงมือปฏิบัติของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายอย่างเร่งด่วนและจริงจัง เพื่อให้ไทยก้าวผ่านการพัฒนาไปสู่ระดับการผลิตที่มีประสิทธิภาพได้อย่างแท้จริงในสักวันหนึ่ง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย