น​างสาวอัญรัตน์ คงปรัชญา

ตามที่ได้กล่าวไว้ในบทความก่อนหน้านี้ถึงการออกไปลงทุนทางตรงในต่างประเทศของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ของไทยโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย บทความนี้จะขอกล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของภาคธนาคารไทย ในฐานะตัวกลางที่ช่วยอำนวยความสะดวกธุรกรรมการค้าการลงทุนระหว่างประเทศของภาคธุรกิจในยุคการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งหากภาคธนาคารไม่สามารถออกไปรองรับการทำธุรกรรมเหล่านี้ได้ อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคธุรกิจไม่มากก็น้อย หรืออาจสูญเสียลูกค้ากลุ่มนี้ให้กับธนาคารต่างชาติที่ตอบโจทย์ธุรกิจนี้ได้ดีกว่า โดยธนาคารที่มีเครือข่ายในภูมิภาคกว้างขวางกว่าย่อมได้เปรียบ เพราะนักธุรกิจและนักลงทุนจะได้รับข้อมูลและบริการทางการเงินที่ตรงความต้องการและครบวงจรมากกว่า

เพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ระบบการเงินไทยจากการรวมตัวของอาเซียน จำเป็นต้องมีการเตรียมความพร้อมของสถาบันการเงินไทยทั้งด้านตั้งรับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นและด้านการรุกไปตลาดต่างประเทศ โดยการออกไปให้บริการของภาคธนาคารในต่างประเทศต้องอาศัยความพร้อมและศักยภาพในการแข่งขันกับธนาคารต่างชาติ ซึ่งได้มีการเตรียมความพร้อมแก่ภาคธนาคารไทยสำหรับการแข่งขันมาเป็นลำดับ ที่เห็นได้ชัดคือ การดำเนินการตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 1 และ 2 นับตั้งแต่ปี 2547 ซึ่งเน้นการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของธนาคารภายหลังผลกระทบจากวิกฤตการเงิน และการพัฒนาประสิทธิภาพและความสามารถในการแข่งขันของธนาคารผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การส่งเสริมให้มีการควบรวมกิจการโดยมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับสถาบันการเงินที่ควบรวมกิจการระหว่างกัน หรือการเปิดให้ธนาคารต่างชาติในไทยมีจำนวนสาขาเพื่อใช้เป็นช่องทางการให้บริการได้มากขึ้น เป็นต้น

ผลจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินทำให้มีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากการเปิดให้มีผู้ให้บริการรายใหม่่และการเข้าซื้อหุ้นธนาคารไทยของสถาบันการเงินต่างชาติ ประกอบกับกรณีล่าสุดที่อนุญาตให  Bank of Tokyo-Mitsubishi UFJ เข้าซื้อหุ้นของธนาคารกรุงศรีอยุธยา ถือเป็นการกระตุ้นให้ธนาคารไทยต้องปรับตัวเพื่อให้มีความแข็งแกร่ง สามารถรองรับการแข่งขันในระดับสูงขึ้นได้ โดยเฉพาะการแข่งขันกับผู้เล่นต่างประเทศ โดยมีการขยายเครือข่ายและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ครบวงจรมากขึ้น ดังนั้น ในอีกทางหนึ่ง การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจึงนำมาซึ่งประโยชน์ต่อผู้ใช้บริการในประเทศและเกิดบริการทางการเงิน รวมถึงช่องทางให้บริการอิเล็กทรอนิกส์ที่ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคและธุรกิจใหม่ๆ เช่น อีคอมเมิร์ซ ด้วยเช่นกัน

สำหรับการแข่งขันของธนาคารไทยในระดับภูมิภาคนั้น ธนาคารไทยได้ออกไปทำธุรกิจในภูมิภาคพอสมควรแต่ขนาดและความลึกของการทำธุรกิจยังเล็กและแคบกว่าธนาคารอาเซียนอื่นโดยเปรียบเทียบ โดยเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบธนาคารไทยกับสิงคโปร์และมาเลเซียในมิติพื้นที่การให้บริการ ขนาด และจำนวนสาขา พบว่า ธนาคารไทยมีการจัดตั้ง (Presence) ในต่างประเทศที่ค่อนข้างครอบคลุม แต่ยังเป็นรองในด้านขนาดสินทรัพย์ อีกทั้งอาจเข้าถึงกลุ่มลูกค้าในต่างประเทศได้น้อยกว่าเนื่องจากมีจำนวนสาขาในต่างประเทศน้อย (ไทย 56 แห่ง สิงคโปร์ 1,117 แห่ง และมาเลเซีย 2,803 แห่ง)

การที่ธนาคารไทยมีการประกอบธุรกิจในต่างประเทศน้อยกว่าสิงคโปร์หรือมาเลเซียอาจเนื่องมาจากแรงจูงใจในการออกไปให้บริการแก่บริษัทไทยในต่างประเทศมีน้อยกว่าดังที่ได้กล่าวถึงในฉบับที่แล้ว โดยไทยมียอดการลงทุนทางตรงในต่างประเทศในช่วงปี 2554-2556 เฉลี่ยเพียง 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เมื่อเทียบกับสิงคโปร์ และมาเลเซียที่ 64 และ 48 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ(1) ประกอบกับตลาดสินเชื่อรายย่อยของไทยมีขนาดใหญ่กว่าสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่มาก ด้วยประชากรกว่า 67 ล้านคนในไทย เมื่อเทียบกับ 5.4 ล้านคน และ 29.7 ล้านคนในสิงคโปร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ(2) ทำให้ธนาคารไทยยังคงให้ความสำคัญกับการให้บริการกลุ่มลูกค้าในประเทศมากกว่า


สำหรับความสำเร็จของธุรกิจธนาคารไทยในต่างประเทศในมิติอื่นๆ เช่น ความสามารถในการทำกำไร หรือการบริหารความเสี่ยงของสาขาต่างประเทศ อาจขึ้นกับกลยุทธ์การทำธุรกิจซึ่งเป็นความท้าทายข้อหนึ่งของธนาคารไทยประกอบกับปัจจัยอื่นๆ เช่น การสนับสนุนจากภาครัฐ สภาพการแข่งขันในตลาดต่างประเทศ เป็นต้น โดยในส่วนของการส่งเสริมจากภาครัฐนั้น ปัจจุบันอาเซียนอยู่ระหว่างเจรจาการรวมตัวภาคธนาคาร หรือ Qualified ASEANBanks (QABs) ซึ่งจะมีส่วนช่วยลดข้อจำกัดการทำธุรกิจของธนาคารไทยในประเทศอาเซียน และเป็นใบเบิกทางขั้นแรกของธนาคารไทยสู่ตลาดอาเซียน จึงถือเป็น โอกาสของธนาคารไทยในการขยายตลาด ขณะเดียวกันก็เป็นผลดีต่อภาคธุรกิจที่จะได้ใช้บริการธนาคารไทยที่สามารถสื่อสารกันได้ง่าย และมีความเข้าใจในลักษณะธุรกิจและความต้องการของภาคธุรกิจไทยมากที่สุดด้วย

1) ข้อมูล Direct Investment flow abroad จาก IMD World Competitiveness Online
2) ข้อมูลจำนวนประชากรในปี 2556 โดย The World Bank

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย