8 ข้อเท็จจริง ปัญหาการเงินของครัวเรือนไทย

​ดร.สรา ชื่นโชคสันต์
นางสาวภาวนิศร์ ชัววัลลี
นายวิริยะ ดำรงค์ศิริ


บทนำ

หนี้ครัวเรือนไทยที่อยู่ระดับสูงเป็นประเด็นที่ผู้ดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจได้แสดงความกังวลอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากปัญหาดังกล่าวกระทบต่อความยั่งยืนของการเติบโตทางเศรษฐกิจใน 2 มิติด้วยกัน มิติแรกคือเรื่องการใช้รายได้ในอนาคต (การก่อหนี้) เพื่อมาบริโภคในวันนี้มากจนเกินไป ส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตได้ดีในระยะแรกแต่จะแผ่วลงภายหลังตามภาระหนี้จ่ายที่สูง มิติที่สองคือเรื่องเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจการเงิน โดยหนี้ที่สูงสะท้อนถึงความเปราะบางทางการเงินของครัวเรือน ทำให้ภาคครัวเรือนขาดภูมิคุ้มกันและอยู่ในสถานะที่อ่อนไหวต่อความผันผวนทางเศรษฐกิจมากจนเกินไป (too sensitive to economic shocks) เช่น ไม่สามารถจ่ายหนี้ได้เมื่อรายได้ไม่เป็นไปตามคาด หรือเมื่อรายได้จากการทำงานล่วงเวลา (OT) ลดลง เป็นต้น อาการขาดภูมิคุ้มกันดังกล่าวสุ่มเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเผชิญกับปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ในวงกว้าง (massive default) ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวรุนแรงหรือในบางกรณีอาจพัฒนาลุกลามไปสู่วิกฤตทางเศรษฐกิจได้ในที่สุด จะเห็นได้ว่าการก่อหนี้ที่มากจนเกินไปจะมีข้อเสียมากกว่าข้อดีที่ได้จากการเข้าถึงบริการทางการเงินด้านสินเชื่อ (access to credit) จุดสมดุลของการก่อหนี้ที่ดีคือ ระดับหนี้ต้องไม่สร้างปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ (NPL) ทั้งในวันนี้และในอนาคตหรือกล่าวอีกนัยคือ หากครัวเรือนไทยมีฐานะทางการเงินที่เข้มแข็ง เช่น มีการเก็บออมอย่างเหมาะสมหรือมีการวางแผนทางการเงินที่ดี การก่อหนี้ก็จะไม่สร้างปัญหาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ และประโยชน์จากการเข้าถึงแหล่งสินเชื่อที่มากขึ้นก็จะได้รับอย่างเต็มประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม งานศึกษาเกี่ยวกับหนี้ครัวเรือนไทยที่ผ่านมาชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงที่ว่าครัวเรือนไทย “เป็นหนี้สูง เป็นหนี้กันเร็ว และเป็นหนี้นานตลอดช่วงชีวิต[1]” นอกจากนี้ ข้อมูลจากแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) ยังชี้ว่า ครัวเรือนไทยมีอัตราการออมลดลงในทุกกลุ่มรายได้ในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (ภาพที่ 1) การออมน้อย การมีหนี้สูง และการเป็นหนี้นานเป็นผลลัพธ์ที่มีความเชื่อมโยงกัน เพราะการออมน้อยทำให้ครัวเรือนเวลาจะกู้จำเป็นต้องกู้แบบเต็มมูลค่า (เป็นหนี้สูง) และเมื่อมีหนี้สูง ผู้กู้จะเลือกผ่อนในระยะเวลานาน (เป็นหนี้นาน) เพื่อกดไม่ให้ภาระผ่อนต่อเดือนสูงเกินไป (เพราะเงินเหลือต่อเดือนที่จะผ่อนมีน้อย) ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเงินออมที่เก็บสะสม (stock of savings) และ/หรือเงินเหลือต่อเดือน (flow of savings) ของครัวเรือนนั้นมีน้อยเกินไป (ภาพที่ 2) การผลักดันนโยบายด้านการออมของครัวเรือนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน

บทความนี้ พยายามจะต่อยอดงานศึกษาเดิมเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่ายของครัวเรือน[2] เพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้นถึงสาเหตุของการมีหนี้ การที่ครัวเรือนมีปัญหาทางการเงิน[3] และสาเหตุที่ทำให้ครัวเรือนไทยมีอัตราการออมลดลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อภาคครัวเรือนในการตระหนักรู้ และต่อหน่วยงานภาครัฐในการผลักดันนโยบายเพื่อให้ภาคครัวเรือนมีวินัยทางการเงินมากขึ้น


ข้อมูลและนิยามสำคัญที่ใช้ในบทความนี้

ข้อมูลที่ใช้ศึกษาพฤติกรรมการออมและการใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งหมดในบทความนี้มาจากแบบสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยใช้ข้อมูลตั้งแต่ปี 2552 - 2560[4] ซึ่งสำรวจประมาณปีละ 40,000 - 50,000 ครัวเรือนทั่วประเทศ งานศึกษานี้ได้สร้างตัวแปรต่างๆ สำหรับการวิเคราะห์พฤติกรรมของครัวเรือนและมีการใช้คำศัพท์เฉพาะ จึงขออธิบายคำนิยามและวิธีการคำนวณที่เกี่ยวข้องดังนี้

1. ครัวเรือนที่มีปัญหา (ทางการเงิน) คือ ครัวเรือนที่มีรายรับต่อเดือนน้อยกว่ารายจ่ายต่อเดือน โดยรายจ่ายต่อเดือนสำหรับกลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้จะนับรวมภาระหนี้ที่ต้องจ่ายต่อเดือนด้วย

2. การคำนวณอายุเฉลี่ยของครัวเรือน จะคำนวณโดยให้น้ำหนักอายุตามสัดส่วนรายได้ของสมาชิกในครัวเรือน (weighted average age by income) กล่าวคือ หากแหล่งรายได้หลักของครัวเรือนมาจากสมาชิกอายุน้อย
อายุเฉลี่ยของครัวเรือนนั้นๆ ก็จะต่ำ ขณะที่ครัวเรือนที่มีอายุเฉลี่ยสูงจะมีแหล่งรายได้หลักมาจากสมาชิกที่มี
อายุมาก

3. สัดส่วนรายได้มั่นคง (stable income ratio) คำนวณโดยการหารรายได้ที่มั่นคงด้วยรายได้ทั้งหมดของครัวเรือน ทั้งนี้ รายได้ที่มั่นคงถูกนิยามตามความถี่ของรายรับ เช่น รายได้ของสมาชิกในครัวเรือนที่ได้รับเงินเป็นรายเดือนจะถูกนับเป็นรายได้ที่มั่นคง ส่วนสมาชิกในครัวเรือนที่รับรายได้ในความถี่อื่น เช่น รายวัน
รายสัปดาห์ รายชิ้นงาน หรือตามฤดูกาลจะถูกนับเป็นรายได้ที่ไม่มั่นคง โดยรายได้ของผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ไม่ได้รับเงินเดือนจะถือเป็นรายได้ที่ไม่มั่นคง

4. ประเภทของรายจ่าย แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ (1) รายจ่ายจำเป็น (2) รายจ่ายฉุกเฉิน (3) รายจ่ายไม่จำเป็น และ (4) รายจ่ายภาระหนี้ โดยมีรายละเอียดดังนี้
-
รายจ่ายจำเป็นประกอบด้วยรายจ่ายที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยสี่ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าเสื้อผ้า ค่าอาหาร ค่าเวชภัณฑ์และค่าตรวจรักษาพยาบาลพื้นฐาน นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายจำเป็นยังนับรวมค่าใช้จ่ายอีก 2 หมวด คือ หมวดค่าเดินทางและหมวดเพื่อการศึกษา
- รายจ่ายฉุกเฉินประกอบด้วยค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน อาทิ ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยใน
-
รายจ่ายไม่จำเป็นประกอบด้วยรายจ่ายอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงใน 2 ข้อแรกแต่ยังไม่รวมภาระหนี้ อาทิ ค่าใช้จ่ายในหมวดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ เครื่องสำอาง ของใช้ส่วนบุคคลที่ไม่จำเป็นการเดินทางในโอกาสพิเศษและการท่องเที่ยว การสื่อสาร และการบันเทิง เป็นต้น
-
รายจ่ายภาระหนี้ประกอบด้วยค่างวดหรือค่าผ่อนต่อเดือน ซึ่งนับรวมทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย

หากไม่นับรวมรายจ่ายภาระหนี้ ข้อมูล SES ระหว่างในปี 2552 - 2560 จะให้ค่าเฉลี่ยของสัดส่วนรายจ่ายจำเป็นสูงถึงร้อยละ 75 ซึ่งน่าจะสูงกว่าความเป็นจริง เนื่องจากค่าใช้จ่ายหลายหมวดในรายจ่ายจำเป็นมีส่วนที่
ทับซ้อนกับรายจ่ายไม่จำเป็นด้วยแต่ไม่สามารถแยกออกได้ เช่น ค่าอาหาร ซึ่งนับรวมค่าอาหารจากภัตตาคารแพงๆ หรือค่าเสื้อผ้าที่นับรวมสินค้าแบรนด์เนมเข้าไปด้วย เป็นต้น ส่วนรายจ่ายฉุกเฉินถือเป็นส่วนน้อย โดยคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.1 ของรายจ่ายทั้งหมดเท่านั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะประมาณครึ่งหนึ่งของครัวเรือนไม่มีรายจ่ายประเภทดังกล่าว


8 ข้อเท็จจริงที่ได้จากผลการศึกษาปัญหาทางการเงินของครัวเรือน

เพื่อทำความเข้าใจต่อข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติกรรมการใช้จ่าย การออม และปัญหาการเงินของครัวเรือนให้ดียิ่งขึ้น งานศึกษานี้จะใช้ทั้งวิธีการประมวลผลจากข้อมูล SES โดยตรง ประกอบกับการประมวลผลด้วยการคุมปัจจัยต่างๆ ให้คงที่ด้วยวิธีทางเศรษฐมิติ (econometric model) ซึ่งผลของการศึกษาสามารถสรุปได้เป็น 8 ข้อเท็จจริงดังนี้

ข้อเท็จจริงที่ 1 : ความเปราะบางของครัวเรือนกระจุกตัวมากขึ้นในครัวเรือนที่มีหนี้ ขณะที่ครัวเรือนที่ไม่มีหนี้
มีความเปราะบางลดลงต่อเนื่อง

ข้อมูล SES ชี้ว่า สัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้โน้มลดลงจากร้อยละ 61 ในปี 2552 มาอยู่ที่ร้อยละ 51 ในปี 2560 (ภาพที่ 3) แต่ระดับหนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือน (ที่มีหนี้) กลับเพิ่มสูงขึ้นเกือบ 2 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว (ภาพที่ 4) สะท้อนว่าหนี้ที่สูงกระจุกตัวอยู่กับครัวเรือนหรือผู้กู้รายเดิม ซึ่งสอดคล้องกับงานศึกษาของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์[5] ที่พบว่า “การขยายตัวของหนี้ครัวเรือนไทยในรอบ 9 ปีที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ยังกระจุกตัวอยู่กับผู้กู้รายเดิม และมีสัดส่วนเพียง 1 ใน 5 ที่มาจากการขยายตัวของผู้กู้รายใหม่” ส่งผลให้ความเปราะบางกระจุกตัวมากขึ้นในครัวเรือนที่มีหนี้ โดยสัดส่วนครัวเรือนที่มีหนี้และมีปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายโน้มสูงขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60 ขณะที่สัดส่วนดังกล่าวของครัวเรือนที่ไม่มีหนี้โน้มลดลง[6] (ภาพที่ 5)

ข้อเท็จจริงที่ 2 : ภาระหนี้และรายจ่ายไม่จำเป็นคือปัญหาหลักที่ทำให้ครัวเรือนไทยมีรายรับไม่พอรายจ่าย

คำถามที่สำคัญเกี่ยวกับการเป็นหนี้คือ ปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายจนทำให้ครัวเรือนต้องก่อหนี้มีความรุนแรงขนาดไหน? ข้อมูลจาก SES ที่แบ่งรายจ่ายตามประเภทต่างๆ ชี้ว่า มีครัวเรือนประมาณกว่าร้อยละ 10 (เส้นสีเขียวในภาพที่ 6) ซึ่งถือเป็นส่วนน้อยที่มีรายรับไม่พอรายจ่ายจำเป็น[7] แต่เมื่อนับรวมรายจ่ายไม่จำเป็นเข้าไปด้วย จะทำให้สัดส่วนครัวเรือนที่มีปัญหารายรับไม่พอรายจ่ายเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30[8] (เส้นสีส้มในภาพที่ 6) และหากเพิ่มภาระหนี้เข้าไปในรายจ่ายด้วยก็จะทำให้สัดส่วนดังกล่าวสำหรับครัวเรือนที่มีหนี้ปรับสูงขึ้นถึงร้อยละ 60 (เส้นสีน้ำเงินในภาพที่ 6) นอกจากนี้ มีข้อสังเกตว่าหากนับเฉพาะรายจ่ายจำเป็น สัดส่วนครัวเรือนที่มีปัญหาทางการเงินแทบจะไม่ต่างกันระหว่างกลุ่มที่มีหนี้และไม่มีหนี้ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 กลุ่มจะเริ่มมีมากขึ้นหากนับรวมรายจ่ายไม่จำเป็น[9] และยิ่งเพิ่มมากขึ้นอีกเมื่อนับรวมรายจ่ายด้านภาระหนี้ ซึ่งชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการปลดภาระหนี้ โดยหากทำได้สำเร็จจะทำให้สัดส่วนครัวเรือนไทยที่มีปัญหาทางการเงินลดลงอย่างมาก

ข้อเท็จจริงที่ 3 : รายได้ที่ผันผวนไม่ใช่ปัจจัยหลักที่ทำให้ครัวเรือนก่อหนี้สิน แต่เป็นรายได้ที่มั่นคงที่ทำให้เข้าถึง
บริการทางการเงิน (ก่อหนี้) ได้ดีขึ้น

หนึ่งในเหตุผลที่ทำให้ครัวเรือนอาจต้องก่อหนี้คือ การที่ครัวเรือนมีรายได้ผันผวนจนไม่สามารถประเมินรายได้ในอนาคตได้ดีเท่าที่ควร และอาจสร้างปัญหาในการบริหารเงินจนนำไปสู่การก่อหนี้ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจาก SES ชี้ว่า ครัวเรือนไทยมีสัดส่วนรายได้ที่มั่นคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกกลุ่ม (ภาพที่ 7) ทั้งกลุ่มที่มีหนี้และไม่มีหนี้ หรือกลุ่มที่มีปัญหาและไม่มีปัญหาทางการเงิน สะท้อนถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ครัวเรือนไทยไม่ได้มีปัญหาด้านรายได้ที่ผันผวนเหมือนในอดีต ส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรที่ตกต่ำในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้แรงงานเคลื่อนย้ายจากภาคเกษตรไปสู่การเป็นลูกจ้างในภาคบริการมากขึ้น โดยเฉพาะภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยว นอกจากนี้ การที่ภาคครัวเรือนมีแหล่งรายรับที่มั่นคงมากขึ้นส่งผลให้สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดีขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินมักจะให้เครดิตกับผู้กู้ที่มีรายได้มั่นคงมากกว่า ดังนั้นถือได้ว่า การเพิ่มขึ้นของรายได้ที่มั่นคงเป็นปัจจัยที่เอื้อให้เกิดการก่อหนี้สิน


ข้อเท็จจริงที่ 4 : ยิ่งครัวเรือนมีสัดส่วนรายได้มั่นคงสูงขึ้น ก็จะมีการใช้จ่ายมากขึ้น ขณะที่อัตราการออมจะลดลง
สะท้อนถึงการขาดความระมัดระวังในการใช้จ่าย

การศึกษานี้พบว่า หลังจากคุมลักษณะและปัจจัยต่างๆ ของครัวเรือนให้คงที่[10] ครัวเรือนที่มีสัดส่วนรายได้มั่นคงสูงๆ จะมีค่าใช้จ่ายรวม (ไม่รวมภาระหนี้) สูงขึ้นตามไปด้วย และมีอัตราการออมที่ลดลงเมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีรายได้ผันผวน ผลลัพธ์ดังกล่าวอาจชี้ให้เห็นถึงความชะล่าใจของครัวเรือนที่มีรายได้มั่นคงสูงจึงมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายน้อยกว่าครัวเรือนที่มีรายได้ผันผวน โดยเมื่อเทียบกับครัวเรือนที่มีสัดส่วนรายได้มั่นคงต่ำกว่าร้อยละ 20 แล้ว ครัวเรือนที่มีสัดส่วนรายได้มั่นคงสูงเกินกว่าร้อยละ 80 จะมีรายจ่ายสูงกว่าประมาณร้อยละ 6.5 ต่อเดือน ขณะที่อัตราการออมจะต่ำกว่าประมาณร้อยละ 2.0[11] ต่อเดือนอย่างมีนัยทางสถิติ (ภาพที่ 8)

ข้อเท็จจริงที่ 5 : ครัวเรือนรุ่นหลังๆ (Gen Y) มีการใช้จ่ายมากกว่ารุ่นก่อนๆ ค่อนข้างมาก

จากข้อเท็จจริงที่ 2 ซึ่งพบว่าครัวเรือนที่มีหนี้กว่าร้อยละ 60 อาจประสบปัญหารายรับไม่พอรายจ่าย
กลุ่มดังกล่าวมีพฤติกรรมการใช้จ่ายที่แตกต่างจากครัวเรือนที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหาทางการเงินอย่างชัดเจน โดยการศึกษานี้ได้ตั้งคำถามว่า หากคุมลักษณะและปัจจัยต่างๆ ของครัวเรือน เช่น รายได้ อาชีพและทำเลที่อยู่อาศัยให้คงที่แล้ว การใช้จ่ายของครัวเรือนในช่วงปีหลังๆ คือ ปี 2556 - 2560 จะแตกต่างกับปี 2554 หรือไม่ และแต่ละกลุ่มมีความแตกต่างกันอย่างไร ซึ่งพบว่า การใช้จ่ายของครัวเรือนที่มีปัญหาทางการเงินเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตค่อนข้างมาก โดยเฉพาะกลุ่มครัวเรือนที่มีอายุเฉลี่ย 0 - 30 ปี หรือกลุ่ม Gen Y ที่เห็นการใช้จ่ายเร่งขึ้นสูงในปี 2560 โดยเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 30 เทียบกับปี 2554 ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีอายุเฉลี่ย 31 - 50 ปีก็มีการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเช่นกัน แต่เพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยกว่า ในทางกลับกัน กลุ่มครัวเรือนที่มีหนี้แต่ไม่มีปัญหาทางการเงินจะมีการใช้จ่ายลดลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ (ภาพที่ 9) ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันนี้อาจเป็นข้อบ่งชี้ได้ว่า ครัวเรือนที่มีหนี้แต่ไม่ระวังการใช้จ่ายมักจะประสบปัญหาทางการเงิน ขณะที่ครัวเรือนที่มีหนี้และมีวินัยในการใช้จ่ายก็จะไม่มีปัญหาทางการเงิน