นาทีนี้หันไปทางไหนก็มีแต่คนพูดถึง “เมทาเวิร์ส (Metaverse)” กันมากขึ้นในวงการเทคโนโลยี โดยเฉพาะจากการประกาศวิสัยทัศน์ของเฟสบุ๊คที่เปลี่ยนตัวเองจากบริษัทโซเชียลมีเดียไปเป็นบริษัทเมทาเวิร์ส และถึงขนาดเปลี่ยนชื่อบริษัทเลยทีเดียว ในฐานะที่ผู้เขียนเองเป็นแฟนภาพยนตร์ซีรีย์แนว Sci-fi และซุปเปอร์ฮีโร่ ต้องยอมรับว่า เมื่อได้ยินคำนี้ทีแรก ก็พลอยนึกไปถึงคำว่า “มัลติเวิร์ส (Multiverse)” อันแปลว่า พหุจักรวาล หรือ จักรวาลหลายมิติที่มีอยู่แล้วในธรรมชาติ ซึ่งมีรากฐานแนวคิดจากทฤษฎีฟิสิกส์สมัยใหม่ กล่าวคือ แต่ละจักรวาลมีตัวตนของนาย ก อยู่ โดยจักรวาลอื่น ๆ ก็มีนาย ก เช่นกัน แต่อาจไม่เหมือนนาย ก ในมิตินี้ อันที่จริง เมทาเวิร์ส ก็ไม่ได้มีความหมายหนีพ้นไปจากมัลติเวิร์สเท่าใดนัก เพราะแปลตรงตัวได้ว่า จักรวาลที่ล้ำหรือเหนือออกไป (meta คือ ล้ำ/เหนือ ส่วน verse คือ จักรวาล) แต่มีความแตกต่างสำคัญคือ จะเป็นจักรวาลที่มนุษย์สร้างขึ้นเอง วันนี้จึงมาชวนท่านผู้อ่านทำความรู้จักกันครับ

Future digital technology cyber virtual game entertainment metaverse, Teenager having fun play game VR virtual reality goggle, sport game 3D cyber space futuristic metaverse neon colorful background,

ในปัจจุบัน เมทาเวิร์สเป็นเพียงแนวคิดเบื้องต้น แต่มุ่งพัฒนาเป็นโลกเสมือนจริง 3 มิติที่ผสานเทคโนโลยี Virtual Reality (VR)1 และ Augmented Reality (AR)2 เข้าด้วยกัน โดยผู้ที่อยู่ในเมทาเวิร์สจะไม่ได้แค่เข้าไป “ดู” อย่างเดียว แต่จะ “มีส่วนร่วม” ด้วย หากนึกภาพไม่ออก ขอให้ท่านผู้อ่านจินตนาการถึงภาพยนตร์ไตรภาค the Matrix อันโด่งดังในอดีต (กำลังจะมีภาคที่ 4 ในอนาคตอันใกล้นี้) ซึ่งเป็นโลกเสมือนที่คอมพิวเตอร์สร้างขึ้นและเราเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ในนั้น ขณะที่ตัวจริงของเรานอนสลบไสลไม่ได้สติอยู่ในโลกจริง หรือเรื่องยอดนิยมเมื่อไม่นานมานี้อย่าง Ready Player One ที่พระเอกสวมแว่นและเครื่องมือต่าง ๆ เพื่อเข้าไปเล่นเกม มีตัวอวตาร (avatar) ที่ออกแบบอย่างไรก็ได้ เมทาเวิร์สก็ไม่ต่างจากลักษณะของโลกเสมือนใน Ready Player One แต่เพิ่มเติมออกไปจากการเป็นเพียงแค่เกม คือ จะมีโครงสร้างและระบบเศรษฐกิจสังคมที่อยู่ในโลกเสมือนนั้นด้วย

NFT (Non-Fungible Token) คือ ตัวอย่างของสินทรัพย์ที่จะมีการซื้อขายในระบบเศรษฐกิจของเมทาเวิร์ส และอาจจะมีการแลกเปลี่ยนซื้อขายโดยใช้คริปโทเคอร์เรนซีมาเป็นสื่อกลาง ผู้เขียนเชื่อว่าท่านผู้อ่านคงจะคุ้นเคยกับ NFT กันมาบ้างแล้ว มันคือสินทรัพย์ที่มีความจำเพาะหรือลักษณะเฉพาะตัว ไม่มีอะไรมาปลอมแปลงมันได้ เช่น ภาพเขียนศิลปะบนโลกดิจิทัลที่มีเพียงชิ้นเดียวหรือมีจำนวนจำกัด หรือแม้แต่กรรมสิทธิ์ที่ดินในโลกออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบัน มีอุปสงค์ในการถือครองสินทรัพย์เหล่านี้เพิ่มขึ้นมาก แม้เราจะไม่สามารถจับต้องมันได้เลยก็ตาม!

มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านอาจสงสัยว่า แล้วเมทาเวิร์สมีความสำคัญอย่างไร? โลกแห่งความเป็นจริงก็ดีอยู่แล้ว เหตุใดต้องมีเมทาเวิร์สด้วย? ผู้เขียนขอแสดงทัศนะโดยตอบคำถามนี้ แยกออกเป็น 2 มุมมอง

มุมมองแรก ในฐานะของนักเศรษฐศาสตร์ การมีเมทาเวิร์สจะช่วยสร้างระบบนิเวศ (ecosystem) ของโลกใหม่ ซึ่งเป็นโลกเสมือนที่จะมีมูลค่าเพิ่มจากปฏิสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันที่เข้าไปอยู่ในโลกเสมือนนี้ โดยจะมีผู้ใช้งานมากขึ้นเรื่อย ๆ คู่ขนานไปกับผู้ผลิตและนักพัฒนาที่จะเห็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ มากมาย และจะเข้ามาสร้างนวัตกรรมในด้านต่าง ๆ อาทิ การต่อยอดระบบการเงินในโลก DeFi การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์แบบดิจิทัล ตลอดจนการสร้างที่พักผ่อนหย่อนใจรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับผู้คนแบบเสมือนจริง เช่น การชมภาพยนตร์ คอนเสิร์ต หรือแม้แต่การสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ที่อยู่อีกฟากโลกหนึ่งแบบสามมิติก็เป็นได้

อีกมุมมองหนึ่ง ในฐานะของผู้ศึกษาจิตวิทยาและธรรมะ แม้ในแง่บวก เมทาเวิร์สจะสามารถเป็นที่พักผ่อนสำหรับผู้คน แต่ในทางกลับกัน อาจกลับทำให้มนุษย์ “ฝังตัวเอง” อยู่ในโลกเสมือน และเกิดภาวะ “ซึมเศร้า” อย่างถลำลึกกว่าแต่ก่อน กล่าวคือ มีงานวิจัยหลายชิ้นพบว่าการใช้โซเชียลมีเดียมีผลต่อสุขภาพจิตที่แย่ลง อาทิ ทำให้เกิดอาการ FOMO (Fear of missing out) หรือ อาการกลัวตกกระแส ต้องใช้ชีวิตอยู่กับโลกออนไลน์อยู่ตลอดเวลา การเกิดความทุกข์ตรมทางจิตใจจากสภาวะความริษยาผ่าน Facebook (Facebook envy) เพราะเรามักจะเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ๆ ในโลกออนไลน์โดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะการที่ได้เห็นการใช้ชีวิตหรูหราของคนอื่น ท่านผู้อ่านลองจินตนาการโลกที่คนติดเมทาเวิร์ส ซึ่งมีเทคโนโลยีล้ำลึกยิ่งกว่าโซเชียลมีเดียดูสิครับว่าจะเพิ่มความรุนแรงของการเปรียบเทียบขนาดไหน ยกตัวอย่างเช่น การอวดให้เห็นฐานะอันมั่งมีของตนจากการถือครอง NFT ผู้ใช้ที่ขาดสติจะยิ่งเกิดความโลภ โกรธ หลง อันอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงขึ้นได้โดยไม่รู้ตัว

ดังนั้น สิ่งที่อยากจะฝากท่านผู้อ่านไว้ก็คือ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นเหรียญสองด้าน เทคโนโลยีก็เช่นกัน เราต้องเป็นผู้พัฒนา ควบคุมและใช้เทคโนโลยี แต่อย่าให้เทคโนโลยีมาควบคุมชีวิตเรา การมี “สติ” และ “ฉลาดใช้” ในเทคโนโลยีมีความสำคัญมาก รู้จักใช้อย่างไม่ทำลายตนเองก็จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดีครับ!


อ้างอิง

1 เป็นเทคโนโลยีที่คอมพิวเตอร์จำลองสภาพแวดล้อมเสมือนขึ้น โดยส่วนมากจะเกี่ยวข้องกับการมองเห็น แสดงทั้งบนจอคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์แสดงผลสามมิติ มีความสมจริงเพราะสามารถจะหันเปลี่ยนมุมมองได้รอบทิศ 360 องศา ถือเป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนจริงในยุคบุกเบิก (ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์)

2 เป็นเทคโนโลยีโลกเสมือนที่พัฒนาขึ้นในยุคถัดมา โดยผสานเอาโลกแห่งความเป็นจริง (real) เข้ากับโลกเสมือน (virtual) ผ่านทางอุปกรณ์ webcam กล้องมือถือ คอมพิวเตอร์ รวมกับการใช้ software ต่าง ๆ ทำให้สามารถมองเห็นภาพที่มีลักษณะเป็น object เช่น คน สัตว์ สิ่งของ สัตว์ประหลาด ยานอวกาศ แสดงผลในจอภาพกลายเป็นวัตถุ 3 มิติลอยอยู่เหนือโลกแห่งความเป็นจริงได้ ยกตัวอย่างเช่น แอปพลิเคชันยอดนิยมอย่าง Pokemon Go (ที่มา: กรมประชาสัมพันธ์)


ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2564


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย