​เพราะเหตุใด...การส่งออกไทยจึงตกขบวน?

นายวศิน โรจยารุณ

นับตั้งแต่กลางปี 2556 จนถึงปัจจุบัน การส่งออกประเทศในภูมิภาคอาเซียนและเอเชียตะวันออกโดยเฉพาะเกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ต่างทยอยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มาโดยลาดับ การส่งออกของประเทศดังกล่าวต่างขยายตัวดีแตกต่างจากการส่งออกของไทยที่ใน 7 เดือนแรกยังคงหดตัว ทั้งๆ ที่เมื่อต้นปีหลายหน่วยงานประเมินกันว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 4-7% สะท้อนให้เห็นว่าการส่งออกของไทยมีปัญหาเฉพาะตัวทาให้ไม่สามารถเกาะขบวนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกได้เหมือนประเทศอื่น เพราะหากพิจารณาโครงสร้างตลาดส่งออกของไทยและเพื่อนบ้านแล้วพบว่ามิได้มี ความแตกต่างกันมากนัก ทุกประเทศจึงควรจะได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในทิศทางเดียวกัน

จุดที่ทำให้ทิศทางการส่งออกไทยต่างไปจากประเทศเพื่อนบ้านมาจากโครงสร้างสินค้าส่งออก ของไทยเอง ซึ่งมีทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างการผลิตที่ต้องใช้เวลานานในการแก้ไข และปัญหาชั่วคราวที่พึ่งเกิดขึ้นในระยะหลัง โดยส่วนที่เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างมีสัดส่วนถึงกว่า 20% ของการส่งออกรวม ที่เห็นได้ชัดคือ สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรรวม (Integrated Circuit: IC) และส่วนประกอบต่างๆ ของ Smart Phone และ Tablet ที่ประเทศเพื่อนบ้านสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นมาก ในขณะที่การส่งออก ของไทยกลับขยายตัวเพียงเล็กน้อย (ภาพที่ 1) เนื่องจากไทยขาดการลงทุนเพื่อยกระดับเทคโนโลยีมานาน ทำให้ความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกลดลงต่างกับประเทศอื่นๆ ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรและ R&D มากกว่า จึงสามารถดึงดูดการลงทุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และขยายการผลิตสินค้ากลุ่ม Higher-end ที่มีมูลค่าสูงกว่าของไทย เห็นได้ชัดจากผลสำรวจของ World Economic Forum ล่าสุดที่พบว่าความสามารถการแข่งขันของไทยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมของไทยด้อยกว่าเพื่อนบ้าน (ภาพที่ 2)


อีกหมวดสินค้าที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างคือ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่ เนื่องจากอุปทานของโลกเพิ่มขึ้นมากจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกในช่วงก่อนหน้าของประเทศผู้ผลิตหลัก ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย รวมไปถึงจีน ส่งผลให้ระดับราคาปรับลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 สถานการณ์ดังกล่าวทำให้แนวโน้มการส่งออกยางพาราของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกลดลงในทิศทางเดียวกัน แต่ผลกระทบสาหรับไทยนั้นดูจะมีมากกว่าเพราะไทยมีสัดส่วนการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งในกรณีของยางพารานี้คล้ายกับกรณีของน้ำมันดิบที่พบกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างครั้งใหญ่หลังสหรัฐอเมริกาค้นพบแหล่งเชลล์แก๊สและเชลล์ออยล์จำนวนมาก ทาให้ราคาน้ำมันดิบไม่กลับไปอยู่ในระดับสูงเช่นอดีต

นอกเหนือไปจากปัญหาเชิงโครงสร้างซึ่งเป็นปัญหาระยะยาวแล้ว ในปีนี้การส่งออกอีกประมาณ 8% ได้รับผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราว ได้แก่ กุ้งแปรรูปที่ยังมีปัญหาโรคกุ้งตายด่วน (EMS) ทำให้ไม่มีสินค้าส่งออก การส่งออกปิโตรเลียมหดตัวสูงเนื่องจากในปีนี้มีการปิดซ่อมบำรุงของอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันอย่างต่อเนื่องและยาวนานกว่าปกติ และน้ำตาลที่ปริมาณและราคาส่งออกหดตัวเนื่องจากภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลก แต่ในกรณีของน้ำตาลแตกต่างจากยางพาราเนื่องจากรอบการเพาะปลูกใช้เวลาสั้นกว่าจึงสามารถปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชอื่นๆ ทดแทนได้

สินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากปัจจัยชั่วคราวนี้เป็นปัญหาที่ไม่น่าหนักใจเท่าใดนัก สิ่งที่น่ากังวลกว่าคือสินค้าที่มีปัญหาเชิงโครงสร้างระยะยาวซึ่งมีสัดส่วนสูงถึงกว่า 20% ของการส่งออกรวมของไทย การจะหวังให้ส่งออกหมวดอื่นๆ ขยายตัวสูงเพื่อชดเชยหมวดที่มีปัญหาคงไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อประเทศเพื่อนบ้านต่างเร่งพัฒนาขีดความสามารถการแข่งขันของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือหมวดยานยนต์ ที่กำลังถูกท้าทายจากอินโดนีเซียจากการขยายกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อทดแทนการนำเข้า รวมทั้งเริ่มแข่งขันกับไทยในตลาดโลก

ภาคส่งออกที่อ่อนแอนี้เป็นเพียงสัญญาณเริ่มต้นของปัญหาเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งการจะผลักดันให้ภาคการส่งออกเข้มแข็งขึ้นในระยะยาวนั้นต้องพิจารณาแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นหลักและต้องลงมือแต่เนิ่นๆ เพราะการแก้ไขกว่าจะเห็นผลอาจกินเวลานานอีกหลายปี สิ่งหนึ่งที่ภาครัฐควรดำเนินการทันทีคือการลดการบิดเบือนตลาดเพื่อช่วยเหลือภาคการผลิตที่ล้าสมัยหรือไม่สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก เช่น นโยบายแทรกแซงราคา แรงงานต่างด้าวที่มีต้นทุนถูกและมีจำนวนมาก หรือระดับอัตราแลกเปลี่ยนที่อ่อนเกินควร รวมถึงการสร้างแรงจูงใจดึงดูดให้เกิดการลงทุนเพื่อเพิ่มศักยภาพการผลิตสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูงและเป็นที่ต้องการของตลาด ควบคู่ไปกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อให้สอดรับกับการผลิตดังกล่าว ซึ่งหากผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ตระหนักและวางแผนแก้ไขอย่างจริงจังแล้วอาจเป็นสาเหตุให้การส่งออกของไทยต้องตกขบวนไปอย่างถาวรก็เป็นได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย