​SMEs ไทยยุคใหม่กับการใช้เทคโนโลยีเพื่อก้าวทัน e-Commerce

​นางสาวสุภาพรรณ วัฒนาอุดมชัย

SMEs มีบทบาทสำคัญเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของหลาย ๆ ประเทศ เช่นเดียวกับ SMEs ไทยที่เป็นธุรกิจขนาดเล็กจำนวนมาก สร้างงานจำนวนมาก รวมทั้งมีส่วนช่วยดูดซับแรงงานว่างของภาคเกษตรในช่วงหลังฤดูกาลเก็บเกี่ยว จากข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ชี้ว่าผลิตภัณฑ์มวลรวม SMEs ไทยปี 2556 มีมูลค่า 4.5 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 37.4 ของ GDP ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงนักจากร้อยละ 37.8 ในปี 2552 ทำให้เกิดคำถามว่าเราจะมีวิธีใดที่จะ ส่งเสริมให้ธุรกิจการค้าของ SMEs ขยายตัวให้มากขึ้นได้ บทความนี้จึงต้องการนำเสนอแนวความคิดให้กับ SMEs รายกลางและรายเล็กให้เห็นถึงความสำคัญ และแนวโน้มของการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการดาเนินธุรกิจของ SMEs ทั้งเพื่อการ บริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อการลดต้นทุน และเพื่อการขยายตลาดให้กว้างขึ้น รวมทั้ง แนวทางที่ส่งเสริมให้ SMEs ใช้เทคโนโลยีในการขยายธุรกิจให้มากขึ้น

ผลการศึกษาจากงานวิจัยของ สสว. จัดทำในปี 2552 (ดูตาราง) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ SMEs ต่อระบบเศรษฐกิจทั้งในแง่ของสัดส่วนจำนวนของผู้ประกอบการต่อผู้ประกอบการรวมที่สูงมากกว่าร้อยละ 90 ในทุกประเทศที่ศึกษาทั้งประเทศไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและเวียดนาม และมีสัดส่วนของผลิตภัณฑ์มวลรวมของ SMEs ใน GDP คิดเป็นประมาณหนึ่งในสี่ในอินโดนีเซีย และเป็นครึ่งหนึ่ง ในสิงคโปร์ ในแง่ของการประยุกต์ใช้นวัตกรรมพบว่า SMEs ของไทยที่นำนวัตกรรมใหม่มาช่วยในการดำเนินธุรกิจยังมีน้อยโดยได้ 3.6 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 น้อยกว่าสิงคโปร์ (8.7 คะแนน) และ มาเลเซีย (4.4 คะแนน) สะท้อนว่าขีดความสามารถในการแข่งขันของ SMEs ไทยจะลดลงหากไม่มีการปรับตัว อย่างไรก็ตาม หากมาดูดัชนีการใช้อินเตอร์เน็ตของ SMEs ของประเทศในกลุ่มภูมิภาคอาเซียนจะเห็นว่าอยู่ในระดับสูงมาก และ SMEs ของไทยยังมีสัดส่วนการใช้อินเตอร์เน็ตต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเล็กน้อยอยู่ที่ร้อยละ 87 ซึ่งอาจสะท้อนถึงประสิทธิภาพของอินเตอร์เน็ต รวมทั้งความสามารถในการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตยังไม่ครอบคลุมในหลายพื้นที่ โดยสิงคโปร์และอินโดนีเซียอยู่ที่ร้อยละ 97 และ 96 ตามลำดับ


ขณะที่สัดส่วนการทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตของ SMEs ไทยสูงกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคอาเซียนอยู่ที่ร้อยละ 34 รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ ร้อยละ 29 และมาเลเซีย ร้อยละ 24 ซึ่งแสดงนัยว่า SMEs ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาการทำธุรกิจบนอินเตอร์เน็ตได้มาก สอดคล้องกับผลสำรวจสถานภาพการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทย ปี 2557 จัดทำโดยสานักงานสถิติแห่งชาติ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พบว่า (ดูรูป) ในปี 2556 ธุรกิจ e-commerce มียอดขายผ่านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 7.7 แสนล้านบาท ขยายตัวเกือบเท่าตัวจากยอดขายปี 2550 โดยหากวิเคราะห์จากข้อมูลการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยปี 2550-2556 พบว่าประมาณครึ่งหนึ่งเป็นมูลค่าการจัดซื้อจัดจ้างโดยวิธีการประมูลงานผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตของภาครัฐ และร้อยละ 35 เป็นการค้าระหว่างผู้ประกอบการกับผู้ประกอบการ B2B (Business to Business) ครอบคลุมถึงเรื่องการขายส่ง การทำการสั่งซื้อสินค้าผ่านทางระบบอิเล็กทรอนิกส์ระบบห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain Management) เป็นต้น ขณะที่ร้อยละ 14 เป็นการค้าระหว่างผู้บริโภคกับผู้บริโภค C2C (Consumer to Consumer) เช่น การแลกเปลี่ยนสินค้ากันเอง ขายของมือสอง เป็นต้น

ภายใต้นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy) ภาครัฐและองค์กรต่างๆ ร่วมกันส่งเสริมให้ธุรกิจ SMEs นำเทคโนโลยีมาพัฒนาธุรกิจเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และ มูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ รวมทั้งเป็นช่องทางเชื่อมโยงการทำธุรกรรมต่าง ๆ ของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้บริโภค ผู้ประกอบการ และภาครัฐบาล เนื่องจากการทำธุรกรรมผ่านอิเล็กทรอนิกส์หรือ e-Commerce มีความสะดวกสามารถใช้กับอุปกรณ์สื่อสารทั้ง Smartphone หรือ Tablet ได้ จากผลการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม โดยธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในไตรมาส 2 ปี 2558 พบว่า ธุรกิจ SMEs ได้นำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในธุรกิจใน 3 ด้านหลัก คือ 1) ด้านการผลิต ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีมีขนาดเล็กลงและราคาถูก ทำให้ธุรกิจสามารถซื้อเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีใหม่จากยุโรปที่มีประสิทธิภาพสูงในราคาถูกลงเกือบครึ่งเพื่อนำมาผลิตวัสดุก่อสร้าง และมีธุรกิจหลายรายตัดสินใจซื้อเครื่องจักรใหม่ทดแทนการขาดแคลนแรงงานเป็นการปรับตัวให้ธุรกิจอยู่รอด รวมทั้งการพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมใหม่ ๆ ร่วมกับหน่วยงานราชการ และสถานศึกษา 2) ด้านการจัดการข้อมูล ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจโลจิสติกส์ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเริ่มนาเทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น เช่น ธุรกิจโลจิสติกส์มีการนาระบบติดตามยานพาหนะ (GPS Tracking System) มาใช้เป็นเครื่องมือหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการขนส่ง นอกจากนี้ จากข้อมูลกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมระบุว่ามีการใช้ระบบ Cloud เพิ่มขึ้นภายหลังน้ำท่วมปี 2554 และพบว่าโรงงานที่ใช้ระบบนี้สามารถลดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อโรงงานได้ประมาณ 3 แสนบาท และ 3) ช่องทางการเงินในปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจการค้าชายแดนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่นิยมทำธุรกรรมทางการเงินกับบริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ต (Online Banking) กับคู่ค้าในประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเพื่อการตรวจสอบการชาระเงินภายหลังการส่งสินค้าแล้ว

นอกจากนี้ จากการศึกษาในอดีตพบว่าธุรกิจส่วนใหญ่จะใช้ e-Commerce เพื่อเพิ่มช่องทางการตลาดและประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการมากกว่าจะใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต การบริหารและการจัดการ ดังนั้นแนวทางที่จะส่งเสริมให้ SMEs ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีในการขยายธุรกิจและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้นนั้น SMEs ไทยควรเพิ่มการนาพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Commerce มาใช้เพื่อสร้างแต้มต่อในการแข่งขันในทางธุรกิจ และขยายตลาดสินค้าสู่ต่างประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งควรนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในกระบวนการผลิตและการบริหารจัดการให้มากขึ้น ขณะที่ภาครัฐควรปรับปรุงระบบขนส่งและลดราคาค่าขนส่ง เพื่อลดต้นทุนด้านเวลาและค่าขนส่งของผู้ประกอบการลง ควรจัดอบรมให้ความรู้และทักษะในการประกอบธุรกิจ e-Commerce แก่ผู้ประกอบการ SMEs ที่มีอยู่จานวนมากอย่างทั่วถึง ตลอดจนร่วมมือกับกลุ่มประเทศในภูมิภาคต่างๆ ในการผลักดันธุรกิจ e-Commerce ระหว่างประเทศให้มากขึ้น

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย