​เมื่อเศรษฐกิจโลกขาลงกำลังมา เครื่องมือนโยบายเหลือพอใช้หรือไม่?

ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน

ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ออกมาแถลงมาตรการผ่อนคลายทางการเงินชุดใหญ่เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2562 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและเร่งให้เงินเฟ้อกลับเข้าเป้า แถมยังระบุชัดในถ้อยแถลงถึงความสำคัญของบทบาทนโยบายปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ รวมถึงบทบาทของนโยบายการคลังที่ควรช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจอีกแรงและจัดสรรการใช้จ่ายภาครัฐให้เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจมากขึ้น จึงน่าคิดว่า การที่ธนาคารกลางสื่อสารให้นโยบายอื่นมาช่วยกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยในเวลานี้ กำลังส่งสัญญาณว่าลำพังแค่เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหลือ (monetary policy space)ในปัจจุบัน อาจมีกำลังไม่มากพอรับมือเศรษฐกิจโลกขาลงหรือไม่?

น่าสังเกตว่าธนาคารกลางต่างๆ ได้ใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายมากเป็นพิเศษลดดอกเบี้ยจนอยู่ในระดับต่ำมากหลังเกิดวิกฤตการเงินโลกปี 2551 โดยธนาคารกลางประเทศหลัก ได้แก่ ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ECB และธนาคารกลางญี่ปุ่น ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจนใกล้ศูนย์และอัดฉีดปริมาณเงินเข้าระบบด้วยการซื้อตราสารทางการเงินของสถาบันการเงิน (quantitative easing: QE) ทำให้งบดุลตัวเองใหญ่ขึ้นมาก ต่อมาธนาคารกลางหลายแห่งลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ออีกจนต่ำกว่า 0% และเก็บค่าธรรมเนียมเงินสำรองส่วนเกินที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้ที่ธนาคารกลางเพื่อให้ไปปล่อยสินเชื่อสู่เศรษฐกิจมากขึ้น

เมื่อเศรษฐกิจหลายประเทศเริ่มเข้มแข็งขึ้น ธนาคารกลางได้ทยอยลดระดับการผ่อนคลายทางการเงินลง โดยมี Fed เพียงรายเดียวที่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้กลับไปใกล้ระดับปกติที่ประเมินไว้ได้ รวมถึงสามารถปรับลดขนาดงบดุลลงได้บ้าง ทำให้ Fed ได้ monetary policy space กลับคืนมาสำหรับใช้ดูแลเศรษฐกิจขาลงรอบใหม่ โดยเฉพาะเครื่องมือการลดดอกเบี้ย ซึ่งเร็วๆ นี้ก็เพิ่งปรับลดดอกเบี้ยไป 2 ครั้งในช่วงไตรมาสที่ 3 เพื่อลดความเสี่ยงจากเศรษฐกิจขาลง ขณะที่ธนาคารกลางหลายแห่งที่เพิ่งทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ไม่ทันไร ก็ต้องปรับลดดอกเบี้ยลงในช่วงปีนี้ และมีบางแห่งที่เตรียมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยและลดขนาดงบดุลจากการทำ QE แต่สุดท้ายก็ไม่ทันได้เริ่มทำ

ECB จัดอยู่ในกลุ่มธนาคารกลางที่ยังไม่ทันเริ่มลดการผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษลง ก็จำเป็นต้องเดินหน้าผ่อนคลายเพิ่มอีก โดยประกาศปรับอัตราดอกเบี้ยบัญชีเงินสำรองส่วนเกินที่ธนาคารมาฝากไว้ลดลงไปอีก 0.1% จากเดิม -0.4% เป็น -0.5% และอัดฉีด QE เพิ่มขึ้นอีกเดือนละ 2 หมื่นล้านยูโร บรรดานักวิเคราะห์เริ่มตั้งข้อสังเกตว่ามาตรการอัตราดอกเบี้ยติดลบและ QE ที่ใช้มายาวนานเช่นนี้จะทำได้อีกเท่าไรและนานเพียงใด แม้หลายงานศึกษาพบว่า 2 มาตรการนี้มีผลดีในระยะสั้นที่ช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัวสูงขึ้นและช่วยให้การคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนปรับดีขึ้น แต่ก็กล่าวถึงผลข้างเคียงในระยะยาวว่าควรจับตาดู เพราะหากออกอาการชัดขึ้นอาจลดทอนผลบวกในระยะสั้นได้

การใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินเป็นพิเศษมานานนับสิบปีอาจส่งผลข้างเคียงทางลบต่อเศรษฐกิจในระยะยาวจากการบิดเบือนตลาด ซึ่งอาจส่งผลให้พฤติกรรมของผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนไปถาวร เช่น ภาคครัวเรือนขาดแรงจูงใจในการฝากเงิน โดยเฉพาะประเทศที่ธนาคารส่งผ่านภาระต้นทุนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากติดลบมายังผู้ฝากเงินบางกลุ่ม (เช่น สวิสเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก) ภาคธนาคารที่ถูกเก็บค่าฝากเงินสำรองส่วนเกินไว้ที่ธนาคารกลางต้องพยายามปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อการอยู่รอด พันธบัตรในตลาดการเงินให้ผลตอบแทนต่ำลงจนติดลบยาวนานขึ้น ภาคส่วนต่างๆ แสวงหาการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นและเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะกองทุนบำเหน็จบำนาญที่ปกติมักจะลงทุนในพันธบัตรระยะยาวต้องปรับพฤติกรรมการลงทุนเพื่อรักษาผลตอบแทนให้สมาชิกมีพอใช้จ่ายหลังเกษียณได้ ภาคธุรกิจอาจติดกับดักเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจนลดความสำคัญของการปรับตัวเพื่อยกระดับความสามารถการแข่งขัน รวมถึงภาครัฐอาจก่อหนี้ได้ง่ายขึ้นจากภาระดอกเบี้ยเงินกู้ที่ต่ำ ดังนั้น แม้บางกลุ่มธนาคารกลางจะก้าวข้ามข้อจำกัดอัตราดอกเบี้ย 0%ไปใช้เครื่องมือนโยบายการเงินแบบไม่ปกติ (unconventional tool) ได้ เช่น อัตราดอกเบี้ยติดลบและ QE ก็อาจต้องเจอกับข้อจำกัดจากผลกระทบในระยะยาวนี้ได้เช่นกัน

สำหรับกลุ่มธนาคารกลางหลายแห่งที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำจนเข้าใกล้ 0% ก็เริ่มเผชิญกับข้อจำกัดของเครื่องมือปกติของนโยบายการเงิน (conventional tool) เช่น ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ที่เพิ่งลดดอกเบี้ยจาก 1.75% เหลือ 1.50% เมื่อเดือน พ.ค. และเหลือ 1% ในเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ทำให้การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากระดับที่ต่ำอยู่แล้ว ต้องคำนึงถึงผลบวกและผลลบมากขึ้น โดยเฉพาะในบางประเทศที่สังคมคาดหวังว่าธนาคารกลางจะยังช่วยดูแลผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกขาลงรอบใหม่ได้อยู่ แม้ขีดความสามารถของนโยบายการคลัง (fiscal policy space) จะเหลือน้อยลงมากหลังถูกใช้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ที่เห็นได้จากตัวเลขหนี้สาธารณะต่อ GDP ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วที่เพิ่มจากราว 70% ต่อ GDP ก่อนปี 2551 เป็นกว่า 100% ในปี 2561 ซึ่งสะท้อนความเสี่ยงของภาคการคลัง

สำหรับประเทศไทยนับว่ายังพอมี policy space ในเครื่องมือนโยบายการเงินและนโยบายการคลัง แต่ก็มีเหลือน้อยลงมากหากเทียบในอดีต ในด้านนโยบายการเงิน อัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่งปรับลดลงจาก 1.75%มาเป็น 1.50% เมื่อเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา แม้ระดับปัจจุบันจะยังไม่ใกล้ 0% แต่ก็อยู่ต่ำกว่าในช่วงวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ณ 3.75% ก่อนทยอยลดเหลือ 1.25% ภายใน 6 เดือนต่อมา สำหรับด้านนโยบายการคลัง หากดูสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ในปัจจุบันที่ 41% อาจยังห่างไกลจากเพดานหนี้ 60% ที่รัฐบาลกำหนด แต่ภาระการคลังจากการเข้าสังคมผู้สูงอายุเร็วกว่าประเทศกำลังพัฒนาอื่น ทั้งจากรายจ่ายหลังเกษียณและรายจ่ายสุขภาพที่จะเพิ่มขึ้นมากยังรออยู่ในวันข้างหน้า (ล่าสุด IMF ประเมินตัวเลขภาระการคลังระยะยาวก้อนนี้ของไทยไว้ค่อนข้างสูงเกินกว่า 100% ของ GDP) หากรัฐบาลหารายได้เพิ่มไม่ทันรายจ่ายก้อนนี้ ก็อาจต้องกู้เงินมาใช้จ่ายทำให้หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น และ fiscal policy space เหลือน้อยลงได้ การประสานนโยบายการเงินและนโยบายการคลังในการใช้ policy space ที่รับลูกกันได้จังหวะ เพื่อรับมือเศรษฐกิจโลกขาลงที่กำลังมากระทบไทย จึงเป็นเรื่องไม่ไกลตัวเราที่น่าติดตาม

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย