นางณัฐา ปิยะกาญจน์
ผ่านมา 2 เดือนเต็มแล้วหลังการลงประชามติของอังกฤษมีมติให้อังกฤษออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปหรือที่เรียกกันว่า Brexit ซึ่งนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ รวมถึงธนาคารกลางอังกฤษมีความเห็นว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอังกฤษค่อนข้างรุนแรง จากการที่อังกฤษมีความเชื่อมโยงกับยุโรปทั้งด้าน การค้าและการลงทุนมาก โดยมีการปรับลดการคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของอังกฤษ ในปี 2560 ลงจากร้อยละ 2.2 เหลือร้อยละ 0.6
อย่างไรก็ดี ผลกระทบต่อเศรษฐกิจอังกฤษเพียงอย่างเดียวก็ยังอาจไม่เป็นประเด็นกับเศรษฐกิจ โลกมากนัก เนื่องจากประเทศนอกกลุ่มยุโรปมีความเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุนกับอังกฤษไม่มาก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า Brexit จะไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้เพราะหาก Brexit จุดชนวนให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองในสหภาพยุโรป ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับสองของโลกก็อาจส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยรวมจึงอาจมองได้ว่าผลกระทบของ Brexit มี 3 มิติด้วยกันคือ (1) Brexit ทำให้เกิดความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองและเสถียรภาพของการรวมกลุ่มสหภาพยุโรป จากกระแสต่อต้านการรวมกลุ่มที่อาจเพิ่มขึ้น ซึ่งจะทาให้มีการเรียกร้องเพื่อทำประชามติ เช่นเดียวกับอังกฤษ โดยปัจจุบันเราเริ่มเห็นการเพิ่มขึ้นของกระแสดังกล่าวบ้างแล้วในหลายประเทศ อาทิ อิตาลีที่คะแนนนิยมของฝ่ายต่อต้านการรวม สหภาพยุโรปปรับเพิ่มขึ้นมาก (2) Brexit อาจจะส่งผลกระทบต่อความเข้มแข็งของระบบธนาคารยุโรป ผ่านความเชื่อมั่นที่ลดลงตามเศรษฐกิจยุโรปที่อาจอ่อนแอลง และจะทำให้ NPL ที่อยู่ในระดับสูงอยู่แล้วปรับสูงขึ้นอีก โดยเฉพาะอิตาลี ซึ่งภาคธนาคารที่อ่อนแอลงอาจส่งผลย้อนให้การฟื้นตัวของสหภาพยุโรปช้าลงได้ และ (3) หากเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอ่อนแอลงมากก็จะส่งผลกระทบต่อการค้าและการลงทุนโลกให้ปรับลดลงมากด้วย
สำหรับกระบวนการในการ Brexit นั้น ล่าสุด รัฐมนตรีที่รับผิดชอบได้ส่งสัญญาณว่าอาจเป็นในไตรมาสที่ 4 ของปี 2560 จากเดิมที่คาดกันว่าจะเป็นต้นปี 2560 ทั้งนี้ เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงการเลือกตั้งในเยอรมนีและฝรั่งเศสในกลางปีหน้าที่อาจทำให้เกิดสุญญากาศในกระบวนการเจรจาและเป็นการให้เวลากับภาคธุรกิจในการปรับตัว อีกทั้งยังเอื้อให้รัฐบาลสามารถเตรียมความพร้อมและข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับอังกฤษ ซึ่งรวมถึงรูปแบบความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจกับสหภาพยุโรป ทั้งรูปแบบที่ใกล้เคียงกับเดิมที่อังกฤษยังมีสิทธิในการเข้าถึงตลาดร่วมยุโรปอย่างเต็มที่ จนถึงรูปแบบความสัมพันธ์ของประเทศ ใน WTO ที่อังกฤษต้องเผชิญกับทั้งกาแพงภาษีศุลกากรและข้อกีดกันการค้าที่สูงขึ้น แต่จะมีความเป็นอิสระมากขึ้นในการบริหารกิจการ ภายในประเทศและการเจรจาการค้ากับประเทศอื่นๆ
ในการรับมือกับ Brexit ด้านเศรษฐกิจของอังกฤษนั้น กระทรวงการคลังได้ส่งสัญญาณ “Reset Fiscal policy” ที่จะเลื่อนเป้าหมายการจัดทำงบประมาณเกินดุลให้ช้าออกไป โดยตลาดคาดว่าจะ มีมาตรการการลดภาษี ทั้งภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกระตุ้นการบริโภค การลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศและป้องกันไม่ให้ภาคธุรกิจโยกย้ายสำนักงานออกจากอังกฤษ รวมทั้งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่อเนื่องและการจ่ายเงินช่วยเหลือให้กับครอบครัวที่มีรายได้ต่ำ สำหรับนโยบายการเงินได้มีการผ่อนคลายมากขึ้นเช่นกัน โดยธนาคารกลางอังกฤษได้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงร้อยละ 0.25 และเพิ่มการเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาลอีก 60 พันล้านปอนด์สเตอร์ลิงเพื่อดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินให้เพียงพอ นอกจากนี้ ยังมีการเข้าซื้อหุ้นกู้ของภาคเอกชนที่ไม่ใช่สถาบันการเงินวงเงิน 10 ล้านปอนด์สเตอร์ลิงเพื่อดูแลต้นทุนการกู้ยืมของภาพเอกชนไม่ให้ปรับสูงขึ้นมาก และมีมาตรการ Term Funding scheme ซึ่งเป็นมาตรการที่ให้สถาบันการเงินกู้เงินได้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยลดทอนผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่จะมีต่อกาไรและงบดุล โดยมาตรการนี้คาดว่าจะช่วยลดต้นทุนเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ และรักษาระดับการปล่อยสินเชื่อใหม่ภายใต้เศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทั้งนี้ ผลสำเร็จของนโยบายด้านการคลังและการเงินคงต้องดูกันต่อไป
สำหรับการรับมือกับผลกระทบของ Brexit ของประเทศอื่นๆ นั้น พูดได้ว่าความไม่แน่นอนจากผลกระทบของ Brexit ต่อเศรษฐกิจโลกและความผันผวนในตลาดการเงินที่เพิ่มสูงขึ้นจาก Brexit มีส่วนทำให้นโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ยังคงผ่อนคลาย ซึ่งทำให้อัตราดอกเบี้ยทั่วโลกยังอยู่ในระดับต่ำต่อไปอีกระยะหนึ่ง โดยจะเห็นได้จากในช่วงที่ผ่านมาที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่นได้ผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม สืบเนื่องจากค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นอย่างรวดเร็วหลังผลโหวต Brexit สำหรับธนาคารกลางยุโรปก็เตรียมพร้อมที่จะผ่อนคลายเพิ่มเติมเช่นกัน
มองไปข้างหน้า ความไม่แน่นอนที่จะเกิดจาก Brexit ยังคงมีอยู่ แม้ว่าในปัจจุบันดูเหมือนตลาดจะให้ความสนใจลดลง แต่การลงประชามติในอิตาลี และการจัดตั้งรัฐบาลในสเปนอาจเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมเป็นระลอกๆ ทำให้ยังควรต้องติดตามพัฒนาของ Brexit และผลกระทบต่อเศรษฐกิจของสหภาพยุโรปอย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี ท่ามกลางผลลบของ Brexit อาจยังมีข่าวดีอยู่บ้างเช่นกัน กล่าวคือ Brexit อาจสร้างโอกาสทางการค้าให้กับประเทศต่างๆ ในการค้าขายกับอังกฤษเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มอาหาร รถยนต์ และเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ที่อังกฤษนำเข้าสินค้ากลุ่มนี้ส่วนใหญ่จากยุโรปโดยไม่มีภาษีในปัจจุบัน Brexit จะทำให้ต้นทุนการนำเข้าจากยุโรปสูงขึ้น นับเป็นโอกาสให้กับประเทศอื่นๆ ให้เข้ามาแข่งขัน หรือทำการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีกับอังกฤษ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในช่วงนี้ มีหลายประเทศที่เริ่มขอเข้าพบกับอังกฤษเพื่อจัดเตรียมการเจรจาทางการค้าในอนาคตเมื่ออังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรป
สำหรับไทย แม้จะไม่ได้รับผลกระทบมากนักจาก Brexit เนื่องจากความเชื่อมโยงด้านการส่งออกและการลงทุนกับอังกฤษไม่สูงมาก แต่ผู้ประกอบการไทยควรที่จะติดตามและเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับต่อความผันผวนในตลาดการเงินและผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นจาก Brexit รวมถึงผลที่สืบเนื่องมายังเศรษฐกิจยุโรปในระยะต่อไป