จีนเป็นประเทศแรกๆ ในโลกที่เดินหน้าทดลองออกใช้สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางสำหรับประชาชน (Retail Central Bank Digital Currency: Retail CBDC) เรียกกันว่า “หยวนดิจิทัล (Digital Yuan: e-CNY)” ที่มีชื่อเป็นทางการว่า DCEP (Digital Currency Electronic Payment) โดยธนาคารกลางจีนเริ่มศึกษาโครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2557 และทดลองนำร่องในหลายเมืองใหญ่ตั้งแต่กลางปี 2563 แต่เพิ่งจะเผยแพร่ความคืบหน้าของการพัฒนาเงินหยวนดิจิทัลเป็นทางการครั้งแรกในเอกสาร white paper ภาษาอังกฤษเมื่อกลางเดือน ก.ค. นี้เอง บางขุนพรหมชวนคิดขอมาอัพเดทเรื่องนี้ และลองดูกันค่ะว่า ก้าวต่อไปของเงินหยวนดิจิทัลคืออะไร จะส่งผลต่อระบบการเงินโลกอย่างไร

Chinese digital currency, conceptual image of the digital Yuan, or e-RMB, on old yuan banknotes


White paper “e-CNY” อยากบอกอะไรให้โลกรู้

ในเอกสารฉบับนี้ระบุว่า ประเทศจีนต้องการมีโครงสร้างพื้นฐานของระบบการชำระเงินรายย่อยรูปแบบใหม่ที่ปลอดภัย ทั่วถึง และเท่าทันเทคโนโลยี ตอบสนองเศรษฐกิจดิจิทัลของจีนที่รุดหน้าเร็ว แม้ระบบการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ เช่น โมบายแบงก์กิ้ง ที่มีอยู่ในปัจจุบันจะสามารถให้บริการชำระเงินรายย่อยได้สะดวกและมีประสิทธิภาพ แต่ประเทศต้องการโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินรายย่อยที่ปลอดภัยกว่า-เชื่อมโยงบริการการเงินระหว่างผู้ให้บริการเอกชนได้ดีกว่า-ประชาชนเข้าถึงได้มากกว่า เพราะจากการสำรวจของธนาคารกลางจีนในปี 2562 พบว่า แม้คนจีนที่ใช้เงินสดอยู่จะเหลือไม่ถึง 20% ของมูลค่าธุรกรรมชำระเงินทั้งหมด แต่ก็เห็นว่าที่ผ่านมาเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจก็ยังเติบโตทุกปี ส่วนหนึ่งเพราะบริการการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ยังเข้าไม่ถึง

อีกด้านหนึ่ง กระแสการพัฒนาสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกชน เช่น คริปโทเคอร์เรนซี ก็เริ่มเข้ามาเป็นความเสี่ยงต่อความปลอดภัยทางการเงินและความมั่นคงของประเทศมากขึ้น กลายเป็นเครื่องมือเก็งกำไร เพราะราคาผันผวนรุนแรง ไม่มีมูลค่าจริง สิ้นเปลืองพลังงานผลิตเยอะ และอาจถูกใช้เป็นเครื่องมือฟอกเงินหรือใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมายได้เพราะไม่ต้องระบุตัวตน ยิ่งช่วงหลังมีการพัฒนาคริปโตเคอร์เรนซีชนิดราคาไม่ผันผวนขึ้นมา เรียกว่า สเตเบิลคอยน์ (stablecoins) ทำให้เริ่มมีธุรกิจใหญ่ในโลกมีแผนออก global stablecoins ซึ่งจะกลายเป็นความเสี่ยงและความท้าทายต่อระบบการเงินและระบบการชำระเงินโลก รวมถึงมีนัยต่อนโยบายการเงินและเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศเพิ่มอีก

ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางจีนจึงสร้างเงินหยวนดิจิทัลขึ้นมาเพื่อใช้แทนเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ โดยจะใช้คู่กับเงินเหรินหมินปี้ (physical RMB) ที่มีอยู่ พร้อมกำหนดวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ในการออก e-CNY คือ

(1) เพื่อให้เงินสดที่ธนาคารกลางออกใช้มีรูปแบบดิจิทัลตอบสนองความต้องการประชาชนและทั่วถึง ที่ผ่านมาเทคโนโลยีดิจิทัลและการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ทำให้คนใช้เงินสดลดลงมาก ตรงนี้เป็นหน้าที่ของธนาคารกลางที่ต้องดูแลให้ประชาชนมีช่องทางเข้าถึงเงินสดได้ด้วยการออกเงินสดดิจิทัลขึ้น และช่วยรักษาหน่วยวัดมูลค่าของเงินหยวนในระบบเศรษฐกิจยุคดิจิทัลไว้ได้อีกด้วย นอกจากนี้ e-CNY จะช่วยให้คนเข้าถึงบริการทางการเงินทั่วถึงขึ้น แม้ไม่มีบัญชีธนาคารก็ใช้บริการทางการเงินพื้นฐานผ่านกระเป๋าเงิน e-CNY ได้ นักท่องเที่ยวต่างชาติก็จะได้ประโยชน์นี้ด้วย นอกจากนี้ e-CNY จะตัดชำระทันทีที่โอนจ่าย จะช่วยให้ภาคธุรกิจมีกระแสเงินสดหมุนเวียนเร็วขึ้น

(2) สนับสนุนการแข่งขันเท่าเทียม เพิ่มประสิทธิภาพ และความปลอดภัยของระบบการชำระเงินรายย่อยในประเทศ โดยจะทำให้ e-CNY เชื่อมโยงกันได้ (inter-operable) กับระบบการชำระเงินของผู้ให้บริการต่างๆ ที่มีอยู่ ช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกการชำระเงินหลากหลาย เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยของระบบการชำระเงิน โดยเน้นว่า e-CNY กับสื่อการชำระเงินต่างๆ (e-payment) ที่มีจะช่วยเสริมกัน เพราะ e-CNY เน้นทดแทนเงินสดหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนมีเงินสดดิจิทัลไว้ใช้ชำระเงินได้อย่างทั่วถึง แต่ e-CNY จะแตกต่างจาก e-payment อื่น คือ เป็นเงินที่ชำระหนี้ได้ตามกฎหมาย ประชาชนมั่นใจได้ในความปลอดภัยสูงสุด มีมูลค่าจริง ใช้งานได้ถึงแม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต (offline) ไม่ต้องระบุตัวตนหากทำธุรกรรมไม่ใหญ่ (managed anonymity) เพื่อปกป้องข้อมูลส่วนบุคคล

(3) ให้สากลรับรู้และเตรียมพัฒนาสู่การชำระเงินข้ามพรมแดน e-CNY จะใช้ชำระเงินข้ามพรมแดนและสนับสนุนความเป็นสากลของสกุลเงินหยวนได้หรือไม่ นับเป็นความท้าทายที่ประชาคมโลกต้องหารือกัน เพราะเป็นเรื่องซับซ้อน เกี่ยวโยงกับอธิปไตยทางการเงิน นโยบายอัตราแลกเปลี่ยน และเกณฑ์กำกับดูแลของแต่ละประเทศ สำหรับ “ความเป็นสากลของสกุลเงินประเทศหนึ่งๆ” เป็นเรื่องที่ตลาดเลือกเอง (natural market selection) เพราะขึ้นกับพื้นฐานเศรษฐกิจของประเทศเอง รวมถึงตลาดการเงินที่ต้องมีความลึก มีประสิทธิภาพ และเปิดเสรี จึงทำให้แม้ตอนนี้ เทคโนโลยีของจีนจะพร้อมใช้ชำระเงินข้ามประเทศได้แล้ว แต่ยังมีแผนจะออกใช้ e-CNY แค่ภายในประเทศก่อน ในอนาคตจีนวางแผนจะเข้าร่วมหารือกับกลุ่มประเทศสุดยอดผู้นำ G20 และองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อนำ CBDC มายกระดับระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ นอกจากนี้ จีนจะร่วมมือกับธนาคารกลางอื่นเพื่อทดสอบใช้ CBDC ชำระเงินข้ามพรมแดน โดยวางกลไกการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือด้านกฎเกณฑ์ต่างๆ บนหลักการที่ไม่เกิดความเสียหาย (no detriment) ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กันได้ (compliance) และเชื่อมต่อระหว่างกัน (interconnectivity)


สถานีต่อไปของเงินหยวนดิจิทัล

ตอนนี้ประเทศสุดยอดผู้นำ G20 ก็เริ่มเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน CBDC เพื่อยกระดับการชำระเงินข้ามพรมแดนให้เร็ว ถูก โปร่งใส และทั่วถึงมากขึ้น แม้เห็นว่าธนาคารกลางส่วนใหญ่ยังมุ่งพัฒนา CBDC เพื่อใช้ภายในประเทศกันอยู่ ล่าสุดรายงานของธนาคารเพื่อการชำระหนี้ระหว่างประเทศ (BIS) กล่าวถึงนัย CBDC ต่อการชำระเงินข้ามพรมแดนว่า มีโจทย์ยาก 2 เรื่อง ข้อแรก ประเทศต้องหารือกันเรื่องกรอบกฎเกณฑ์ การกำกับดูแล และการตรวจสอบ ความสอดคล้องของมาตรการป้องกันปราบปรามการฟอกเงิน และการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย (AML/CFT) กลไกการชำระราคาและส่งมอบเงินแบบอัตโนมัติที่จะชำระดุลเงิน 2 สกุลในเวลาเดียวกันโดยใช้บัญชีที่ธนาคารกลาง (Payment versus Payment) ข้อสอง นัยเชื่อมโยงภาคเศรษฐกิจจริงและภาคการเงิน เพราะเรื่องนี้อาจเพิ่มปริมาณเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ สร้างความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน อาจใช้ทดแทนสกุลเงินในประเทศ หรือยอมรับให้เป็นสกุลเงินสำรองของโลกและการเตรียมแผนรับมือ

สถานีต่อไปของเงินหยวนดิจิทัล...อาจมุ่งสู่การเป็นผู้นำเทรนด์การพัฒนา CBDC ชำระเงินข้ามพรมแดน จีนมีข้อได้เปรียบที่เดินหมากเกมนี้ก่อน (first-mover advantage) เมื่อต้นปีก็เพิ่งประกาศเข้าร่วมโครงการ multiple CBDC Bridge กับธนาคารกลางของฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อพัฒนาโครงการนำร่องใช้ CBDC หลายสกุลในการโอนเงินข้ามพรมแดนในระดับสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) บนเงื่อนไขที่แต่ละประเทศได้ประโยชน์ร่วมกันในการรักษาอธิปไตยทางการเงินและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์กันได้ หากโครงการนี้สำเร็จก็อาจเกิด CBDC-bubble ระหว่างกลุ่มประเทศ ช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมการเงินใหม่ข้ามพรมแดนกันมาได้ด้วยค่ะ


ผู้เขียน :
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 31 กรกฎาคม 2564


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย