​นายพิทวัส พูนผลกุล

กว่าสามทศวรรษที่ผ่านมาภายใต้การบริหารของนายเติ้ง เสี่ยวผิง มาจนถึงนายหู จิ่นเทา เศรษฐกิจจีนขยายตัวเฉลี่ยถึงร้อยละ 10 ต่อปี และมีระดับรายได้ต่อหัวของคนจีนเพิ่มขึ้นจาก 220 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2523 มาอยู่ที่ 6,560 ดอลลาร์ สรอ. ในปี 2556 จนไต่ลำดับขึ้นมาเป็นประเทศที่มีรายได้ประชาชาติสูงเป็นอันดับสองรองจากสหรัฐฯ และได้รับฉายาว่าเป็นโรงงานผลิตสินค้ารายใหญ่ที่สุดของโลก จึงเป็นที่สงสัยว่าทำไมมังกรใหญ่อย่างจีนต้องหันมาสลัดเกล็ดด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจขนานใหญ่จนส่งผลให้เศรษฐกิจเติบโตในอัตราชะลอลงเหลือเพียงร้อยละ 7.4 ในปีที่ผ่านมา

เศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาสามารถเติบโตอย่างก้าวกระโดดได้นั้นก็ด้วยการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุนให้เป็นจักรกลขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญ โดยอาศัยความได้เปรียบจากค่าแรงที่ต่ำและการสนับสนุนของภาครัฐผ่านการแทรกแซงกลไกตลาดทั้งการดูแลค่าเงินให้อ่อน การควบคุมราคาวัตถุดิบ และการกำหนดทิศทางการลงทุนไปยังภาคธุรกิจกลุ่มเป้าหมายผ่านทางการลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งกลไกดังกล่าวก่อให้เกิดผลข้างเคียงมากมาย อาทิ 1) การจัดสรรทรัพยากรขาดประสิทธิภาพและกำลังการผลิตส่วนเกินเหลืออยู่มากในหลายอุตสาหกรรมที่รัฐเร่งลงทุนไว้ เนื่องจากภาคเอกชนมีบทบาทน้อย 2) ธุรกิจที่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากทางการต้องพึ่งพาภาคธนาคารเงา จนเป็นบ่อเกิดของความเปราะบางในภาคการเงิน 3) รัฐบาลท้องถิ่นมีภาระรายจ่ายสูงเพื่อกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจท้องถิ่นให้ได้ตามเป้าขณะที่รายรับมีไม่เพียงพอ จึงต้องกู้ยืมนอกงบดุลซึ่งเป็นการเพิ่มความเสี่ยงภาคการคลัง 4) เศรษฐกิจพึ่งพาภาคการส่งออกและการลงทุนที่ไม่มีประสิทธิภาพมากเกินไป ทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างไม่มีเสถียรภาพ และ 5) ภาคบริการที่มีสัดส่วนการจ้างงานสูงไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร

วิกฤติเศรษฐกิจโลกปี 2551 ทำให้ปัญหาเชิงโครงสร้างต่างๆ ที่สะสมมาเป็นเวลานาน รวมทั้งความเปราะบางและความไม่มีเสถียรภาพของเศรษฐกิจจีนปรากฏเด่นชัดขึ้น โดยเศรษฐกิจจีนขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.6 ในไตรมาสที่ 1 ปี 2552 ขณะที่แรงงานในภาคการส่งออกตกงานกว่า 20 ล้านคนแม้ทางการจะกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการลงทุนเพิ่มถึง 4 ล้านล้านหยวน แต่ก็ช่วยได้เพียงระยะสั้น และกลับก่อให้เกิดปัญหาหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทางการจีนตระหนักว่าไม่สามารถรีรอที่จะปฏิรูปได้อีกต่อไปแล้ว โดยต้องรีบสร้างแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ให้ได้ทันการณ์

ด้วยเหตุนี้เอง รัฐบาลจีนภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงได้ประกาศแผนแม่บทปฏิรูปในการประชุม 3rd Plenum ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2556 โดยมีจุดมุ่งหมายให้การบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนการลงทุนและการส่งออก เพื่อให้จีนสามารถก้าวข้ามกับดักของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ภายในปี 2573 ทั้งนี้ แผนแม่บทดังกล่าวประกอบด้วย 1) แผนปฏิรูปโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นและเน้นการเพิ่มบทบาทภาคเอกชน 2) แผนปฏิรูปด้านการเงิน โดยผ่อนผันเกณฑ์และมาตรการควบคุมด้านการเงินต่างๆ ให้เป็นไปตามกลไกตลาดมากขึ้น 3) แผนปฏิรูปด้านการคลัง โดยทบทวนและปรับสัดส่วนการจัดสรรรายได้จากภาษีระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นใหม่ให้มีความเหมาะสม และมีช่องทางระดมทุนที่มีเสถียรภาพมากขึ้น 4) แผนปฏิรูปแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้การบริโภคเข้ามาเป็นแรงขับเคลื่อนหลักแทนการส่งออกและการลงทุน 5) แผนการเพิ่มบทบาทภาคบริการที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และ 6) แผนการผ่อนผันนโยบายบุตรคนเดียวและปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์ เพื่อให้แรงงานเคลื่อนย้ายไปสู่พื้นที่ขาดแคลนแรงงานได้ง่ายขึ้น

จนถึงตอนนี้การปฏิรูปได้ดำเนินการไปแล้วในบางส่วน อาทิ การควบคุมการปล่อยสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง การปิดโรงงานที่มีกำลังการผลิตส่วนเกิน การลดการลงทุนของรัฐบาลท้องถิ่นที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์รวมถึงการเพิ่มบทบาทกลไกตลาดในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้พยายามลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายการลดสัดส่วนการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ และการปล่อยกู้ให้ธุรกิจขนาดเล็กที่ได้รับผลกระทบจากการกำกับดูแลภาคธนาคารเงา การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในช่วงที่ผ่านมาไม่รุนแรงนัก

IMF(1) ประเมินว่า การปฏิรูปจะทำให้เศรษฐกิจจีนชะลอตัวในระยะสั้น แต่จะส่งผลดีในระยะยาวโดยการเติบโตทางเศรษฐกิจจะเป็นไปอย่างมีเสถียรภาพมากขึ้นจากความเสี่ยงในภาคการเงินและการคลังที่ลดลง อีกทั้งการพึ่งพาการบริโภคภาคเอกชนมากขึ้นจะช่วยเสริมภูมิคุ้มกันจากความผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และยังช่วยยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจในระยะยาว นอกจากนี้ การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานเสรีมากขึ้นจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากร ส่วนการส่งเสริมการลงทุนในนวัตกรรมใหม่ๆจะส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่การพัฒนาความเป็นเมือง (Urbanization) และการปฏิรูประบบทะเบียนราษฎร์จะช่วยลดภาวะขาดแคลนแรงงานและแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุได้ ดังนั้น การสลัดเกล็ดของมังกรจีนในครั้งนี้ ย่อมจะเป็นผลดีให้เศรษฐกิจจีนเติบโตไปในระยะยาวได้อย่างมั่นคง

สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้นคาดว่าความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจที่แนบแน่นระหว่างไทยกับจีนอาจทำให้การส่งออกของไทยไปจีนชะลอตัวในระยะสั้น โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มที่ใช้เพื่ออุปโภคบริโภคในจีนซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าร้อยละ 50 ของสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนทั้งหมด (หรือประมาณร้อยละ 6 ของการส่งออกรวมของไทยทั้งหมด) แต่คาดว่าจะไม่กระทบภาคการท่องเที่ยวไทยมากนัก เนื่องจากคนจีนมีความต้องการท่องเที่ยวต่างประเทศตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไทยก็เป็นจุดหมายยอดนิยมในการท่องเที่ยวของชาวจีน อย่างไรก็ดี ในระยะยาวการที่เศรษฐกิจจีนสามารถขยายตัวได้อย่างมีเสถียรภาพน่าจะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในฐานะที่เป็นคู่ค้าอันดับหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อการบริโภคของจีนมีบทบาทเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น นอกจากนี้ ไทยยังอาจได้ประโยชน์จากยุทธศาสตร์ในการปฏิรูปของรัฐบาลจีนที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการออกไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลล่าสุดพบว่า การลงทุนโดยตรงของจีนในไทยเพื่อรองรับการขยายตัวของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น นอกจากนัยทางเศรษฐกิจข้างต้นแล้ว ไทยอาจศึกษาประสบการณ์การปฏิรูปเศรษฐกิจของจีนเพื่อนำมาประยุกต์ใช้กับเศรษฐกิจไทยในการก้าวข้ามกับดักของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางให้ได้เช่นกัน

----------------------------------

(1) IMF Article IV, People’s Republic of China (2557)

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย