นางสาวศุภมัทนา โสภณรัตนโภคิน
หลายท่านคงยังจำกันได้ถึงความรุนแรงของผลกระทบจากวิกฤตสินเชื่อซับไพรม์ (subprime mortgage crisis) หรือ "วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์" เมื่อครั้งปี 2551 ที่ส่งผลให้สถาบันการเงินและกิจการขนาดใหญ่หลายแห่งในสหรัฐอเมริกาประสบผลขาดทุนจนล้มละลายและต้องปิดกิจการไปในที่สุด ซึ่งวิกฤติได้ขยายตัวเป็นวงกว้างจนกลายเป็นวิกฤตทางการเงินของโลก และไทยก็เป็นประเทศหนึ่งที่ต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในขณะนั้นเช่นกัน
วิกฤตทางการเงินในครั้งนั้นส่งผลให้มีการทบทวนและปรับปรุงแนวทางการกำกับดูแลระบบการเงินในหลายด้านให้ครอบคลุมถึงธุรกรรมที่ซับซ้อนและทันต่อพัฒนาการใหม่ ๆ ของสถาบันการเงินเพื่อลดความรุนแรงหรือโอกาสของการเกิดวิกฤตทางการเงินในอนาคต โดยวิธีการบัญชีสำหรับสินทรัพย์ทางการเงิน เช่น เงินให้สินเชื่อและตราสารอนุพันธ์ ตามที่กำหนดในมาตรฐานการบัญชี เรื่องเครื่องมือทางการเงิน หรือที่เรียกกันว่า IAS 39 เป็นหนึ่งในประเด็นที่ผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ G-20 (เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และญี่ปุ่น) ได้หยิบยกเสนอให้คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีระหว่างประเทศ (IASB) พิจารณาทบทวนและปรับปรุง เนื่องจาก IAS 39 กำหนดให้กิจการกันเงินสำรองสำหรับสินทรัพย์ทางการเงินเฉพาะในส่วนของความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว (incurred loss) เท่านั้น ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนสำคัญที่อาจทำให้กันเงินสำรองในจำนวนที่น้อยและช้าจนเกินไป (too little too late) อีกทั้งการคำนวณก็พิจารณาจากข้อมูลหรือประสบการณ์ในอดีตเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต (forward-looking information)
จากข้อเสนอดังกล่าว เมื่อเดือน ก.ค. 2557 IASB ได้ออกมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ที่เรียกกันว่า IFRS 9 เพื่อทดแทน IAS 39 โดยได้ปรับปรุงหลักการ ตลอดจนวิธีการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงินให้สะท้อนถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจและสอดคล้องกับการบริหารความเสี่ยงของกิจการมากยิ่งขึ้น โดยแบ่งเนื้อหาออกเป็น 3 ส่วน คือ (1) การจัดประเภทและการวัดมูลค่าของเครื่องมือทางการเงิน (2) การรับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าของเครื่องมือทางการเงิน หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า การกันเงินสำรอง และ (3) การบัญชีป้องกันความเสี่ยง ซึ่งจะได้กล่าวถึงรายละเอียดของเนื้อหาแต่ละส่วนในครั้งต่อไป
หลักการของ IFRS 9 ที่คนส่วนใหญ่ให้ความสนใจ คือ การกันเงินสำรองเพื่อรองรับผลขาดทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (expected loss) เพื่อให้สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ตลอดอายุของลูกหนี้ โดยพิจารณาจากข้อมูลทั้งในอดีต และ forward-looking ไปถึงเหตุการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยหลายคนอาจมองว่าหลักการใหม่นี้เป็นเรื่องที่ยาก สร้างภาระและต้นทุนมากเกินไป และเงินสำรองที่คำนวณได้จะเพียงพอต่อผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจริงหรือไม่ ในอีกมุมหนึ่ง อยากให้ลองมองถึงข้อดีว่าอย่างน้อยที่สุดก็ช่วยให้กิจการมี cushion รองรับผลเสียหายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้บางส่วน แม้ว่าจะไม่ทั้งหมดก็ตาม ซึ่งก็นับเป็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
หากจะถามว่าใครได้รับผลกระทบจาก IFRS 9 บ้าง ก็คงต้องบอกว่าทุกกิจการที่มีเครื่องมือทางการเงิน แต่ธุรกิจที่น่าจะกระทบมากก็คงจะหนีไม่พ้นธุรกิจสถาบันการเงินที่มีเครื่องมือทางการเงินเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้สถาบันการเงินในหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างเช่นสิงคโปร์และมาเลเซีย ซึ่งจะนำ IFRS 9 มาใช้ในปี 2561 มีการตื่นตัวและเริ่มเตรียมความพร้อมบ้างแล้ว เนื่องจากเล็งเห็นว่า อาจต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาระบบงานเพื่อรองรับการปฏิบัติตาม IFRS 9 ตั้งแต่ระบบงานหน้าบ้าน (front office) ไปจนถึงระบบงานหลังบ้าน (back office) เช่น ระบบ core banking ระบบการวิเคราะห์การให้สินเชื่อระบบการจัดอันดับเครดิต และระบบบัญชีเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงกัน ตลอดจนต้องจัดทำฐานข้อมูล เพื่อจัดเก็บข้อมูลที่จำเป็นต้องใช้ในการคำนวณเงินสำรองอีกด้วย เช่น พฤติกรรมการจ่ายชำระของลูกหนี้ ข้อมูลราคาของหลักประกัน และข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับปัจจัยทางเศรษฐกิจต่าง ๆ
มาถึงตรงนี้หลายคนอาจคิดว่า IFRS 9 มีแต่จะเพิ่มภาระและต้นทุนให้กับสถาบันการเงิน แต่หากลองพิจารณาให้ถี่ถ้วนแล้ว ข้อมูลที่ IFRS 9 กำหนดให้มีนั้นเป็นข้อมูลที่สถาบันการเงินจำเป็นต้องมีในการดำเนินธุรกิจตามปกติอยู่แล้ว ดังนั้น การจัดเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบงานกันมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ทำให้สถาบันการเงินรู้จักลูกค้าของตนเองและมีข้อมูลในการวิเคราะห์สินเชื่อที่ดีขึ้น อีกทั้ง IFRS 9 ยังทำให้ฝ่ายงานภายในสถาบันการเงินตั้งแต่ฝ่ายงานบริการลูกค้า ฝ่ายบริหารความเสี่ยง ตลอดจนฝ่ายการเงินและบัญชี มีการสื่อสารและทำงานร่วมกันอย่างสอดคล้องกันทั้งองค์กร
เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทยของเราบ้าง แม้ว่าปัจจุบันนี้จะยังไม่ได้ใช้ IAS 39 เหมือนกับต่างประเทศ แต่ก็ มีมาตรฐานการบัญชีไทยที่เกี่ยวข้องกับการจัดประเภทและการวัดมูลค่าของสินทรัพย์ทางการเงินที่เกี่ยวกับเงิน ลงทุน และหลักเกณฑ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยในเรื่องการกันเงินสำรองและการรับรู้ตราสารอนุพันธ์ ซึ่ง อ้างอิงหลักการของ IAS 39 โดยส่วนใหญ่แล้ว ดังนั้น การปรับตัวไปสู่ IFRS 9 ของไทยนั้นคงไม่ใช่เรื่องที่เหลือ บ่ากว่าแรง อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงอยากรู้แล้วว่าสภาวิชาชีพบัญชีของไทยมีแผนจะนำ IFRS 9 มาใช้เมื่อไร จึงขอแจ้งให้หายสงสัยตรงนี้ว่า สถาบันการเงินในไทยยังมีเวลาในการเตรียมความพร้อมประมาณเกือบ 3 ปี เนื่องจากสภาวิชาชีพบัญชีมีแผนจะนา IFRS 9 มาใช้ในไทยในปี 2562
จากประสบการณ์ของสถาบันการเงินในต่างประเทศที่เริ่มเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับการนำ IFRS 9 มาแล้ว ระยะเวลา 3 ปีก็ไม่ถือว่านานมากนัก เนื่องจากมีหลายระบบงานและฐานข้อมูล รวมถึงนโยบายต่าง ๆ ที่ต้องจัดทำขึ้นใหม่ ดังนั้น สถาบันการเงินไทยควรเริ่มเตรียมความพร้อมตั้งแต่เนิ่น ๆ
IFRS 9 ไม่เพียงแต่มีผลกระทบต่อตัวสถาบันการเงินเท่านั้น แต่ถ้าลองคิดกันดูจริง ๆ แล้ว ผู้มีส่วนได้เสีย เช่น นักลงทุน นักวิเคราะห์ และเจ้าหนี้ ก็ต้องมีความรู้และความเข้าใจอย่างแท้จริงถึงผลกระทบของ IFRS 9 ที่จะมีต่อฐานะและผลการดำเนินงานของสถาบันการเงิน
ในตอนต่อไปเราจะมาเล่าถึงรายละเอียดของวิธีการจัดประเภทและการวัดมูลค่าของสินทรัพย์และหนี้สินทางการเงินว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจุบันอย่างไร และจะมีผลกระทบอะไรบ้าง รวมทั้งแนวทางในการเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนั้น
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย