ตั้งแต่ช่วงเดือนปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ข่าวที่เป็นประเด็นพูดถึงกันอย่างมากคงหนีไม่พ้นสถานการณ์ระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ที่แม้ว่าจะผ่านการเจรจามาหลายรอบแต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน และถึงความขัดแย้งนี้จะเกิดขึ้นในอีกฟากหนึ่งของโลก แต่ภาคธุรกิจไทยก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน จากการหารือกับผู้ประกอบการและสมาคมธุรกิจหลายแห่งพบว่าปัญหาหลักในขณะนี้ คือ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นและการขาดแคลนปัจจัยการผลิต ซึ่งอาจนำไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้าในที่สุด ขณะที่ผลต่อการท่องเที่ยวยังจำกัดเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและยูเครนมีสัดส่วนไม่มากนัก แต่ความกังวลต่อสถานการณ์ในระยะข้างหน้าก็มีอยู่ไม่น้อย
ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นส่งผลโดยตรงต่อธุรกิจที่มีต้นทุนน้ำมันเป็นสัดส่วนสูง เช่น ขนส่ง ประมง การผลิตยางสังเคราะห์ และปิโตรเคมี โดยธุรกิจขนส่งทางบกปรับราคาได้ค่อนข้างยาก จึงเห็นข่าวม็อบรถบรรทุกและแท็กซี่ออกมาเรียกร้องให้รัฐตรึงราคาน้ำมันอยู่เนือง ๆ
ในทางกลับกัน ค่าขนส่งทางทะเลปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทยเห็นว่าการขนส่งระหว่างประเทศในระยะนี้เป็นไปอย่างล่าช้า ซึ่งเป็นผลพวงจากการเดินทางอ้อมน่านน้ำที่มีความขัดแย้ง ประกอบกับขั้นตอนการส่งออกที่เข้มงวดมากขึ้น ทำให้มีเรือขนส่งค้างอยู่ที่ท่าเรือจำนวนมาก ปัจจัยเหล่านี้ยิ่งซ้ำเติมให้ค่าขนส่งปรับสูงขึ้นอีกและกระทบต่อผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งผู้นำเข้าที่ส่วนใหญ่ต้องรับผิดชอบค่าขนส่งเอง และผู้ส่งออกที่แม้จะขายกันแบบ FOB (Free on Board) แต่หากค่าระวางเรือยังคงเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง คู่ค้าต่างประเทศอาจขอเจรจาปรับราคาในสัญญาใหม่อีกครั้ง โดยค่าระวางเรือช่วงต้นเดือนมีนาคมปรับขึ้นมาใกล้แตะจุดสูงสุดในช่วงที่เกิดปัญหาขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์อย่างหนักในปี 2564 แล้ว นอกจากนี้ การขนส่งที่ต้องใช้ระยะเวลายาวนานขึ้นยังเพิ่มแรงกดดันต่อปัญหา Global supply disruption อีกด้วย
อีกหนึ่งข้อกังวลหลักของภาคธุรกิจไทย คือ การขาดแคลนปัจจัยการผลิต แม้สองประเทศนี้มีสัดส่วนการค้าโดยตรงกับไทยน้อยมากไม่ถึงร้อยละ 1 แต่รัสเซียเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่หลายชนิด เช่น น้ำมัน ข้าวสาลี เหล็ก รวมถึงแร่ซึ่งเป็นต้นทางในการผลิตชิป (semiconductor) ที่เป็นปัญหาขาดแคลนอยู่แล้วในช่วงที่ผ่านมา ขณะที่ยูเครนเป็นผู้ส่งออกอาหาร โดยเฉพาะข้าวสาลี และเหล็ก สินค้าส่งออกสำคัญของทั้งสองประเทศนี้จึงมีราคาสูงขึ้นมาก จากต้นปีที่ผ่านมาราคาแร่พาลาเดียมและก๊าซนีออนที่จำเป็นสำหรับการผลิตชิปเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตรถยนต์ปรับขึ้นทันที ขณะที่การปรับราคารถยนต์ยังไม่สามารถทำได้จนกว่าจะมีการปรับโฉมรถยนต์รุ่นใหม่ ตัวแทนผู้ผลิตรถยนต์ให้ความเห็นว่าหากความขัดแย้งนี้ยืดเยื้อจะทำให้การผลิตรถยนต์ของไทยเติบโตได้ไม่ถึงเป้าที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะแบรนด์รถยนต์ที่มีจำนวนโรงงานผลิตน้อย เนื่องจากมีการสำรองชิปไม่มากและไม่สามารถจัดสรรจากโรงงานอื่นได้
ในอีกด้านหนึ่งที่รัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลีรวมกันเกือบร้อยละ 30 และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ราวร้อยละ 19 ของตลาดโลก ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นดันราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้ปรับสูงขึ้นทันทีและกระทบต่อผู้ผลิตอาหารสัตว์ในไทย โดยผู้ประกอบการคาดว่าผลกระทบน่าจะส่งผ่านมายังราคาเนื้อสัตว์ได้ในช่วงหลังสงกรานต์ นอกจากนี้ การที่รัสเซียประกาศงดส่งออกปุ๋ยเคมียิ่งซ้ำเติมสถานการณ์ปุ๋ยแพงจากการลดการส่งออกของจีนในช่วงก่อนหน้า ปัจจุบันพบว่าผู้ผลิตปุ๋ยบางรายได้รับอนุญาตจากกรมการค้าภายในให้ปรับขึ้นราคาแล้ว เกษตรกรจะมีต้นทุนเพาะปลูกสูงขึ้นหรือผลผลิตจะลดลงหากใช้ปุ๋ยไม่เพียงพอ ซึ่งจะกระทบต่อรายได้เกษตรกรต่อไป
อย่างไรก็ดี มีผู้ประกอบการไทยบางกลุ่มได้รับผลเชิงบวก เช่น ผู้ส่งออกข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน ที่ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้นเมื่อรัสเซียถูกคว่ำบาตรทางการค้า เพราะอุปทานผลผลิตทางการเกษตรจากรัสเซียลดลง และมีความต้องการนำปาล์มน้ำมันและอ้อยมาผลิตทดแทนน้ำมัน นอกจากนี้ ผู้ส่งออกอาหารกระป๋องบางรายได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น จากความต้องการกักตุนอาหารกระป๋องและผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปในทวีปยุโรปที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก
สำหรับภาคการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทยและผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวเห็นว่าในระยะสั้นผลกระทบยังจำกัด เนื่องจากนักท่องเที่ยวชาวรัสเซียและยูเครนมีสัดส่วนไม่มาก โดยในเดือน ม.ค.- ต้นเดือนมี.ค. 2565 มีชาวรัสเซียเดินทางเข้าไทยราว 40,000 คน และก่อนเหตุการณ์ความขัดแย้งจะปะทุขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวรัสเซียไว้ที่ 4 แสนคนในปี 2565 หรือร้อยละ 6.7 ของจำนวนนักท่องเที่ยวทั้งหมดที่คาดการณ์ไว้เท่านั้น อย่างไรก็ตาม มีความกังวลว่าในระยะข้างหน้า นอกจากจะไม่มีนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ามาแล้ว เนื่องจากการยกเลิกขายทัวร์และเงินรูเบิลที่อ่อนค่า จำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปจะลดลงด้วย จากจำนวนเที่ยวบินที่ถูกยกเลิก ต้นทุนการเดินทางที่สูงขึ้นจากการบินอ้อม รวมถึงความเชื่อมั่นในการเดินทางที่ลดลง ด้วยเหตุนี้ สมาคมฯ จึงมีความเห็นว่าภาคธุรกิจควรหันไปทำการตลาดกับนักท่องเที่ยวฝั่งตะวันออกกลางและชาวซาอุดิอาระเบียทดแทน
สมาคมนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวเมืองพัทยา และหอการค้าภูเก็ต เห็นว่าการตัดระบบชำระเงินของรัสเซียในช่วงที่ผ่านมากระทบผู้ประกอบการไม่มากเช่นกัน เพราะส่วนใหญ่ปรับตัวโดยรับชำระด้วยเงินสด หรือชำระผ่าน UnionPay ของจีนทดแทน ส่วนกลุ่มธุรกิจรัสเซียในแหล่งท่องเที่ยว เช่น ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ แลกเปลี่ยนเงินตรา และบริการอื่น ๆ ได้ปิดกิจการไปเกือบทั้งหมดแล้วตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดในปี 2563
ความขัดแย้งระหว่างสองประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันเพียงร้อยละ 2 ของ GDP โลก ทำให้ห่วงโซ่การผลิตปั่นป่วน และกระทบต้นทุนการผลิตสินค้าทั่วโลก โดยธุรกิจไทยได้รับผลกระทบแล้วทั้งในภาคการผลิต การเกษตร และการท่องเที่ยว แม้ว่าผู้ประกอบการส่วนหนึ่งปรับตัวด้วยการเพิ่มสต็อกวัตถุดิบและพยายามตรึงราคาไว้ แต่หากสถานการณ์ยิ่งยืดเยื้อและราคาปัจจัยการผลิตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ประกอบการคงไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้และอาจเห็นการขึ้นราคาของสินค้าและบริการเป็นวงกว้าง เมื่อนั้นความขัดแย้งอีกฟากฝั่งของโลกคงสั่นสะเทือนมาถึงความเป็นอยู่ของคนไทยโดยทั่วกัน ซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างและเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว
ผู้เขียน :
ดร. กิ่งกาญจน์ เกษศิริ
รินรดา ฑีฆธนานนท์
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 31 มีนาคม – 3 เมษายน 2565
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย