​บทบาทของหน่วยงานกำกับดูแลในยุคดิจิทัล (ตอนจบ)

​นางสาวบุณยานุช คุณอมรเลิศ
ฝ่ายตรวจสอบ 2

การพัฒนาด้านบุคลากร ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนการกำกับดูแลระบบสถาบันการเงิน ธปท. จึงมีการเปิดรับบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์เฉพาะทางเพิ่มขึ้น เช่น ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และ ด้าน Data Analytic เป็นต้น เพื่อมาสนับสนุนการทำงานให้สอดคล้องกับ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรดังที่กล่าวมา นอกจากนี้ ธปท. ยังมีการเพิ่มและปรับปรุงเนื้อหาหลักสูตร การฝึกอบรมผู้ตรวจสอบสถาบันการเงิน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ เพิ่มทักษะการตรวจสอบธุรกรรมด้านต่าง ๆ และให้มุมมองเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงินใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงสนับสนุนให้มี การเข้าร่วมอบรมและฝึกปฏิบัติงานกับผู้กำกับดูแลสถาบันการเงินในประเทศต่าง ๆ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์อย่างสม่ำเสมอ

การปรับปรุงกระบวนการทำงาน ระบบงานและข้อมูล ธปท. ใช้แนวทางการกำกับตรวจสอบสถาบันการเงินแบบ Ongoing Supervision โดยเน้นการติดตามและประเมินความเสี่ยงที่สำคัญของสถาบันการเงินอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันนี้ ภัยไซเบอร์กำลังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อระบบการเงินของประเทศ และอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการทางการเงินอีกด้วย ดังนั้น ธปท. จึงให้ความสำคัญต่อการบริหารจัดการความเสี่ยงและระบบการรักษาความปลอดภัยของสถาบันการเงิน ควบคู่ไปกับการกำกับดูแลให้ประชาชน ได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการ โดยมีการตรวจสอบและประเมินความพร้อมในด้าน Cyber Security ของสถาบันการเงินด้วย นอกจากนี้ ปัจจุบัน ธปท. เริ่มนำ Supervisory Technology หรือ SupTech มาช่วยในการประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึก เพื่อสนับสนุนให้การกำกับตรวจสอบสถาบันการเงิน มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตัวอย่างเช่น การนำ Text Mining มาใช้วิเคราะห์บันทึกการประชุมคณะกรรมการสถาบันการเงิน เพื่อช่วยเชื่อมโยงข้อมูลความเห็นและบทบาทของกรรมการแต่ละท่าน รวมทั้งมีการพัฒนาระบบงาน Risk Dashboard เพื่อใช้ในการติดตามความเสี่ยงที่สำคัญและส่งสัญญาณความผิดปกติ (Early Warning Signal) ของสถาบันการเงิน ทำให้ ธปท. เข้าไปติดตามตรวจสอบเพื่อหาสาเหตุ ได้อย่างทันท่วงทีและสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการกำกับดูแล อีกทั้งป้องกันไม่ให้ลุกลามไปยังสถาบันการเงินอื่น ๆ หรือกลายเป็นปัญหาในเชิงระบบตามเป้าหมายในการกำกับตรวจสอบอย่างต่อเนื่องเพื่อให้สามารถ “จับควันให้ไว ดับไฟให้ทัน และป้องกันไม่ให้ลาม”

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันการเงินยังคงมีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกรรมฝาก ถอน โอนเงิน การให้สินเชื่อ และบริการทางการเงินอื่น ๆ รวมทั้งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การสนับสนุนให้สถาบันการเงินมีบริการที่ทันสมัย สะดวก รวดเร็ว ตรงตามความต้องการของผู้ใช้บริการทางการเงินเท่านั้น คงยังไม่เพียงพอการกำกับดูแลให้สถาบันการเงินมีบริการที่ได้มาตรฐาน มีความมั่นคงปลอดภัย และมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อให้ประชำชนในฐานะผู้ใช้บริการมีความเชื่อมั่นต่อสถาบันการเงิน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินให้เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน ต่อไปในระยะยาว

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย