​ผู้ส่งออกไทยเสียเปรียบประเทศเพื่อนบ้านจากค่าเงินบาทแข็งมากน้อยแค่ไหน

นางสาวธนภรณ์ หิรัญวงศ์

ช่วงนี้ประเด็นร้อนทางเศรษฐกิจคงหนีไม่พ้นเรื่องบาทแข็งที่เป็นประเด็นในหน้าหนังสือพิมพ์แทบ ทุกวัน หลายฝ่ายกังวลว่าบาทแข็งจะทำให้ไทยแข่งกับประเทศอื่นไม่ได้ เพราะคิดกันง่ายๆ ว่าบาทแข็งก็คือ เงินบาทมีราคาแพงขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยแพงขึ้นไปด้วย เมื่อของแพงก็จะทำให้ขายสู้คู่แข่งจากประเทศอื่นไม่ได้ ส่งออกก็จะตกฮวบลงทันที ซึ่งจริงๆ แล้วเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องซะทีเดียว ด้วยเหตุผล 3 ประการด้วยกัน

ประการแรก ในความเป็นจริง บาทแข็งไม่ได้ทำให้สินค้าไทยแพงขึ้นในสายตาของต่างชาติเสมอไป เพราะด้วยความที่ไทยเรายังเป็นเพียงประเทศเล็กๆ ผู้ส่งออกไม่มีอำนาจต่อรองหรือกำหนดราคากับคู่ค้าต่างประเทศมากนัก ส่วนใหญ่ราคาที่ตกลงซื้อขายกันกับต่างประเทศจึงเป็นสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ หรือสกุลเงินหลักอื่นๆ เกือบทั้งนั้น ไม่ใช่ราคาในรูปเงินบาท และราคาสินค้าก็มักขึ้นอยู่กับราคาตลาด ฉะนั้น ถึงบาทจะแข็งขึ้น ราคาสินค้าที่เราขายต่างชาติในรูปดอลลาร์สหรัฐฯ จึงไม่ได้เปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ไม่ได้แพงขึ้นตามจนทำให้คนอื่นเลิกซื้อของเราอย่างที่หลายคนเข้าใจ แต่ส่วนที่กระทบผู้ส่งออกตรงๆ คือการที่บาทแข็งจะทำให้รายได้หรือกำไรที่ได้รับเป็นดอลลาร์ เมื่อแลกกลับเป็นเงินบาทจะมีมูลค่าลดลงในทันที ซึ่งถ้าบาทแข็งขึ้นมากและไม่สามารถขอปรับราคาหรือลดต้นทุนได้ ก็อาจทำให้ขาดทุนได้เช่นกัน

ประการที่สอง เมื่อพูดถึงบาทแข็ง คนทั่วไปจะนึกถึงตัวเลขบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ อย่างช่วงนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 29.7 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งแข็งค่าขึ้นประมาณร้อยละ 3 จากต้นปี แต่ถ้าเราจะวัดความสามารถในการแข่งขันกับคู่ค้าคู่แข่งจริงๆ แล้ว จะดูแค่บาทเทียบกับดอลลาร์เพียงสกุลเดียวคงไม่พอ เพราะเราไม่ได้ค้าขายกับสหรัฐฯ เพียงประเทศเดียว เราควรจะเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับค่าเงินหลายๆ สกุลของประเทศที่เราค้าขายด้วย การเปรียบเทียบเช่นนี้มีวิธีวัดที่เรียกว่า “ดัชนีค่าเงิน (Nominal Effective Exchange Rate, NEER)” โดยคำนวณจากการเอาค่าเงินของประเทศเราเทียบกับค่าเงินของประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของเรา และนำมาเฉลี่ยโดยถ่วงน้ำหนักด้วยสัดส่วนการค้าระหว่างกัน ประเทศที่เราค้าขายหรือแข่งขันด้วยมากๆ ก็จะได้น้ำหนักมาก และลดหลั่นกันไปตามความสำคัญของประเทศนั้นๆ ในฐานะคู่ค้าคู่แข่ง ยกตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์เป็นคู่ค้าที่สำคัญของมาเลเซีย แต่ไม่ได้สำคัญมากนักสำหรับไทย น้ำหนักของสิงคโปร์ดอลลาร์ในการคำนวณดัชนีค่าเงินของริงกิตมาเลเซียจึงมากกว่าน้ำหนักของสิงคโปร์ดอลลาร์ในดัชนีค่าเงินของบาทไทยถึง 2 เท่า

การคำนวณดัชนีค่าเงินค่อนข้างซับซ้อนและแต่ละประเทศก็อาจจะมีวิธีการคำนวณดัชนีนี้แตกต่างกันไปตามความเหมาะสม แต่หากต้องการจะเปรียบเทียบดัชนีนี้กับประเทศอื่นๆ ก็สามารถอ้างอิงได้จากข้อมูลของ Bank for International Settlements (BIS) ซึ่งเป็นธนาคารของธนาคารกลางทั่วโลกและสถาบันการเงินระหว่างประเทศ

BIS ได้สร้างและเผยแพร่ดัชนีค่าเงินสำหรับประเทศต่างๆ รวม 61 ประเทศ(1) จากข้อมูลพบว่า ประเทศในเอเชียส่วนใหญ่มีกลุ่มประเทศคู่ค้าหลักเหมือนๆ กัน นั่นก็คือ สหรัฐฯ กลุ่มประเทศยูโร ญี่ปุ่น และจีน แต่สัดส่วนการให้น้ำหนักจะแตกต่างกันไป เมื่อเงินสกุลของประเทศหลักเหล่านี้อ่อนค่าลงมากจาก ผลพวงของวิกฤตและความพยายามอัดฉีดเงินเพื่อแก้ไขปัญหา ก็แน่นอนว่าจะทำให้ดัชนีค่าเงินของประเทศในภูมิภาคแข็งค่าขึ้นเหมือนกันหมด (รูปที่ 1) แต่จะแข็งขึ้นเท่าใดก็ขึ้นอยู่กับว่าค่าเงินของประเทศนั้นแข็งขึ้นมากน้อยเพียงใดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคและความแตกต่างของการให้น้ำหนักการค้ากับสกุลเงินหลักแต่ละสกุลตามความสำคัญต่อการส่งออกและนำเข้าของแต่ละประเทศ จากข้อมูลในตารางจะเห็นว่า หากเทียบจากสิ้นปี 2554 ดัชนีค่าเงินของเงินบาทแข็งค่าร้อยละ 4 ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่ร้อยละ 4.5 และแข็งค่าน้อยกว่าดัชนีค่าเงินของอีกหลายสกุลเงินอื่นด้วยซ้ำ สะท้อนว่าไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่ผู้ส่งออกต้องประสบภาวะการแข็งขึ้นของค่าเงินประเทศในเอเชียส่วนใหญ่ต่างก็เผชิญปัญหาเดียวกันทั้งนั้น มากน้อย ต่างกันไป และอันที่จริงผู้ส่งออกของหลายๆ ประเทศในภูมิภาคนี้ประสบปัญหาค่าเงินของตนแข็งค่ามากกว่าที่ผู้ส่งออกไทยประสบเสียอีก (หากเทียบการส่งออกของไทยตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันขยายตัวที่ ร้อยละ 5.1 ซึ่งเติบโตได้ดีกว่าประเทศในภูมิภาคโดยเฉลี่ยที่ร้อยละ 1.6)


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย