​​นายพิทักษ์ สังข์รังสรรค์
ฝ่ายนโยบายการกำกับสถาบันการเงิน

ในปัจจุบันบัตรเครดิตได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นสิ่งที่สามารถใช้แทนเงินสดในการซื้อสินค้าและบริการทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับมีโอกาสได้รับสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ อีกมากมาย เช่น การได้ส่วนลด หรือการสะสมแต้มแลกของรางวัล อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากการเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากแล้ว บัตรเครดิตอาจกลายเป็นเครื่องมือในการก่อภาระหนี้ให้แก่ผู้ใช้บัตรได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้ใช้บัตรเครดิตอาจเกิดภาระหนี้จากการผ่อนชำระค่าสินค้าและบริการหรือจากการเบิกเงินสดล่วงหน้านั่นเอง

จริง ๆ แล้ว คำว่า “ภาระหนี้” หรือ “ความเป็นหนี้” นั้น แม้ว่าอาจทำให้หลายท่านเกิดความรู้สึกไม่ค่อยสบายใจ แต่สำหรับในมุมของผู้เขียนแล้ว ภาระหนี้หรือความเป็นหนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไปขึ้นกับว่าผู้ก่อภาระหนี้นั้นนำเงินที่ได้รับไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์อะไร ก่อให้เกิดประโยชน์หรือรายได้มากน้อยเพียงใด และมีความสามารถเพียงพอที่จะชาระหนี้นั้นหรือไม่ ซึ่งเราอาจจะแบ่งหนี้ออกได้คร่าว ๆ เป็น 3 ประเภท คือ หนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือผลประโยชน์ตามมาหนี้ที่จำเป็นแม้จะไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือผลประโยชน์แต่ก็ทำให้ผู้ก่อหนี้สามารถผ่านพ้นเหตุการณ์สุดวิสัยเฉพาะหน้าต่าง ๆ ได้ และหนี้ที่ไม่จำเป็นและพึงระมัดระวัง

ตัวอย่างของหนี้ที่ก่อให้เกิดรายได้หรือผลประโยชน์ตามมาแก่ผู้ก่อหนี้ เช่น หนี้เงินกู้เพื่อการศึกษาซึ่งจะสร้างโอกาสในหน้าที่การงานและสร้างอนาคต หนี้เงินกู้เพื่อที่อยู่อาศัยหลักซึ่งจะสร้างความมั่นคงในระยะยาว หรือหนี้เงินกู้เพื่อการประกอบอาชีพต่าง ๆ อาทิ การกู้เพื่อซื้ออุปกรณ์สำหรับการประกอบอาชีพ เหล่านี้ล้วนแต่เป็นหนี้ที่เพิ่มโอกาสให้ผู้บริโภคอาจได้รับรายได้หรือผลประโยชน์ในอนาคตเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากหนี้ข้างต้นแล้วยังมีหนี้อีกประเภทหนึ่งซึ่งอาจจัดกลุ่มเป็นหนี้ที่จำเป็นได้แม้จะไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ ซึ่งหนี้ประเภทนี้อาจเกิดขึ้นได้จากอุบัติเหตุหรือเหตุสุดวิสัยต่าง ๆ เช่น เงินกู้เพื่อการรักษาพยาบาล เงินกู้เพื่อการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากเหตุภัยพิบัติต่าง ๆ เช่น อุทกภัย หนี้ประเภทนี้เป็นสิ่งจำเป็นเพื่อช่วยหล่อเลี้ยงสภาพคล่องทางการเงิน ให้ผู้ก่อหนี้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์เฉพาะหน้าไปก่อนและดำเนินชีวิตต่อไปได้

ส่วนหนี้ที่ไม่จำเป็นและพึงระมัดระวัง เช่น หนี้ที่เกิดจากการบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ เพื่อสร้างความสะดวกสบายหรือเพื่อความมีหน้าตาทางสังคมจนเกินกว่าความสามารถที่จะชำระหนี้นั้นได้ เป็นการใช้จ่ายตามความรู้สึกอยากมี อยากได้ อยากให้ทัดเทียมกับคนอื่น ซึ่งเป็นการบริโภคที่มีแนวโน้มที่อาจเกิดขึ้นได้ง่าย ปราศจากการไตร่ตรองและขาดการวางแผนที่ดี เมื่อการบริโภคในลักษณะนี้เกิดขึ้นผ่านบัตรเครดิตก็มีโอกาสสูงที่จะเปลี่ยนหน้าที่ของบัตรเครดิต จากเครื่องมืออำนวยความสะดวกในการใช้จ่ายแทนเงินสด เป็นเครื่องมือในการก่อภาระหนี้ที่ไม่จำเป็นได้โดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างภาระทางการเงินที่เพิ่งสูงขึ้นและการเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวได้หากไม่มีการวางแผนทางการเงินอย่างเหมาะสมและระมัดระวัง

ที่ผ่านมาทางการเองก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของบัตรเครดิตทั้งในการเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกแทนการใช้เงินสดและเครื่องมือในการก่อหนี้ จึงได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ว่าผู้ที่จะมีบัตรเครดิตได้นั้น ต้องมีรายได้ที่สม่ำเสมอและมีฐานะทางการเงินที่เพียงพอต่อการชำระหนี้ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 15,000 บาทต่อเดือน หรือมีเงินฝากหรือเงินลงทุนไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนด และกำหนดให้ผู้ใช้บัตรเครดิตต้องผ่อนชำระหนี้ค่าใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในแต่ละงวดไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของยอดเงินคงค้างจากการใช้ทั้งสิ้น เพื่อให้ผู้ใช้บัตรเครดิตตระหนักว่าตนมีภาระที่จะต้องชำระเมื่อมีการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตแล้ว จึงควรมีการวางแผนทางการเงินที่เหมาะสมและสำรองเงินเพื่อชำระหนี้คืนอย่างน้อยเดือนละ 10% ของยอดที่ตนได้ใช้จ่ายไป

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันที่มีการพัฒนาเครื่องอำนวยความสะดวกต่าง ๆ และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อแนวทางการบริโภคและการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภค เช่น กลุ่มคนที่เพิ่งเริ่มเข้าสู่ตลาดแรงงานและสามารถหารายได้ได้ด้วยตนเอง เริ่มมีอิสรภาพในการใช้เงินเพื่อบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ ทั้งแบบ on และ off-line ทำให้อาจถูกชักจูงเข้าสู่ระบบ “บริโภค นิยม” ได้ง่าย จึงจำเป็นต้องมีการวางแผนทางการเงินเพื่อรองรับการใช้จ่ายในลักษณะดังกล่าวมากขึ้น

ดังนั้น อาจถึงเวลาที่ทางการและผู้ประกอบธุรกิจต้องร่วมกันพิจารณาแนวทางการดูแลการใช้บัตรเครดิตให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้นเพื่อให้การก่อหนี้มีความเหมาะสมและอยู่ในระดับที่เหมาะสม ในขณะเดียวกันก็ ยังคงเพียงพอที่จะให้ผู้บริโภคสามารถนำบัตรเครดิตไปใช้จ่ายแทนเงินสดได้และสามารถรองรับเหตุจำเป็น ฉุกเฉินต่าง ๆ ได้ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วก็อาจทำได้หลายวิธี เช่น วงเงินที่จะก่อหนี้ควรสอดคล้องกับระดับรายได้ ที่แสดงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ใช้บัตรเครดิต โดยในต่างประเทศที่มีการกำกับดูแลการใช้บัตร เครดิตก็มีการนำเอาแนวคิดนี้มาใช้เช่นกัน เช่น ในกรณีของประเทศมาเลเซียที่มีการกำหนดปริมาณวงเงินบัตร เครดิตตามระดับรายได้ กล่าวคือ ผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่าระดับที่กำหนดจะถูกจำกัดวงเงินของบัตรให้สอดคล้องกับ ความสามารถในการชำระหนี้

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนผู้บริโภคที่จะร่วมกันตระหนักถึงปัญหาและพิจารณาแนวทางแก้ไขแบบบูรณาการ ตลอดจนเสริมสร้างความรู้และส่งเสริมให้ประชาชนมีวินัยทางการเงิน เพื่อให้การใช้บัตรเครดิตของประเทศเรานั้น บรรลุวัตถุประสงค์และหน้าที่ที่ควรจะเป็น มิให้ปัญหาความเป็นหนี้สินล้นพ้นตัวมาบั่นทอนคุณภาพชีวิตหรือฉุดรั้งศักยภาพของบุคลากรวัยทำงานที่เป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไปในอนาคต

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย